'ดิสกุล' โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตกการประเมินเลขาคุรุสภา ยกให้เป็นกรณีศึกษา ถามหาธรรมาภิบาล

23ม.ค.65 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก ชื่อ Disakul Kasemsawas ได้โพสต์ข้อความ ว่า แถลงข่าวคราวเรื่องราวให้รับรู้ตามความเป็นจริง ในการประเมินตกเลขาธิการคุรุสภา เนื้อหาดังนี้

เรียน ท่านที่เคารพนับถือ เพื่อนพ้องน้องพี่ที่เคยร่วมงานกันมา ภาคีเครือข่าย กัลยาณมิตรภาคประชาชน และสื่อมวลชน

วันนี้ผมเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ซึ่งปลดแอกจากเครื่องแบบราชการสามารถถ่ายทอดผ่านความคิดอิสระไม่มีผู้บังคับบัญชามาทำให้เกรงใจ การแสดงความคิดใดๆ เยี่ยงวิญญูชน บนความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นสิ่งที่ผมพึงปฏิบัติชี้ชัดตีแผ่เพื่อเป็นวิทยาทานให้ผู้คนได้เห็นปรากฏการณ์อันมาจากพฤติกรรมมนุษย์ที่มีชุดความคิดของผู้มีอำนาจ ดั่งนักปราชญ์ทางความคิดโบราณกล่าวว่า “ ความดีของมนุษย์จะสิ้นสุดเมื่อเป็นนักการเมือง” ในทางกลับกันผมเห็นว่า “ ความดีของมนุษย์จะเด่นชัดที่สุดเมื่อเป็นนักการเมือง” เช่นกัน แต่มักพบว่าความคิดโบราณนั้นจะตรงกว่าในเวลานี้

เรื่องที่ปรากฎเป็นข่าวว่าผมตกการประเมินเลขาธิการคุรุสภา นั้น เป็นเรื่องราวข่าวลือที่ผมทราบล่วงหน้าเมื่อมีการเปลี่ยนคณะอนุกรรมการประเมินชุดใหม่ ให้มาประเมินแล้วว่ามีธงในการประเมินให้เลขาธิการคุรุสภา และเลขาธิการ สกสค. ตก เพื่อให้บุคคลที่มีการ Name ชื่อไว้แล้วมาแทน ซึ่งช่วงเวลานั้นผมก็คิดแบบสั้นๆว่าคงเป็นไปไม่ได้ในข่าวที่ได้ทราบมา ผมก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานนำพาองค์การก้าวหน้าโดยลำดับ ปรากฎผลงานเชิงประจักษ์ที่ทุกท่านสามารถคิดตามดูได้ทั้งใน Youtube กว่า 700 เรื่องที่ผมลงมือทำเองจากการทำงานแต่ละวันทั้งประชาสัมพันธ์ใน Facebook , Line , Instagram , Tiktog และ Weblog ซึ่งใช้เวลายามค่ำคืน เป็นประจำ ด้วยชีวิตคือการทำงาน การทำงานคือการเรียนรู้ การเรียนรู้คือชีวิต หลายท่านที่ติดตามผลงานก็คงทราบดี แต่สุดท้ายก็มีปรากฏการณ์ที่ข่าวลือนั้นเป็นจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ให้เลขาธิการคุรุสภาตกการประเมิน ด้วยคะแนนเพียง 59 กว่าๆ จากเกณฑ์ร้อยละ 75 ที่บ่งบอกให้เห็นความมีเลห์เพทุบายที่จะสาธยายต่อไป ทำให้เรื่องนี้จะเป็นกรณีศึกษา ถามหาความหมายของธรรมาภิบาลที่นักการเมืองและข้าราชการบอร์ดบริหารจำนวนหนึ่ง และคณะอนุกรรมการประเมินองค์การเหล่านี้ ยังพอมีไหม? การที่ท่านพิจารณาหลักกฎหมายที่ขาดความเป็นมนุษย์ เป็นบาปบริสุทธิ์จากการออกหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดที่ไม่เป็นธรรม ซ้ำยังขาดความเที่ยงตรงเชิงสภาพ (Concurrent validity) ที่ไม่ว่าใครในโลกใบนี้มาเป็นผู้บริหารภายใต้สถานการณ์นี้ก็ถูกประเมินตกมีประตูเดียว ด้วยเป็นการประเมินหลังจากงานเสร็จสิ้นแล้ว ค่อยออกหลักเกณฑ์มาเข่นฆ่า เลขาธิการคุรุสภาเซ็นต์รับการประเมินก็ตก แม้รู้ว่าเดินทางไปสู่นรกก็เดินด้วยศักดิ์ศรีเครื่องแบบราชการที่เชื่อว่ามีการขอความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาได้ แต่ก็หาได้โอกาสรับพิจารณาไม่ ถูกตีตกไปเพราะเซ็นต์ยอมรับเกณฑ์ไปแล้ว เลขาฯ สกสค. ก็อยู่สถานะเฉกเช่นเดียวกันเห็นเกณฑ์แล้วจึง action ไม่ยอมรับเกณฑ์การประเมินอันไม่เป็นธรรม ก็จะพบชะตากรรมคือการตกอยู่เบื้องหน้า บอร์ดก็ยังคงสามารถทำให้เลิกจ้างได้จากการไม่เข้ารับการประเมินด้วยถือกฎหมายในสัญญา สุดท้ายเลขาธิการ สกสค.ยอมสละตนเองเพื่อลาออกจึงเป็นทางออกเพื่อบูชาความเป็นธรรมให้สังคมได้จดจำ

หวังว่ากรณีศึกษานี้จะตอกย้ำให้เรียนรู้เรื่องคุณธรรม ให้เห็นในด้านมืดดำ ที่ผู้บริหารระดับสูงกระทำตัวอย่างที่ไม่ดี ขอให้กรณีแบบแผนความคิดที่ใช้ประเมินเลขาธิการคุรุสภา และ เลขาธิการ สกสค. จะเป็นกรณีสุดท้ายในกระทรวงศึกษา เป็นตัวอย่างที่มีคุณค่าให้ท่านทั้งหลายที่ยังมีความดีอยู่ในหัวใจ ให้บูชาหลักวิชาการด้วยคุณธรรมที่แท้จริง

(ตอนต่อไปจะเสนอตัวอย่างการขอความเป็นธรรมที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแต่ไม่ได้รับการพิจารณา )

เพิ่มเพื่อน