'ศิริราช 'ร่วมมือดีเอ็นดีไอ พัฒนายารักษาไข้เลือดออก คาดจะทดสอบในอาสาสมัครในกลางปี 2565

25 พ.ย.65 – คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Disease initiative (DNDi) หรือ ดีเอ็นดีไอ ซึ่งเป็นสมาชิกรายแรกในแผนงานความร่วมมือแบบภาคีระดับนานาชาติ นำโดยกลุ่มประเทศที่มีโรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น โดยการอุทิศให้กับการวิจัยที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันในการค้นหาและส่งมอบแนวทางการรักษาใหม่สำหรับโรคไข้เลือดออก เพื่อการพัฒนาด้านการป้องกันและการรักษาที่สามารถเข้าถึงได้และมีประสิทธิภาพสำหรับโรคไข้เลือดออกเป็นระยะเวลาห้าปี

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไข้เลือดออกหรือไข้เดงกี่ นับเป็นหนึ่งในสิบของภัยคุกคามต่อการสาธารณสุขทั่วโลก อาการของโรคสามารถพบได้ทั้งการมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตามร่างกาย รวมถึงเจ็บกล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือกระดูก จึงทำให้ไข้เลือดออกเป็นที่รู้จักกันในบางประเทศว่า ไข้กระดูกแตก (Breakbone fever) สามารถทำให้เกิดอาการช็อค เลือดออกภายใน อวัยวะล้มเหลว และเสียชีวิตได้

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าจะมียอดผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกสูงถึง 390 ล้านรายต่อปีในมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และ 70% ของภาระโรคไข้เลือดออกทั่วโลก อยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งโรคไข้เลือดออกชนิดร้ายแรงได้กลายมาเป็นสาเหตุสำคัญ ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตในเด็กและผู้ใหญ่ในหลายๆ ประเทศ ในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโรคไข้เลือดออกหลายหมื่นรายในแต่ละปี และเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง ซึ่งจะมีการระบาดหนักในทุก ๆ 2-3 ปี ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่เกิดการระบาดของโรคอย่างกว้างขวางในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย โดยพบผู้ป่วยมากกว่า 131,000 ราย หากแต่ยังไม่มีวิธีการรักษาโดยเฉพาะ จะเป็นเหตุให้ผู้คนต้องทนทุกข์ทรมานจากการป่วยแล้ว ยังส่งผลต่อภาระที่เกินจะรับไหวทางระบบสาธารณสุขในพื้นที่เหล่านั้นอีกด้วย

“ดังนั้นการกำจัดโรคนี้ให้หมดไปถือเป็นเป้าหมายของทุกองค์กร ซึ่งทางศิริราชมีการวิจัยและพัฒนาการรักษา รวมถึงความก้าวหน้าด้านวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก แต่ยังคงให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีพอ ดังนั้นความร่วมมือกับดีเอ็นดีไอในครั้งนี้ มีเป้าประสงค์ที่นำไปสู่การค้นพบวิธีการรักษาใหม่ ที่จะช่วยเยียวยารักษาอาการของไข้เลือดออก ป้องกันไม่ให้โรคพัฒนาไปสู่ไข้เลือดออกชนิดร้ายแรง รวมถึง การสนับสนุนในการควบคุมโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยอย่างถาวร” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

รศ.ดร.พญ.ปนิษฎี อวิรุทธ์นันท์ หัวหน้าหน่วยโรคไข้เลือดออก งานกลุ่มวิจัยและเครือข่ายวิจัย ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลกล่าวเพิ่มเติมว่า ไข้เลือดออก เป็นโรคที่มีความซับซ้อน ปัจจุบันมีการรักษาตามอาการ เพราะไวรัสเดงกี่มีถึง 4 สายพันธุ์ หากเคยติดเชื้อเดงกี่สายพันธุ์ที่ 1 ร่างกาย ก็สร้างภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต แต่ไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันในอีก 3 สายพันธุ์ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความรุนแรงของโรค ดังนั้น ยาหรือวัคซีนที่ดีจะต้องป้องกันไวรัสเดงกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์ แม้ว่าจะมีวัคซีนของบริษัท ซาโนฟี่i ที่ใช้รักษาไข้เลือดออก แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้ในทุกสายพันธุ์ รวมไปถึง อาจจะสร้างความรุนแรงได้ ปัจจุบันมีการห้ามใช้ หรือให้ใช้เฉพาะกลุ่มคน ที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกี่ ซึ่งต้องอยู่ในการรักษาของแพทย์ ต่างจากมาลาเลียที่มียารักษาแล้ว

“จึงเป็นเป้าหมายหลักของการวิจัยไข้เลือดออก เพื่อต้องการแก้ปัญหาคือ การหายารักษา และการพยากรณ์โรค ที่จะต้องทำควบคู่กันไป เพราะไข้เลือดเมื่อติดเชื้อ 90% พบว่าไม่มีอาการ อีก 10% ที่พบก็จะมีอาการหลากหลาย เริ่มตั้งแต่หายเองได้ ไปจนถึงรุนแรงขั้นเสียชีวิต หากได้รับการรักษาไม่ทันทวงที เมื่อพยากรณ์โรคได้จะสามารถทำการรักษาได้อย่างใกล้ชิด”

รศ.ดร.พญ.ปนิษฎี กล่าวถึงการร่วมมือกับดีเอ็นดีไอ ที่จะมุ่งเป้าไปที่การวิจัยยารักษา โดยคาดว่าจะสำเร็จเนื่องจากมีการทำงานเกี่ยวกับไข้เลือดออกมานานกว่า 10 ปี และการทดลองยาในหลอดทดลองมาบ้างแล้ว ซึ่งในความร่วมมือครั้งนี้ ก็จะใช้ยาทั้งจากดีเอ็นดีไอ และของทางศิริราชที่ปลอดภัย และเลือกใช้ยารักษาโรคกับมนุษย์มาก่อน เช่น ยารักษาพยาธิ ยารักษามะเร็ง หรือยารักษาไวรัสอื่นๆ เป็นต้น โดยจะใช้ในลักษณะของยาผสม เพื่อส่งเสริมฤทธิ์ในการรักษา หลังจากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการทดสอบในอาสาสมัครประมาณ 10-20 คน ภายใต้โครงการ Controlled Human Infetion Model คาดว่าจะเริ่มทดสอบในกลางปีนี้ โดยจะมีการเลือกยาจากหลอดทดลองที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีประมาณ 10 ชนิด และนำไปทดสอบในอาสาสมัครที่มีการนำไวรัสไข้เลือดออกที่อ่อนฤทธิ์ฉีดเข้าไปในร่างกาย โดยไวรัสจะไม่มีความรุนแรงและอันตราย ซึ่งทีมแพทย์จะมีการติดตามจนหายดีตรวจไม่พบไวรัสในร่างกาย พร้อมกับรับวัคซีน คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 ปี เมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้นก็จะมีการคัดเลือกยาที่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด 1-2 ชนิด เพื่อไปทดสอบทางคลินิกในระยะที่สาม ในคนจำนวนที่มากขึ้นต่อไป ซึ่งต้องมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้รักษาจริงในคน

ด้านดร.เบอร์นาร์ด เปอคูว์ กรรมการบริหารดีเอ็นดีไอ (DNDi) เจนีวา กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2546 ได้เริ่มส่งมอบการรักษาใหม่ถึง 9 วิธี รวมทั้งยาสูตรผสมใหม่ ๆ สำหรับรักษาโรคลิซมาเนียแบบ kala-azar ยาต้านมาลาเรียสูตรผสมชนิดตายตัว 2 ชนิด และยาตัวใหม่อย่าง Fexinidazole ที่นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกจากการพัฒนาของดีเอ็นดีไอซึ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้ในการรักษาโรคเหงาหลับได้ทุกระยะของโรคเมื่อปี พ.ศ. 2561

“โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่เราให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะตัวเลขอุบัติการณ์ของโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น 85% นับแต่ปี พ.ศ. 2533 จนถึงปี พ.ศ. 2562 เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป การขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว และการเติบโตทางด้านประชากร ซึ่งจะทำให้เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมีการขยายตัวได้ไวขึ้น รวมถึงอัตราการรอดชีวิต การขยายพันธุ์ และการเกาะกัดของยุงที่เป็นพาหะของโรคด้วย ทั้งนี้มีการคาดการณ์ถึงจำนวนผู้ที่มีความเสี่ยงกับโรคไข้เลือดออกกว่าเกือบ 60% ของจำนวนประชากรโลกภายในปี พ.ศ. 2623” ดร.เบอร์นาร์ด กล่าว

ดร.เบอร์นาร์ด กล่าวว่า ในการร่วมมือครั้งนี้กับศิริราชจะช่วยต่อยอดการศึกษาวิจัยขั้นก่อนคลินิกในด้านวิธีการรักษาที่มีความเป็นไปได้ การทดสอบประสิทธิผลของยาชนิดเก่าที่นำมาใช้รักษาโรคใหม่ (repurposed drug) และการดำเนินการทดลองทางคลินิกของยาที่มีแนวโน้มที่ดีที่สุดในการรักษา โดยทางดีเอ็นดีไอก็ได้ช่วยสนับสนุนยาเช่นกัน ทั้งนี้ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการลงนามข้อตกลงที่คล้ายคลึงกันนี้กับประเทศอินเดีย มาเลเซียและบราซิลเพื่อพัฒนาด้านการบำบัดรักษา รวมถึงอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกา ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและกานาที่จะเริ่มการศึกษาด้านระบาดวิทยา เพื่อให้เข้าใจโรคไข้เลือดออกในพื้นที่เหล่านี้มากยิ่งขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พัฒนาสุขภาพ'วัยเก๋า' พร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ

ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ มีประชากรอายุเกิน 60 ปี เกิน 20% และคาดการณ์อีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-aged society) มีผู้สูงอายุเกิน 28%   ทั้งนี้ หากไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือจะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น ผู้ป่วยสูงวัยที่สูงขึ้น

ชวนดู “เฉลียง Rare Item RESTAGE” รอบการกุศล มอบรายได้ให้ “ศิริราช” เพื่อช่วยผู้พิการ

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีการจัดงานแถลงข่าว คอนเสิร์ตรอบการกุศล “เฉลียง Rare Item RESTAGE

ศิริราชค้นพบนวัตกรรมปลูกถ่ายเซลล์ไฟโบรบลาสต์รักษาริ้วรอยใบหน้า

9 มิ.ย.2566 - ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว“ครั้งแรกของเอเชีย ศิริราชคิดค้นนวัตกรรมการปลูกถ่ายเซลล์ไฟโบรบลาสต์ เพื่อการรักษาริ้วรอยบนใบหน้า” ณ ห้องประชุมอาคารนวมินทรบ

ดับแล้ว 1 ราย โรคไข้เลือดออก คร่าชีวิตชาวโคราช วัย 51 เผยปัจจัยเสี่ยงดื่มเหล้าประจำ

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ ซึ่งมีนายอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

'อ๊อฟ พงษ์พัฒน์' บริจาคเงินทำบุญให้ รพ.ศิริราช

เป็นความสูญเสียของครอบครัววชิรบรรจง ครั้งใหญ่เลยทีเดียว เมื่อผู้กำกับรุ่นเก๋าอย่าง อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ได้สูญเสียคุณพ่อคมสัน วชิรบรรจง ด้วยโรคชรา ซึ่งได้มีการบำเพ็ญกุศลและสวดพระอภิธรรมไปแล้ว ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ท่ามกลางเพื่อนพ้องในแวดวงการบันเทิงมาร่วมแสดงความอาลัยและแสดงความเสียใจกับครอบครัววชิรบรรจงกันเป็นจำนวนมาก