'สิงห์อาสา' พาปลูกหญ้าทะเล จันทบุรี

จังหวัดจันทบุรี  มีพื้นที่ทะเลติดกับอ่าวไทยอันอุดมสมบูรณ์  นอกจากนั้น พื้นที่จังหวัดยังขนาดตามเส้นแนวชายฝั่งทะเล และเกาะต่างๆ รวมกว่า 100 กิโลเมตร  ภายใต้ท้องทะเลอันสวยงาม อุดมไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา ปะการัง และหญ้าทะเล  ซึ่งเกิดประโยชน์มากมาย ทั้งการประมง การขนส่ง ท่องเที่ยว ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ท้องทะเลที่นี่จะมีความเสื่อมโทรมลง แนวทางการอนุรักษ์ และปกป้องทะเลจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ชาวจันทบุรีร่วมไม้ร่วมมือกันดูแลท้องทะเลแห่งนี้

ด้วยเหตุนี้ สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จึงได้ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 12 สถาบันในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ จัดทำโครงการ “สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล” ในปี 2565 ที่จะลงพื้นที่ใน 6 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี จันทบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่  และภูเก็ต โดยในครั้งที่ 3 นี้ได้เดินทางมายัง หาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี พร้อมกับดำเนินโครงการฯร่วมกับคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และกลุ่มประมงพื้นบ้านเจ้าหลาว จึงได้ร่วมพลังกันเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชน

การดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของหญ้าทะเล จึงได้มีการจัดกิจกรรมปลูกหญ้าทะเลจำนวน 20,000 ต้น เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่ แหล่งว่างไข่ และอาหารของสัตว์น้ำ  อีกทั้งมีส่วนช่วยดักตะกอน ลดความเร็วของกระแสน้ำและคลื่น ช่วยลดการพังทลายของชายฝั่ง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของ พะยูน เตาตนุ รวมไปถึงกิจกรรมเพาะชำกล้าพันธุ์ไม้ป่าชายเลน 500 ต้น และปล่อยปลากะพงขาวจำนวน 4,000 ตัวด้วย

อรรถสิทธิ์ พรหมสุข ผู้จัดการฝ่ายงานกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า สิงห์อาสาได้ลงพื้นที่ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากว่า 10 ปี โดยเฉพาะในการช่วยเหลือเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ และก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพราะปัญหาทางทะเลเป็นเรื่องใกล้ตัวซึ่งหลายคนมองข้าม อาทิ การทิ้งขยะ หรือการอนุรักษ์ระบบนิเวศใต้ทะเล พร้อมกับพันธมิตรเครือข่ายสถาบันการศึกษาทั้ง 12 สถาบันในภาคตะวันออกและภาคใต้ เพื่อช่วยวิเคราะห์และหาแนวทางในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างตรงจุด

ในปีนี้สิงห์อาสา  ได้ดำเนินงานใน 2 พื้นที่แล้วคือ จ.กระบี่ ที่หาดนพรัตน์ ซึ่งก็ได้มีการปลูกหญ้าทะเล เพื่อเป็นแหล่งอาหารของพะยูน และที่จ.ชลบุรี ที่ป่าชายเลน ตรงจุดหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง โดยปลูกป่าชายเลนและปล่อยสัตว์น้ำ ซึ่งครั้งที่ 3 ได้เลือกมาที่จ.จันทบุรี เพราะป็นจังหวัดที่ติดกับอ่าวไทย มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง การทำลายบุกรุกถือครองพื้นที่ป่าชายเลน และปัญหาขยะทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงการเสื่อมโทรมของแนวปะการังและแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นผลจากการทำกิจกรรมของต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การปล่อยน้ำเสีย การทำประมงที่ใช้เครื่องมือทำลายระบบนิเวศ รวมถึงมลพิษจากขยะ ผลกระทบจากกิจกรรมการท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง เป็นต้น

“จากการร่วมวิเคราะห์ถึงปัญหาในพื้นที่ร่วมกับม.บูรพา วิทยาเขตจันทบุรี  ได้เห็นความสำคัญของหญ้าทะเล ต้องมีการปลูกเพิ่ม เพราะถือว่าเป็นแหล่งว่างไข่และอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำน้อยใหญ่ อีกทั้งยังได้มีการดึงเยาวชนในพื้นที่ในการเข้ามามีส่วนร่วม ในการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงทั้งเรื่องระบบนิเวศป่าชายเลน และการปลูกหญ้าทะเล เพื่อเป็นการส่งต่อองค์ความรู้ต่อไปยังเพื่อนๆในโรงเรียน” อรรถสิทธิ์ กล่าว

ดร.สราวุธ ศิริวงศ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เขตจันทบุรี อธิบายถึงพื้นที่ทางทะเล จ.จันทบุรี ว่าตลอดชายฝั่งจันทบุรีเป็นพื้นที่ราบมีภูเขาล้อมรอบ และที่นี่ยังมีพื้นที่ป่าชายเลนเยอะมาก ซึ่งปัจจุบันนับว่าทะเลที่จันทบุรีมีความอุดมสมบูรณ์ดีขึ้นจากแต่ก่อนที่ไม่มีป่า ผู้คนที่ยึดอาชีพเลี้ยงกุ้งต่างละเลยให้ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม แต่เดี๋ยวนี้การเลี้ยงกุ้งมีมาตรฐาน ชาวบ้านทำตามหลักที่กรมประมงได้ให้แนวทาง มีการบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงทะเล จึงทำให้น้ำเสียลดลง ร่วมถึงการอนุรักษ์ป่าชายเลน และปลากระพงขาว ซึ่งเป็นปลาน้ำกร่อยที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีความทนทานต่อความเค็ม

ดร.สราวุธ กล่าวต่อว่า นับเป็นความโชคดีที่บริเวณโดยรอบทะเล หรือในจังหวัดไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ไม่มีแหล่งมลพิษ ปะการังและสัตว์ทะเลจึงมีความอุดมสมบูรณ์ เห็นได้จากเรือประมงที่มีจำนวนหลายลำ แต่ทั้งนี้ทะเลที่นี่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาอีกอย่างคือ ภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน เพราะเมื่อน้ำทะเลร้อนก็จะส่งผลกระทบให้ปะการังฟอกขาว โดยระยะหลังมานี้มีการฟอกขาวทุกปี ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จากแต่ก่อนจะพบการทิ้งช่วงของปะการังที่ฟอกขาว 3 -5 ปีต่อครั้ง ทำให้ะการังน้ำตื้นฟอกขาวไปกว่า 80% แต่นับว่ายังโชคดีที่อุณภูมิของน้ำลดลงทำให้ปะการังไม่ตาย เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

“จันทบุรี ถือเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นที่อาศัยของลูกปู ลูกปลาจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการดูแลและปลูกหญ้าทะเลเพิ่มขึ้น  สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการตระหนักในการบริโภคอย่างยั่งยืน คือ ลดการจับปูไข่ หรือปูที่มีขนาดเล็ก เพื่อให้พวกมันได้มีโอกาสเติบโตและขยายพันธุ์” ดร.สราวุธ ทิ้งท้าย 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คู่รักใจบุญ 'นุ่น-ต๊อด' ควงคู่ทอดกฐิน

ถือเป็นคู่รักใจบุญ สำหรับนางเอกหน้าหวาน นุ่น วรนุช กับสามีนักธุรกิจ ต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี ที่ไม่ว่าจะปีไหนๆ ก็ควงคู่ทอดกฐิน ทำบุญ มอบทุนการศึกษาให้กับโรงเรียนในต่างจังหวัด ล่าสุดนี้ก็เช่นกัน แม้คิวงานของสาวนุ่นจะวุ่นเอามากๆ และงานบริหารของหนุ่มต๊อดก็แน่นสุดๆ แต่ทั้งสองยังมีเวลาควงคู่กันไปทำบุญทอดกฐิน ที่วัดเขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

ปลูกหญ้าทะเล แหล่งอาหารพะยูน ถวายเป็นพระราชกุศล สมเด็จพระพันปีหลวง

สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดตรัง จัดกิจกรรมปลูกและฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลเพื่อเป็นอาหารของพะยูน

ธรรมชาติสมบูรณ์ ‘พะยูน’ แวะกินหญ้าทะเล บริเวณเขาแบนะช่วงน้ำขึ้น

อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม - Hat Chao Mai National Park โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า พะยูนแวะมากินหญ้าทะเลบริเวณเขาแบนะช่วงเวลาน้ำขึ้น