ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยรวม 15 จังหวัด ปัจจุบันยังมีปัญหาอุทกภัยอยู่ 10 จังหวัด ซึ่งหน่วยงานต่างๆ กำลังเร่งคลี่คลายสถานการณ์ ได้แก่ จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สำหรับในภาคตะวันออกและภาคตะวันตกที่มีปริมาณฝนตกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ อ.บ่อไร่ อ.เขาสมิง อ.แหลมงอบ จ.ตราด อ.มะขาม อ.ขลุง จ.จันทบุรี อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี อ.ไทรโยค อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ปัจจุบันระดับน้ำท่วมในบางพื้นที่ยังทรงตัวแต่มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ ก่อนหน้านี้ พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเผชิญน้ำท่วมและเข้าสู่ภาวะปกติในหลายพื้นที่
แม้การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วง 10 วันข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ 1-10 สิงหาคม 2567 พบว่า ปริมาณฝนในหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะเริ่มลดลง แต่พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมยังคงต้องติดตามน้ำอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเร่งพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนักหลังจากนี้ในเดือนกันยายน
มีความพยายามยกระดับการแก้ปัญหาน้ำทั้งในสภาวะปกติและสภาวะวิกฤตของประเทศ เพื่อลดความเสียหายและความเดือดร้อนของชุมชนที่ประสบน้ำท่วม ด้วยการผลักดันนำงานวิจัยและนวัตกรรมทีทันสมัยเข้ามาใช้บริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในระดับพื้นที่ผ่านบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่” เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในระดับพื้นที่ ระหว่างกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อวันก่อน
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะลานีญา ช่วงต้นปี 67 ฝนน้อย และฝนจะตกมากในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน คาดการณ์สภาพอากาศหลังวันที่ 15 ส.ค. ฝนระลอกใหม่จะมา มีพายุไม่ต่ำกว่า 2 ลูก โดยฝนจะตกหนักภาคเหนือ ภาคใต้ คาดว่า ปลายเดือนกันยายน 67 ปริมาณน้ำที่นครสวรรค์จะขึ้นอยู่ที่ระดับ 3,000-3,500 ลูกบาศก์เมตร จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ติดแม่น้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำที่เตรียมไว้มีโอกาสได้ใช้แน่นอน ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องใช้ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างรับน้ำหลาก อย่างทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งท่าวุ้ง ช่วยตัดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง รวมถึงเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย รวมถึงใช้โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้ไหลลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้นเป็นเครื่องมือช่วยบรรเทาน้ำท่วมในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑลได้เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม จ.ปทุมธานี เสี่ยงจากปัญหาคันกั้นนำที่สร้างตั้งแต่ปี 54 พัง ระยะทางยาว 50 เมตร ทำให้เกิดน้ำท่วมเฉพาะกิจ ต้องซ่อมด่วนก่อนฝนใหญ่มา ในภาวะฉุกเฉินต้องใช้ทุ่งรับน้ำทั้ง 11 ทุ่ง ให้มากที่สุด ต้องเตรียมพร้อมตลอดเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้ มีแนวโน้มลานีญาเป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะกลับมาแล้งอีกในปี 2567 การบริหารปริมาณน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำในท้องถิ่น ต้องวางแผนล่วงหน้า และควรประเมินสถานการณ์น้ำตามตำแหน่งของพื้นที่
รศ.ดร.สุจริตกล่าวว่าปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับลุ่มน้ำ ระดับจังหวัด และระดับชุมชน ผลงานวิจัยจะส่งเสริมกลุ่มผู้ใช้งาน อบต. มีความสามารถวางแผนและมีข้อมูลในพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงกับแผนน้ำจังหวัดจากเดิมที่แยกกันอยู่ จาก MOU นี้ จะส่งทีมคลีนิก อว. ช่วยบริหารจัดการน้ำ ช่วยพัฒนาคนเกษตรกร องค์กรผู้ใช้น้ำ จนท.อปท. ชลประทาน ใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์สถานการณ์น้ำ พัฒนาระบบสารสนเทศน้ำชุมชนเพื่อจัดการน้ำ คลีนิกน้ำทำแผนน้ำชุมชนเชื่อมโยงกับแผนน้ำจังหวัด แล้วยังมีคลีนิกเกษตร ซึ่งทดลองแผนงานในระดับพื้นที่ เกิดรูปธรรมแก้น้ำท่วม น้ำแล้ง และสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร นำร่องที่ จ.ขอนแก่น จ.กำแพงเพชร มท. สนใจแนวทางนี้ ขยายผล กำหนด 10 จังหวัด แต่ละจังหวัดครอบคลุมพื้นที่ อบต. ร้อยละ 50 โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ ม.ขอนแก่น ดูแลภาคอีสาน ม.สงขลานครินทร์ดูแลภาคใต้ ม.เกษตรศาสตร์ ดูแลภาคกลาง ช่วยตำบลทำแผนน้ำ
ในส่วนการประยุกต์ใช้งานวิจัยบรรเทาน้ำท่วม นักวิชาการด้านน้ำระบุเป็นการใช้เอไอวิเคราะห์ข้อมูล คาดการณ์สถานการณ์น้ำ การพัฒนาแอปพลิเคชันมือถือช่วยแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมน้ำแล้ง โดรนสำรวจและติดตามสถานการณ์น้ำ และพัฒนาระบบจัดการน้ำอัจฉริยะ ปัจจุบันคาดการณ์น้ำล่วงหน้า 3 วัน มีความแม่นยำ 80% ขณะนี้กำลังวิจัยคาดการณ์น้ำล่วงหน้า 6 เดือนล่วงหน้า และถูกต้องมากกว่าเดิม ส่วนปัญหาตกค้างแผนท้องถิ่น การของบประมาณยังไม่สะดวก MOU นี้ อว.จะช่วยอุดช่องว่าง ภายใน 3 ปี จะผลักดันให้แผนท้องถิ่น แผนลุ่มน้ำ แผนภูมิภาคไปในทิศทางเดียวกัน หลังจากนี้อาจจะโอนงานให้ มท. ดำเนินงาน หรือมหาวิทยาลัยในพื้นที่ตั้งเป็นหน่วยงาน หรือคลีนิก สนับสนุนวิชาการจัดการน้ำในจังหวัดแบบถาวรต่อไป
การปรับตัวรับสถานการณ์น้ำฝน ฝนมามากหรือมาน้อย เป็นแนวทางอยู่รอดระดับพื้นที่ นายวัลลภ คันศร ประธานกลุ่มบริหารจัดการน้ำท่อทองแดง จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า ในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะมีการเพาะปลูกข้าวจำนวนมาก ใช้น้ำมากในภาคเกษตร เกิดปัญหาการแย่งน้ำเป็นปัญหาซ้ำซาก เมื่อชุมชนร่วมบริหารจัดการน้ำด้วยกลไกคลีนิกของ อว. และ สกสว. มีการวิเคราะห์ข้อมูล สำรวจพื้นที่ มีระบบสารสนเทศน้ำชุมชน ใช้แอปเก็บข้อมูลความชื้น น้ำฝนในพื้นที่ จัดทำแผนน้ำชุมชน มีการขุดสระเก็บกักน้ำเป็นแหล่งน้ำสำรอง เสนอท้องถิ่นสนับสนุน นำไปสู่การลดนาข้าวในพื้นที่ลง ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชชนิดอื่นแทน ปลูกมะนาวทดแทน มี 2 สายพันธุ์ แป้นลำไพร เปลือกบาง มีกลิ่นหอม เหมาะกับการทำอาหารในครัวเรือน ส่วนแป้นพิจิตร เหมาะกับการขนส่งระยะทางไกล
“ การบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกษตรกรมีน้ำเพาะปลูกช่วงขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น ความเสียหายก็ลดลง ปัจจุบันเราปลูกมะนาวเป็นอันดับสองรองจากราชบุรี ส่งออกมะนาว 20 ตันต่อวัน กระจายสินค้าไปเชียงใหม่ พิษณุโลก ตลาดสี่มุมเมือง มีการต่อยอดแปรรูปผลผลิตเป็นไซรับน้ำผึ้งมะนาว เพิ่มมูลค่าช่วงหน้าฝนที่มะนาวราคาถูก อย่างไรก็ตาม ระดับพื้นที่ยังต้องนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนช่องทางการตลาดและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ “ ประธานกลุ่มบริหารจัดการน้ำฯ ย้ำการจัดการน้ำจะช่วยลดภัยพิบัติ ลดความเสียหาย เพิ่มรายได้ให้ชาวบ้าน ลดรายจ่าย
หลังการลงนามความร่วมมือ ทั้ง มท.และ อว. จะเร่งเดินหน้าแผนงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่” เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในระดับพื้นที่ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ร่วมกับการใช้ระบบและองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม สู่การบริหารจัดการน้ำและยกระดับอาชีพให้กับชุมชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศปช. พร้อมรับมือฝนถล่มภาคใต้ เร่งขุดลอกวัชพืช ระดมทีมช่างช่วยฟื้นฟูบ้านเรือน
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า วันที่ 12 – 16 ธ.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น
DITTO มอบเงินช่วยเหลือน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ นายชัยทัด กุลโชควณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
12 ธ.ค. เปิดเดินรถเส้นทางรถไฟสายใต้ กทม.-สุไหงโกลก หลังน้ำท่วมหนัก
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)
แม่ทัพทัพภาคที่ 4 มอบถุงยังชีพให้ชาวปัตตานีที่ได้รับความเดือนร้อนจากอุทกภัย
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมด้วย พลเอก มณี จันทร์ทิพย์ ที่ปรึกษา
ยิปซัมตราช้าง ชวนฟื้นฟูบ้าน หลังน้ำท่วมอย่างมืออาชีพ
เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วม หลังน้ำท่วมที่ผ่านพ้นไป สิ่งที่เจ้าของบ้านต้องรับมือไม่เพียงแต่การทำความสะอาดเท่านั้น แต่ภารกิจสำคัญคือการฟื้นฟูบ้านให้กลับมาน่าอยู่และแข็งแรงกว่าเดิม
ศาลคดีทุจริตฯ เลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้อง '9 บิ๊ก มท.' ปมเขากระโดง
ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เลื่อนนัดฟังคำสั่งชั้นตรวจฟ้องคดี 9 บิ๊ก มท. ทุจริตที่ดินเขากระโดง 28 ม.ค. 68 เหตุสั่งเเก้ฟ้อง ‘ณฐพร โตประยูร’ 2 ประเด็น