เปิดวิชั่นแก้ปัญหาโรคระบาด ไอเดียใครโดนใจชาวกทม.

คนเมืองจำนวนมากเผชิญกับโรคภัยรุมเร้า และวิกฤตโควิด-19 เป็นจังหวัดที่ติดอันดับพบผู้ติดเชื้อสูงสุด  การจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าฯ กทม พ.ศ.2565 นโยบายและวิสัยทัศน์ด้านสาธารณสุขจึงถูกถามหาและเป็นที่จับตามาก

เป็นที่มาของการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครแต่ละคน ประกาศนโยบายด้านสาธารณสุข ในงานเวทีประชันวิสัยทัศน์เลือกตั้งผู้ว่าฯ แก้ปัญหาคนกรุง ครั้งที่ 2  : กทม.โรคระบาด เมืองระบม จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ PPTV HD 36  ที่ม.ธรรมศาสตร์

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ มีผู้สมัคร 31 คน การเลือกตั้งวันที่ 22 พ.ค.2565 มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 4.3 ล้านคน แบ่งเป็นผู้หญิง 2.3 ล้านคน ผู้ชาย 1.9 ล้านคน และคนรุ่นใหม่ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกกว่า 4 แสนคน

ภายในงานมีการฉายภาพสถานการณ์สุขภาพและระบบสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ต่อว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.  ในหลายประเด็น ดังนี้ กทม.รองรับคนป่วยมากมาย ผลศึกษาพบชาวกทม.โรคอื้อ ทั้งโรคทางเดินหายใจ โรคไม่ติดต่อ และโรคติดต่อรุนแรง ทำให้ความต้องการใช้บริการสาธารณสุขใน กทม.เพิ่มขึ้น เกิดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง

สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เป็นกรณีศึกษาและทดสอบระบบสาธารณสุขของ กทม.  มีทั้งความโกลาหล รอเตียง ล้มตายริมถนน มีปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข  การส่งต่อในโรงพยาบาล กทม.จะต้องพัฒนาระบบสาธารณสุขเชื่อมต่อกันเพื่อรอดภาวะวิกฤตให้ได้  เมื่อโรคโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นระบบสาธารณสุขต้องดีกว่าเดิม  รวมถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนแออัดที่ขึ้นทะเบียนใน กทม. และชุมชนแออัดที่ไม่ขึ้นทะเบียนต้องดูแลอย่างเท่าเทียม

ด้านผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีผู้สูงอายุกว่า 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขอให้มีการแก้ปัญหาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการมีงานทำ พัฒนาทักษะอาชีพ รวมถึงจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเอื้อคนสูงอายุออกมาใช้ชีวิตทำงาน  

เป็นข้อเสนอที่นักวิชาการและภาคประชาชนได้สะท้อนจากความต้องการ และหยุดปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับการตอบรับจากเหล่าผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนมีข้อเสนอมากมาย

เริ่มที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายที่เน้น  คือ  “หมอมี สาธารณสุขดี ใกล้บ้าน” ที่เป็นการยกระดับศูนย์สาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง  รวมทั้งศูนย์หน่วยย่อย 78  แห่ง  ให้เป็นศูนย์การแพทย์ทันสมัย มีแพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ สามารถผ่าตัดเล็กและฟอกไตได้ ไม่ต้องส่งต่อ สิทธิการมีสุขภาพดีถ้วนหน้าควรเป็นสวัสดิการพื้นฐานคนกรุง ตนเจอผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตต่อหน้าต่อตามาแล้ว ต้องส่งเสริมให้ อสส.มีความรู้เชื่อมโยงกับศูนย์หลักได้ นโยบายไวไฟฟรี 1.5 แสนจุด เพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขออนไลน์ได้

ส่วนปัญหาสุขภาพจิตที่คนกรุงเผชิญ วัยรุ่นเครียด มีโรคซึมเศร้า ยังขาดศูนย์ให้คำปรึกษา   ศูนย์ 69 แห่ง ต้องมีนักจิตบำบัด ประชาชนนัดหมายใช้บริการได้   ตนประกาศสู้กับฝุ่นพิษ PM 2.5  ลดปัญหาเจ็บป่วยระบบทางเดินหายใจ ยังมีเรื่องคุณภาพน้ำที่มีน้ำนิ่ง น้ำเน่า แหล่งรวมของเชื้อโรค แก๊สพิษ จนถึงน้ำทะเลหนุนทำให้น้ำประปากร่อยส่งผลต่อสุขภาพ 

“ การป้องกันการเกิดโรคสำคัญไม่แพ้การรักษาโรค มีนโยบายยกระดับการตรวจสุขภาพฟรีให้ดีกว่าเดิม เพิ่มการตรวจโรคเกี่ยวกับสมอง หัวใจ และหลอดเลือด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เมื่อรู้ก่อน รักษาง่าย รักษาได้ พร้อมกับระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุ ระเบียบ กทม.ที่เป็นอุปสรรค ต้องเปลี่ยนทั้งหมด ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. สิ่งแรกที่จะทำจะต่อสู้กับภัยโควิดให้มากกว่านี้ นอกจากนี้ สนับสนุนจ้างงานผู้สูงอายุโดยกองทุนจ้างงานชุมชน ทั้งเรื่องความสะอาดหรือการดูแลเด็กเล็กในชุมชน ” ศ.ดร.สุชัชวีร์ยืนยันจุดแข็งมีเป้าหมายชัดสร้างระบบสาธารณสุข

ด้าน นายสกลธี ภัททิยกุล  ผู้สมัครอิสระ กล่าวว่า กรุงเทพฯ เมืองใหญ่มีปัญหามากมายกระทบสุขภาพประชาชน รถติด สุขภาพจิตเสีย คนทำงานเป็นออฟฟิศซินโดรม  บริโภคอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ  ศูนย์สุขภาพ 69 ศูนย์ กระจายทั่วชุมชน แต่ข้อเสียไม่สามารถรักษาโรคซับซ้อน จะต้องติดอาวุธให้เป็นสมาร์ทคลีนิกให้บริการทางแพทย์ผ่านเทเลเมดิซีนแก่ชุมชน  จัดหมอ ส่งยาถึงบ้าน สามารถเรียกรถจากศูนย์มารับไป รพ.  

“ ช่วงวิกฤตโควิด กทม.มีข้อจำกัดราชการที่เป็นอุปสรรค  ติดขัดเรื่องบุคลากรทำงานไม่ทันต่อสถานการณ์ ทำให้ที่ผ่านมาได้เห็นความร่วมมือของภาคประชาชน ถ้าเป็นผู้ว่าฯ จะมีแผนเผชิญเหตุ และตั้งคณะกรรมการร่วมกันรัฐ เอกชน ภาคประชาชน วางแผนงานร่วมกัน การทำงานแก้ปัญหาในพื้นที่จะลื่นไหลไร้รอยต่อในทุกเขต เป็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางด้วย กทม.มีบทเรียนแล้ว อนาคตอาจมีโรคระบาดใหม่ที่พัฒนารุนแรงมากกว่านี้ ต้องเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุข “  นายสกลธี กล่าว

ส่วน น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทยกล่าวว่า นโยบายแรกด้านสาธารณสุขที่จะทำ   กทม.มี รพ.ในสังกัด 11 แห่ง  แต่ในพื้นที่ กทม.มี รพ.ทั้งหมด  150 แห่ง ต้องเริ่มจากลดความเหลื่อมล้ำ นำคนเข้าระบบรักษาพยาบาลให้มากที่สุด  ในภาวะโรคระบาดตนสนับสนุนมูลนิธิ ”เส้นด้าย” ช่วยผู้ป่วยโควิด กรุงเทพฯ ติดอันดับคนตายมากที่สุด  กทม.ต้องทำหน้าที่ผู้ประสานงาน หากเป็นผู้ว่าฯ จะทำแผนเผชิญเหตุด้วยตัวเอง ดูแลการนำเข้าวัคซีน กทม.ต้องเป็นเจ้าภาพ  อนาคตของ กทม. ต้องสร้างความมั่นใจ เอาชีวิตคนป่วยเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่กฎระเบียบราชการ

ในด้านผู้สูงอายุเสนอนโยบายบำนาญประชาชน ปีละ 30,000 บาท สร้างความมั่นคงให้ผู้สูงวัยและให้ความสำคัญกับการดูแลป้องกันโรคไม่ใช่รักษาจะนำวิทยาการสมัยใหม่ให้ผู้สูงอายุออกกำลังกาย  รวมถึงทำสวนสาธารณะทุกมุมเมืองของ กทม. จะทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่เคยทำ รองรับเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

ด้าน ร.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง กล่าวว่า ตอนเป็นผู้ว่าฯ ทำศูนย์พักคอย 70 จุด รพ.สนามสีเหลือง สีแดง ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รอยต่อรัฐกับประชาชนลดไปมาก ทำรถฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ 6 คัน ไม่ได้ใช้งบราชการ และรถเก็บตัวอย่างโควิดเคลื่อนที่ ตนเป็นทั้งนักปฏิบัติและนักประสาน  เปิดกว้างทางความคิด ถ้ากลับมาใหม่ ขอให้มั่นใจไม่นิ่งนอนใจเรื่องนี้

นโยบายรับสังคมสูงวัย การรักษาพยาบาลสำคัญสุด เน้นทำได้ ทำจริง และทำเร็ว สมัยเป็นผู้ว่าฯ ขยาย รพ.สี่มุมเมือง  ลดการเดินทางไกล ศูนย์สุขภาพชุมชน 69 แห่ง จะขยายศักยภาพเป็น รพ.ประจำเขต   รวมถึงผลักดันให้ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นกว่า 17%  เข้าถึงบริการ ตนทำนโยบายดูแลผู้สูงอายุถึงบ้าน ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด บริการการเจาะเลือดสะดวกรวดเร็ว จัดทำระบบเทเลมิดิซีนจนสำเร็จ  นอกจากนี้  ให้ความสำคัญแพทย์เฉพาะทาง หุ่นยนต์ผ่าตัด และจะขยายเครือข่ายระบบรักษาพยาบาลให้ทั่วถึง ถ้าได้โอกาสอีกครั้งจะทำงานต่อ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล  กล่าวว่าโควิดที่ผ่านมาพบความเหลื่อมล้ำ ชุมชนไม่ขึ้นทะเบียนได้รับการดูแลที่แตกต่างจากภาครัฐ ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะให้สวัสดิการกับชุมชนเหล่านี้  จะเพิ่มคลีนิกชุมชนอบอุ่นจาก 200 กว่าแห่ง เป็น  300 แห่ง เพื่อให้คนกรุงได้เข้าถึงสิทธิบัตรทอง ไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อยากิน เสนอขยายสิทธิผู้ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนปอดอักเสบให้ผู้สูงอายุ 60-64 ปี  ลดอัตราผู้สูงอายุป่วยติดเตียงจากโรคหลอดเลือดสมอง   จะทำระบบเทเลเมดิซีนในการติดตามผู้สูงอายุ  นัดคนไข้ ปรึกษาแพทย์  และจะกระจายงบประมาณให้ 50 เขต เตรียมศูนย์กายภาพรองรับ เพิ่มสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ 60  ปีขึ้นไปได้เงิน 1,000 บาทต่อเดือน 

อีกนโยบาย นายวิโรจน์ เสนอว่า  ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. มีเป้าหมายสำคัญเปิดเมือง เปิดหน้ากาก เปิดการใช้ชีวิต การค้าขายของเมืองให้คนกรุงภายใน 90 วัน  เราฉีดวัคซีนกัน 3-4เข็ม เพื่อใส่หน้ากากคุยกัน ทั้งที่มหานครต่างๆ ของโลกผ่อนคลาย และไม่ได้หมายความว่าติดน้อยลง แต่เพราะมั่นใจระบบรักษา ปัจจุบันฉีดวัคซีนเข็ม 3 แล้ว 67%  ถ้าตั้งเป้าฉีดให้ได้เท่าเข็ม 2 คือ  80%  กระจายจุดฉีดวันละ 50,000 เข็ม เพียง 60 วัน จะฉีดได้ 8 ล้านเข็ม สร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยว เครื่องมือต่อมาใช้งบ  2,500 ล้าน จัดหายาจำเป็น งบนี้เท่ากับงบทำโครงการช่องนนทรี 2 คลอง และคลองโอ่งอ่าง 1 คลอง  คุ้มแลกกับการเปิดเมือง นอกจากนี้ ระบบหาเตียง การส่งต่อผู้ป่วย ไม่คิดถึงการตาย เน้นการรักษา กทม.ต้องเปิดเมือง อังกฤษเปิดได้ ลอนดอนเปิดได้ แล้วทำไมกรุงเทพฯ จะเปิดไม่ได้  

ส่วนนางสาวรสนา โตสิตระกูลผู้สมัครอิสระเป็นผู้หญิงคนเดียวในเวทีกล่าวว่า คนที่อยู่ในชุมชนแออัดเป็นฐานของปิรามิดเศรษฐกิจของมหานครกรุงเทพฯ ไม่ด้อยคุณค่า และไม่ใช่ช่วยเพราะสงเคราะห์ แต่เป็นสิทธิพื้นฐาน จะแสกนสภาพปัญหา 50 เขตใน กทม. พัฒนาเครือข่ายภาคประชาชนควบคู่อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. หมื่นกว่าคน จะขยายเวลาเปิดบริการศูนย์ 69 แห่ง รักษาฟรี  24 ชม.

“ ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.จะส่งเสริมฟ้าทะลายโจรและยาไทยฟรีทุกบ้าน ลดเงินไหลออก ลดภาระหมอพยาบาล จะกระจายงบ 50 ล้านบาท 50 เขต ให้คนในพื้นที่ตัดสินใจทำโครงการ ด้านผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระสังคม  เสนอบำนาญ  3,000 บาททุกเดือน  เป็นระบบสังคมสงเคราะห์ ช่วยเหลือให้พึ่งพาตัวเองได้ ผู้สูงอายุใน กทม. 1.1 ล้านคน หากตัดที่มีบำนาญ จะมี 5 แสนคนที่ขาดแคลน   ปัจจุบันมีย่าเลี้ยงเดี่ยว คนกลุ่มนี้ควรได้รับเงินสนับสนุนเพื่อทำมาค้าขาย ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียงเป็นกลุ่มเปราะบางมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม และหยุดคอร์รัปชั่น   “ รสนา ย้ำนโยบาย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต. ยกคำร้องเอาผิด 'สส.กาญจนบุรี ภูมิใจไทย' โพสต์เฟซบุ๊กแฝงหาเสียงเลือกตั้ง

เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่คำวินิจฉัยกรณีมีคำสั่งยกคำร้องในคดีที่กล่าวหาว่า นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ส.ส.กาญจนบุรี พรรคภูมิใจไทย (ผู้ถูกร้อง) กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 70

ก้าวไกลสะดุ้ง 'เศรษฐา' ลั่นไม่มีเวลาแล้วสำหรับมือใหม่ พรรคเพื่อไทยพร้อมทุกมิติ

นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยมาเต็มทุกคน ทั้งน.ส.แพทองธาร ตน และกรรมการ

สาวกส้มพรึ่บ ฟังปราศรัยหาเสียง พรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกลจัดเวทีปราศรัยใหญ่ปิดท้ายก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. นี้ โดยได้เปิประตูให้ประชาชนืยอยเข้าไปจับจองที่นั่งตั้งแต่เวลา 15:30 น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน คนรุ่นใหม่ รวมถึงคนวัยทำงาน