สภาที่ 3 ชำแหละปัญหาค่าไฟแพง รัฐบาลปล่อยให้เอกชนยึดครองผูกขาดการผลิตพลังงาน

3 พ.ย.2565 - ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และสภาที่ 3 จัดเวทีเสวนา "ปัญหาค่าไฟแพง กับการจัดการพลังงานที่เป็นธรรมและยั่งยืน"

ขณะที่นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ในฐานะผู้จัดเวทีเสวนา กล่าวว่า ตนไม่เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี จะออกนโยบายอะไรเพื่อประชาชนแต่ออกเพื่อกลุ่มทุนมาโดยตลอด โดยล่าสุดคือนโยบายขายแผ่นดิน สำหรับเวทีนี้ไม่ได้ตำหนิพ่อค้าในการแสวงหาอำนาจในทางธุรกิจ แต่ตำหนิรัฐที่สมยอมและไม่ทำหน้าที่เพื่อดูแลประชาชน โดยเฉพาะประเด็นพลังงานและการไฟฟ้า พ่อค้าไม่ผิดที่จะแสวงหากำไรสูงสุด แต่ต้องคำนึงถึงคุณธรรมด้วย

นายอดุลย์ กล่าวว่า ประเด็นคือผลกระทบของการผูกขาดการไฟฟ้า ทำให้ประชาชนใช้ไฟแพงขึ้น จึงไม่ทราบว่าหน่วยงานของรัฐที่ผลิตไฟฟ้าทำอะไรอยู่ และรัฐบาลกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญที่ให้เอกชนเข้ามาควบคุมการผลิตและผูกขาดในสาธารณูปโภคซึ่งเป็นบริการสาธารณะ การที่นายกฯ ใช้อำนาจที่บิดเบือนทำให้ประชาชนเดือดร้อนลำบากเรื่องพลังงานจำนวนมาก เป็นการเล่นแร่แปรธาตุของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่ดูแลเรื่องพลังงาน ทำให้ประเทศไทยเสียหายเอาเปรียบประชาชน

"เราต้องเสียเงินให้กับความฉ้อฉลของอำนาจรัฐ ไปอุ้มเอกชน ตอนนี้บอกตรงๆว่าลำพังแค่ผูกขาด ก็เหลือจะทนแล้ว แต่ตอนนี้ทราบว่าเข้าไปก้าวก่ายในการบริหารประเทศ เข้าไปควบคุมเกือบทุกองค์กร รวมทั้งสื่อบางสื่อด้วย สังเกตหรือไม่ หากพูดถึงเรื่องพลังงาน จะไม่มีสื่อไหนมาทำข่าวเลย เลยเถิดไปกว่านั้น คือภาคประชาชน ภาคเอกชน บางส่วนที่เคยต่อสู้คัดค้านเรื่องพลังงาน วันนี้ก็ปิดปากเงียบเหมือนกัน นี่คือความเสียหายของบ้านเมือง" นายอดุลย์ กล่าว

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า ใน 8 ปีที่ผ่านมามีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะการคืนท่อแก๊สของ ปตท. ให้แก่กระทรวงการคลัง ซึ่งมีมูลค่ากว่า 32,000 ล้านบาท ทำให้รัฐเสียประโยชน์มหาศาล เพราะปตท.ยังครอบครองท่อแก๊สอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่าย้อนหลัง ในช่วง คสช. 4 ปีแรกไม่ได้ทำอะไรเลย แม้ สตง.จะแจ้งเรื่องไป และกฤษฎีกาตีความแล้วก็ตาม ทั้งที่ทำได้ง่ายมากเพียงแค่มีมติออกมา จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ทำอะไร จนประชาชนต้องไปยื่นฟ้องศาลทุจริตฯ

มล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ท่อแก๊สเป็นจุดสำคัญของการทำธุรกิจพลังงานและปัจจุบันนำส่งพลังงานผ่านท่อแก๊สยังไม่เคยลดราคาและนำมาสู่ปัญหาค่าไฟแพงขึ้นด้วย ประเทศไทยจัดการพลังงานแตกต่างจากมาเลเซียที่ไม่ยอมแปรรูป ทำให้บริษัทพลังงานแห่งชาติของมาเลเซียนำกำไรเข้ารัฐจำนวนมาก และราคาน้ำมันมาเลเซียถูกมาก โดยไม่ต้องเอาภาษีประชาชนไปช่วย

มล.กรณ์กสิวัฒน์ กล่าวว่า น้ำมันประเทศไทยดีที่สุดในโลก ระดับเวิลด์คลาสใต้ทะเลแอ่งปัตตานี แต่มีปัญหาการจัดการทรัพยากร ในมาเลเซียใช้ทรัพยากรในการจัดการความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ใช่ภาษีประชาชนแจกมาม่าอาหารแห้งแก้ไขปัญหาไม่เพียงพอ ประเทศไทยสามารถใช้ทรัพยากรมาแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้ แต่ดันทำระบบสัมปทานให้ต่างชาติได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว ขณะที่มาเลเซียเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต กฎหมายไทยแย่กว่าอังกฤษเสียอีก

“พล.อ.เปรม เคยแก้กฎหมายว่า ขุดเจอพลังงานเมื่อไหร่รัฐต้องร่วมทุนโดยรัฐไม่ต้องใช้เงินและมีสิทธิ์ซึ้นพลังงานทั้งหมด แต่ปัจจุบันตกกับบริษัทที่แปรรูปไปแล้ว ประเทศไทยไม่ได้อะไรเลย ตนอยากสรุปว่า ทรัพย์สมบัติของแผ่นดินที่พ่อให้มา ไม่เคยส่งถึงมือลูกของเราเลย” มล.กรณ์กสิวัฒน์ กล่าว

มล.กรณ์กสิวัฒน์ กล่าวว่า กล่าวต่อว่าเรื่องน่าเศร้าคือรัฐบาล คสช.ที่เข้ามาช่วงหมดอายุสัมปทานของกลุ่มทุนพลังงานพอดี และจะต้องสร้างบริษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมา แต่น่าเสียใจที่สุดที่เรื่องนี้ก็ตกไป สุดท้ายเอกชนก็เสียงดังกว่าลูกของแผ่นดิน ปัญหาน้ำแพงจึงใช้ต้นทุนทิพย์เรื่อยมาถึงปัจจุบัน สร้างลาภลอยให้เอกชนซึ่งแก้ง่ายมาก คือการใช้กฎหมายก่อนการปฏิวัติ สำหรับค่าไฟฟ้าแพงส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนแก๊ส ที่รัฐสามารถแก้ไขจัดการได้

นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ตนได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงการคลังให้ประเมินการทำงานของรัฐวิสาหกิจ พอมีการตรวจสอบว่าทำไม กฟผ.ผลิตไฟฟ้าน้อยลงและปล่อยให้เอกชนผูกขาดไฟฟ้ามากขึ้น จนนำเรื่องไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีการปล่อยให้เอกชนผูกขาดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

ตนได้สอบถามผู้ว่า กฟผ.ในเรื่องนี้ เขาตอบว่าน่าจะผิดกฎหมาย แต่ กฟผ.ถูกลดอำนาจลงและขึ้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ถูกสั่งให้ลดกำลังการผลิต แต่ กฟผ.ไม่ได้จะลดเอง แต่เมื่อ กฟผ.ปกป้องตนเองไม่ได้เนื่องจากเป็นลูกน้องรัฐมนตรีพลังงาน ตนจึงออกมาฟ้องร้องเอง รวมถึงร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน

“ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานแก้ไขให้ถูกต้อง โดยให้ กฟผ.กลับมาผลิตไฟฟ้าให้ได้มากกว่า 51% เพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายก็เงียบไป จนผู้ตรวจการแผ่นดินต้องส่งเรื่องไปคณะรัฐมนตรี แต่อำนาจก็มีเพียงเท่านี้ ตนจึงต้องยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อ ตอนนี้กฟผ.มีกำลังการผลิตเพียงแค่ 32% ที่เหลือเป็นของกลุ่มทุนเอกชนผลิต ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้เอกชนเข้าผูกขาดโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของชาติ” นายสุทธิพรกล่าว

นายศิริชัย ไม้งาม อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พลังงานไฟฟ้าควรแสวงหาเพื่อประชาชน เราค้นพบก๊าซธรรมชาติใต้ดินในปี 2523 และนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าครั้งแรกที่โรงไฟฟ้าบางประกง ผ่านการขายของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยผ่านบริษัทสามทหารซึ่งเป็นของรัฐ แต่แทนที่จะทำให้ราคาถูกลงเพราะการผูกขาดการส่งแก๊สของ ปตท. ให้กฟผ. มาโดยตลอดซึ่งเป็นของรัฐทั้งคู่ แต่ต่อมาปี 2535 มีการเปิดรับการซื้อไฟฟ้าของเอกชนเป็นครั้งแรก และมีการแปรรูป ปตท.ให้เป็นเอกชนในเวลาต่อมา เช่นเดียวกับการพยายามแปรรูป กฟผ.แต่ไม่สำเร็จ

นายศิริชัย กล่าวว่า ทุกวันนี้ กฟผ.รับซื้อแก๊สจากปตท. เพื่อการผลิตและรับซื้อไฟจากเอกชนโดยตรง ราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้น ราคาไฟฟ้าก็สูงขึ้นตาม กฟผ.เป็นองค์กรที่ต้องแบกรับความเสียหายกว่าแสนล้านบาท แต่เอกชนที่เข้ามาถือหุ้นการผลิตไฟฟ้าเอกชนร่ำรวยขึ้นมหาศาลโดยไม่ต้องแบกรับต้นทุนอะไรเลย จนร่ำรวยหลายแสนล้านบาทอย่างรวดเร็ว

“ในอดีตช่วงมีการพยายามแปรรูปการณ์ไฟฟ้านั้น ก็ถกเถียงกันว่า ถ้าผูกขาดโดยรัฐ โดย กฟผ. ประชาชนได้ประโยชน์ แต่ถ้าแปรรูปให้เอกชนกลุ่มทุนพลังงานก็ได้ประโยชน์ อยากให้จับตาทิศทางพลังงานไทยในอนาคตที่พรรคการเมืองจะใช้หาเสียงกันในการเลือกตั้งครั้งหน้า กลุ่มทุนพลังงานจะเข้ามามีบทบาทต่อการเลือกตั้งและกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศด้านพลังงานหรือไม่” นายศิริชัย กล่าว

นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าปัญหาภาพรวมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยปัญหาความไม่เท่าเทียม ถ้าจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้นต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและกระจายอำนาจลงไปสู่คนรากหญ้า ให้เขามีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของเขาเอง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘พีระพันธุ์’ สั่งปลัดพลังงาน จับตาผลกระทบด้านพลังงาน สงคราม ’อิหร่าน-อิสราเอล’

รมว.พลังงานเผยสั่งการให้ท่านปลัดฯและหน่วยงานทุกหน่วยของกระทรวงพลังงานติดตามรายงานสถานการณ์ คาดการณ์ผลกระทบและแนวทางในการรับมือด้านพลังงานตลอดเวลาเช่นกัน

กกพ. ตรึงค่าเอฟที 39.72 สตางค์/หน่วย ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย 4.18 บาท/หน่วย ถึง ส.ค. 67

กกพ. ประกาศตรึงค่าเอฟที 39.72 สตางค์/หน่วย ขณะที่ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย จนถึงเดือน ส.ค. 67

'คำนูณ' จองกฐิน ปมพิรุธ เจรจาผลประโยชน์ปิโตรเลียมก่อนเรื่องเขตแดน

“คำนูณ” ย้ำ ‘ซักฟอก ม.153’ ปมเขตแดนไทย-กัมพูชา เพื่อปกป้องผลประโยชน์ประเทศ ยัน ไม่ได้โจมตีเป็นรายบุคคล พิรุธเปิดฉากเจรจาเรื่องผลประโยชน์จากปิโตรเลียมก่อนเรื่องเขตแดน

โออาร์-บางจากขึ้นราคาเบนซิน 40 สตางค์/ลิตร

บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) และ บมจ.บางจาก ได้มีการประกาศปรับราคาขายปลีกน้ำมันราคาเบนซินและกลุ่มแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดขึ้น 40 สตางค์/ลิตร