ผลพวงเลื่อนโหวตนายกฯ กระทบเศรษฐกิจ นักลงทุนรอความชัดเจน

แฟ้มภาพ

ดร.อนุสรณ์ ระบุ ปัจจัยเสี่ยงการเมืองเพิ่มหลังเลื่อนเลือกนายกรัฐมนตรี กระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นักลงทุนรอดูความชัดเจนทางการเมือง 

6 ส.ค.2566 – รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง  เปิดเผยว่า ปัญหาความอ่อนแอของธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางของสหรัฐอเมริกานั้นไม่มีผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของโลกและของไทย ส่วนใหญ่เป็นธนาคารในระดับท้องถิ่นระดับมลรัฐเท่านั้น เพราะธนาคารที่ล้มลงมีความเสี่ยงเชิงระบบต่อระบบการเงินโลกน้อยมาก ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ล้วนมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง จึงไม่มีอะไรที่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด

รศ. ดร. อนุสรณ์ ระบุว่า ขณะเดียวกัน คาดว่า สถาบันการเงินเหล่านี้จะมีผลการดำเนินการดีขึ้นอีกในช่วงครึ่งปีหลัง จากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อเพิ่มขึ้นและมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นอีกด้วย    คาดแบงก์พาณิชย์ไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนสูงขึ้น ควรต้องเพิ่มสัดส่วน หนี้ภาคธุรกิจให้สูงกว่าภาคครัวเรือน เนื่องจากหนี้ธุรกิจจะเป็นหนี้เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนที่ทำให้เกิดรายได้ในอนาคต

“ส่วนหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้เพื่อการบริโภคหรือผ่อนชำระบ้าน การปรับสัดส่วนหนี้เอกชนต่อหนี้ครัวเรือนให้สูงขึ้น จะทำให้สถานการณ์หนี้สินของประเทศโดยรวมดีขึ้น เพราะหนี้จากการลงทุนของภาคเอกชนหมายถึงการจ้างงานและรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต ทางการควรทยอยลดการค้ำประกันหนี้ที่ก่อโดยรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพต่ำ ดึงให้อัตราดอกเบี้ยให้กลับมาอยู่ในระดับปรกติ เพื่อลดการสะสมภาวะเสี่ยงภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) เพิ่มขึ้นในอนาคต อาจทำให้กลไกตลาดในระบบการเงินด้อยประสิทธิภาพลง การทำธุรกรรมทางการเงิน การลงทุน ที่ผู้ให้บริการ (สถาบันการเงิน) และผู้ใช้บริการ (ลูกค้าสถาบันการเงิน) มีข้อมูลไม่เท่ากันหรือมีความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) อยู่แล้ว ก็จะมีการใช้ข้อมูลเพื่อเอาเปรียบกันเพิ่มขึ้นในอนาคต” รศ. ดร. อนุสรณ์ ระบุ

รศ. ดร. อนุสรณ์ ระบุด้วยว่า  การสร้างความได้เปรียบในลักษณะ Adverse Selection จากความไม่สมมาตรของข้อมูลจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบในการทำธุรกรรมตลอดเวลา ผู้ฝากเงิน นักลงทุน การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ของธนาคารก็จะมีความระมัดระวังน้อยลง เพราะมีความคาดหวังหากเกิดปัญหาขึ้นก็จะมีรัฐบาล หรือ ธนาคารกลาง เข้ามาประกันความเสี่ยงให้ทั้งหมด ก็จะทำให้คนเหล่านี้ทำอะไรเสี่ยงๆเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงๆ หากไม่มีปัญหาก็รับผลตอบแทนสูงๆไป หากมีปัญหาก็จะนำเงินสาธารณะมาอุ้มเอาไว้ทุกครั้ง วิกฤติการเงินก็จะเกิดขึ้นได้อีกเป็นระยะๆตามวงรอบของพฤติกรรมเหล่านี้

รศ. ดร. อนุสรณ์ ระบุ  การมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากและลดความคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทตั้งแต่สิงหาคม พ.ศ. 2564  ผู้ฝากเงินต่ำกว่า 1 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 98.03 ของผู้ฝากทั้งระบบ การลดความคุ้มครองดังกล่าวยังคงครอบคลุมผู้ฝากเงินส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด มีผู้ฝากเงินเพียง 2% ที่ต้องรับผิดชอบเงินฝากเกิน 1 ล้านบาทเองหากธนาคารเกิดล้มละลายในอนาคต การดำเนินการเช่นนี้จะช่วยลดภาระทางการคลังและภาษีของประชาชนหากเกิดวิกฤติการเงินในอนาคต จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม ลดปัญหาภาวะเสี่ยงทางศีลธรรม (Moral Hazard) ที่มักเกิดขึ้นเสมอในระบบการเงิน รวมทั้ง ลดความเสียหายทางการคลังจากการชดเชยผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ในระบบสถาบันการเงิน

ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงการเมืองเพิ่มขึ้นหลังเลื่อนเลือกนายกรัฐมนตรี กระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลาดการเงินผันผวน หลายบริษัททบทวนแผนระดมทุนขายหุ้นไอพีโอออกไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล บางบริษัทวางแผนเลื่อนยาวไปจนถึงปี พ.ศ. 2568 นอกจากนี้ การแทรกแซงการเลือกนายกรัฐมนตรีของวุฒิสภา และ องค์กรอิสระ ยังทำให้เกิดความสับสนในหมู่นักลงทุนต่างชาติและสถาบันการลงทุนระหว่างประเทศ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วกว่า 55,000 ล้านบาทหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ตอนนี้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ภาคการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนขนาดใหญ่ยังรอดูความชัดเจนทางการเมือง.         

            

เพิ่มเพื่อน