ไม่ทิ้งเด็กเดินทางผิด ไว้ข้างหลัง!  ผุดศูนย์เรียนรู้ ทักษะอาชีพ เปิดประตูชีวิตใหม่

“กสศ”.เปิดงานแนวรุกทางการศึกษา  ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จับมือกรมพินิจฯ  เจาะกลุ่มเด็กในกระบวนการยุติธรรม  สร้างโอกาสทางการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่   ผุดศูนย์เรียนรู้ในศูนย์ฝึกอบรมฯ ทั่วประเทศ เผยตัวเลขเด็กกลับไปทำผิดซ้ำลดลงต่อเนื่อง

10 ก.ย.2566 –  กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มูลนิธิปัญญากัลป์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ร่วมกับภาคีเครือข่ายการศึกษากว่า 20 องค์กร จัดงาน “โอกาส Open House สร้างโอกาสการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่” ผลักดันวาระการศึกษาทางเลือกในระบบการศึกษาที่ไม่ทิ้งเด็กและเยาวชนคนใดไว้ข้างหลัง (Education For All) ระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน 2566 ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ กรุงเทพฯ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า จากข้อมูลกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนชี้ว่า เกินกว่าครึ่งของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรือพ่อแม่แยกกันอยู่ ส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจนและไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องสร้างโอกาสให้เขาแทนที่จะตัดสินพวกเขา เด็กและเยาวชนทุกคนมีศักยภาพ ไม่ว่าจะกำลังเผชิญกับปัญหาใดก็ตาม ระบบการศึกษาต้องสร้างโอกาสและไม่ละทิ้งใครไว้ข้างหลัง กสศ. จึงริเริ่มโครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางเลือกสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมร่วมกับกรมพินิจฯ มูลนิธิปัญญากัลป์ มูลนิธิซีวายเอฟ และเครือข่ายศูนย์การเรียนอีก 6 แห่ง เพื่อเป็นโอกาสใหม่ทางการศึกษาเพื่อเปลี่ยนชีวิต คืนคนคุณภาพสู่สังคม เรามุ่งให้การศึกษาเป็นทั้งเกราะป้องกัน และเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม

“เด็กและเยาวชนเหล่านี้ เป็นกลุ่มที่ถูกปฏิเสธจากชั้นเรียนในระบบโรงเรียน ส่วนใหญ่ออกกลางคัน ในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และจำนวนมากไม่สามารถกลับมาเรียนต่อได้ทั้งในระบบโรงเรียนและ กศน. หรือ สกร. ตามกฎหมายใหม่ เป็นกลุ่มที่มีทักษะพิเศษในการเรียนแบบปฏิบัติการ กสศ. จึงสนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาทางเลือก รูปแบบของศูนย์การเรียนรู้ ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน รวมถึงสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน”   ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุ

ศ.ดร.สมพงษ์  ระบุด้วยว่า ศูนย์การเรียนรู้ เป็นการจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น สามารถเทียบโอนประสบการณ์เพื่อแปลงเป็นหน่วยกิต และเข้าศึกษาต่อเนื่องตามระดับชั้นที่เรียนค้างไว้ สามารถออกแบบหลักสูตร กิจกรรมการเรียนการสอนตามความสนใจและความถนัดของผู้เรียนรายคน เรียนรู้แบบโครงงานฐานอาชีพ และเรียนจากประสบการณ์ตรง (Experiential Learning) ร่วมกับสถานประกอบการ ได้ฝึกทักษะวิชาชีพตามความสนใจและความถนัด รวมถึงพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ ควบคู่กับการส่งเสริมทักษะชีวิตให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตในสังคม  

นอกจากนี้กำลังพัฒนาให้เกิด ‘ชุมชนโอบอุ้มคุ้มครองเด็ก’ ทำงานร่วมกันระหว่าง นักสังคมสงเคราห์ ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ ไม่กระทำผิดซ้ำอีก

“การจะทำให้การศึกษาทะลุฝ่ากำแพงหนาทึบและปิดสนิทเข้าไปได้ เป็นโจทย์ที่ยากด้วยข้อจำกัดนานัปการ ดังนั้นต้องมีความร่วมมือ มีนวัตกรรมที่เหมาะสมและทรงพลัง เพื่อให้การศึกษาเข้าไปทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงเด็ก ๆ ให้กลับมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ” และไม่ใช่แค่การศึกษา แต่ต้องมีกระบวนการที่ครอบคลุมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ทักษะวิชาการ เพื่อรู้เท่าทันความซับซ้อนในสังคม มีการดูแลติดตามต่อเนื่องหลังกลับออกไปใช้ชีวิต เพื่อให้มั่นใจว่าน้อง ๆ ทุกคน จะพบที่ทางของตนในสังคม ไม่เวียนซ้ำกลับไปที่จุดเดิมอีก” ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุ

ด้าน พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระบุว่า กรมพินิจฯ ได้กำหนดนโยบายให้กับทุกศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนทุกแห่งทั่วประเทศ สามารถจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบท ตัวตน และความสามารถของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมตามแนวทางของการจัดการศึกษาทางเลือก การจัดการศึกษาบนฐานของกิจกรรมหรือกลุ่มประสบการณ์ โดยดำเนินการคู่ขนานไปกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบอื่น ๆ และเปลี่ยนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเป็น Community of Learning  ใช้โอกาสของวันเวลาภายในศูนย์ฝึกฯ เป็นพื้นที่ฝึกกระบวนการเปลี่ยนวิธีคิด วิธีตัดสินใจแบบใหม่

“บุลคากรของเราเปลี่ยนบทบาทครู เป็น ‘โค้ชชีวิต’ ที่เชื่อมั่นในตัวเด็ก ให้โอกาสพวกเขาปล่อยพลังและความสามารถในตนเองออกมา และคอยเติม เสริม แก้ไข ในสิ่งที่เด็กและเยาวชนต้องการ เรียกว่าเป็นทั้งครูต่อยอด ครูเสริมพลัง ครูนักจัดการเรียนรู้  ขณะที่ผู้บริหารสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ที่สามารถออกแบบการศึกษาให้เหมาะสมและมองภาพรวมการจัดการศึกษาได้ในทุกมิติครูเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน บรรยาการเปลี่ยน” อธิบดีกรมพินิจฯ ระบุ   

อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวว่า จากการทำงานมีเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จำนวน 1,958 คน ได้กลับสู่การศึกษาอีกครั้งด้วยการศึกษาทางเลือกในรูปแบบศูนย์การเรียน ที่ร่วมกับ กสศ. และสามารถเรียนจบการศึกษาแล้ว 685 คน ขณะที่ตัวเลขการกระทำผิดซ้ำในปีแรกของเด็กและเยาวชนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 22.33 ในปี 2563 ร้อยละ 19.66 ในปี 2564 และร้อยละ 15.78 ในปี 2565 โดยสาเหตุของการกระทำผิดซ้ำมาจากการคบเพื่อน คึกคะนอง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และครอบครัว

“กสศ.ได้เห็นความสำคัญและศักยภาพเด็กกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม จึงได้ออกแบบการศึกษาที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ให้เป็นคนที่มีคุณภาพและเป็นบุคลากรที่ดี กรมพินิจได้ร่วมโครงการฯนี้กับกสศ.มาประมาณ2-3ปี เห็นได้ชัดว่าตัวเลขการกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนลดลง ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมพินิจไม่เคยทำตัวเลขลดลงได้มาเกือบ 10 ปีแล้ว” อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าว

อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวด้วยว่า รอยต่อของเด็กที่พ้นจากสถานพินิจเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการให้โอกาสทางการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญและถือเป็นประวัติศาตร์ของกรมพินิจเหมือนกัน ส่วนกลไกที่ทำให้เด็กเป็นบุคลากรที่ดีไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร การส่งเสริมและให้โอกาสทางการศึกษาเพื่อให้เขามีวุฒิภาวะและสามารถนำความรู้ไปสร้างอาชีพเพื่อดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า 2 สิ่งนี้จะช่วยแก้ปัญหาแรกของเด็กกลุ่มนี้คือปัญหาครอบครัวได้ เนื่องจากการได้รับโอกาสทางการศึกษาและมีงานทำที่ดีเขาจะเติบโตไปมีครอบครัวที่มีคุณภาพทำให้ตัดวังวนเดิมได้ หรือเด็กไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำได้ในระดับหนึ่ง 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า  ภายในงาน “โอกาส Open House สร้างโอกาสการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่” มีนิทรรศการร้านไอศกรีมโอกาสรวมมิตร ถ่ายทอดเรื่องราวทางเลือกการศึกษาของเยาวชนผ่านรสชาติของไอศกรีม, การแข่งขันทักษะดนตรี DJOP Music Contest 2023, กิจกรรมห้องเปิดโอกาส จัด Talk Event หัวข้อ Wayfinder : เส้นทาง-โอกาส-จุดเปลี่ยน และ เรียนผ่านหนัง ชวนดูหนังตั้งวงคุยกับ กสศ. และ doc club และมีกิจกรรมการแข่งขันทักษะความสามารถของเด็กและเยาวชน Rise and Shine ปล่อยของประลองอาชีพ เป็นมหกรรมความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ร่วมผลักดันวาระการศึกษาทางเลือกในระบบการศึกษาที่ไม่ทิ้งเด็กและเยาวชนคนใดไว้ข้างหลัง (Education For All).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ธงทอง' แจงแล้ว หลังโพสต์คนในกระบวนการยุติธรรมบ่นทำคดีตามธง

นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่เคยโพสเฟซบุ๊คเมือปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่าคนในกระบวนการยุติธรรมบ่นว่าต้องทำคดีตามธง ซึ่งขัดหลักการหลักกฎหมาย และส่งผลเสียระยะยาว ว่า เป็นเรื่องของคนบ่นจุกจิกจู้จี้ทั้งหลาย

'สุทิน' ควง 'เจ้าสัวธนินท์' สักขีพยาน MOU กลาโหมจับมือซีพี

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหม กับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด