
17 ก.ย.2566-นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “ความอับจนของการศึกษา: ความรู้กับปัญญา” ระบุว่า มีนักศึกษาไทยจำนวนมากที่เรียนจบทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศในระดับปริญญาตรี โทและเอกด้านวิศวกรรมชลประทาน ป่าไม้และเศรษฐศาสตร์ แต่ประเทศไทยกลับประสบปัญหาจากภัยน้ำท่วมและน้ำแล้งเป็นประจำทุกปี และเราไม่สามารถเอาชนะปัญหายากๆ ของประเทศได้เช่น ปัญหาคนอยู่กับป่า ปัญหากรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินของเกษตรกร ซึ่งใจกลางของปัญหาทั้งหมดคือปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย ผมคิดว่าผู้ที่ศึกษาในระดับสูงจากสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น ส่วนใหญ่แล้วเป็นการไปรับ “ความรู้” (knowledge) ของประเทศนั้นมาเป็นหลัก ไม่ได้ไปเรียนรู้การสร้างเครื่องมือที่จะเข้าถึง “ปัญญา” (wisdom) ของตะวันตกแต่อย่างใด
กระบวนการเรียนรู้ที่ผมได้จากอาจารย์ที่ปรึกษาของผมในระหว่างศึกษาระดับปริญญาเอก คือการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ควรเป็นการศึกษา ค้นคว้า และเข้าใจในระดับ “ความรู้” (knowledge) ของเรื่องนั้นๆ เท่านั้น แต่ควรทำความเข้าใจกับตัว “ความรู้” นั้นจนถึงในระดับที่เรียกกันว่า ”ปัญญา” (wisdom) ของเรื่องที่ศึกษาให้ได้ ความรู้ที่ได้มาจากการศึกษา ค้นคว้า และการทำวิจัยนั้น แม้จะสำคัญมากมายเพียงไรก็ตาม แต่ “ความรู้” ที่ได้มาส่วนใหญ่จะใช้ได้ดีกับในประเทศที่เราไปศึกษาเท่านั้น แต่ความรู้ดังกล่าวไม่แน่เสมอไปว่าจะนำมาใช้ในการอธิบาย ทำความเข้าใจและสามารถแก้ปัญหาของประเทศไทยได้จริง
การศึกษาในระดับปริญญาเอกในต่างประเทศส่วนใหญ่แล้วเป็นการศึกษาแนวคิดและทฤษฎีของประเทศตะวันตก แนวคิดและทฤษฎีเหล่านั้นส่วนใหญ่สร้างขึ้นจากบริบท (context) ของสังคมตะวันตก และใช้วิธีการหาความรู้ด้วยการใช้ตรรกะของการทำวิจัย (Research Methods) แบบตะวันตก แต่เครื่องมือดังกล่าวเมื่อนำกลับมาใช้กับสังคมไทยและสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยอาจจะเหมาะหรือไม่เหมาะพอดีกันกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยก็ได้ ซึ่งความรู้และทฤษฎีระดับที่ศึกษามานั้นมักไม่เพียงพอ และไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาของไทยเช่นปัญหาการแก้ ปัญหาความยากจนของคนไทยได้จริง
หากต้องการแก้ปัญหาตามความเป็นจริงของสังคมไทยได้ จำเป็นต้อง ศึกษาและค้นคว้าความรู้ในเรื่องนั้น จนถึงขั้นที่เรียกว่าเข้าถึง “ปัญญา” แบบตะวันตกได้ สำหรับผมแล้วกระบวนการ “การเข้าถึง” ความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ตาม จนสามารถก้าวข้ามความรู้นั้น จนถึงขั้น “ปัญญา” ของเรื่องดังกล่าวได้ มีความสำคัญและเป็นประโยชน์กว่าตัวความรู้ในเรื่องดังกล่าวมาก
ตัวอย่างเช่น การไปเรียนเรื่องการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในประเทศตะวันตกเป็นความรู้ที่สำคัญและเป็นประโยชน์ แต่ความรู้ดังกล่าวเมื่อนำกลับมาใช้กับประเทศไทยก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งให้แก่เกษตรกรได้จริง หากต้องการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวได้จำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เรื่องการกักเก็บน้ำเอาไว้ให้ได้จนถึงขั้นที่เกิดปัญญาในเรื่องน้ำ เพราะความรู้ในทุกๆเรื่องนั้นมีลักษณะร่วมกันประการหนึ่งคือมีลักษณะสถิตย์ (static) ส่วนปัญญาเป็นความรู้ที่มีลักษณะของความเป็นพลวัต (dynamic) คือมีความยืดหยุ่น มีการปรับตัว และมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มันจึงใกล้เคียงกับ “ความจริง” (truth) ตามธรรมชาติมากกว่า ความรู้
ปัญญาของตะวันตกแตกต่างจากปัญญาตะวันออก (ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ปัญญาตะวันออกเกิดจากการ “ภาวนา” ด้วยการใช้สมาธิและวิปัสสนาจนกระทั่งเกิดปัญญา ปัญญาแบบนี้เกิดจากการรู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องของ “ทุกข์” เช่น การรู้ว่าความตายเป็นสิ่งธรรมดาและเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่ปัญญาของตะวันตกเป็นการสร้างเครื่องมือเพื่อให้สามารถเข้าถึงความรู้ในระดับสูง ซึ่งเป็นเรื่องทางโลก ปัญญาของตะวันตกแตกต่างและไม่ใช่สิ่งเดียวกับปัญญาตะวันออก (ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ปัญญาแบบตะวันตกเป็นการคิดแบบหาเหตุและผลซึ่งมีรากฐานมาจากตรรกะของนักปรัชญากรีกโบราณคือเพลโตและอริสโตเติล หลักคิดแบบนี้เน้นการแบ่งขั้วอย่างชัดเจนของทุกสิ่งในโลกคือขาวกับดำ ซึ่งได้รับการอธิบายต่อยอดเรื่องกฎของการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของทุกสรรพสิ่งในสังคมที่เรียกว่า “วิธีการวิภาษวิธี” (dialect) โดยนักปรัชญาชาวเยอรมันคนสำคัญคือเฮเกล (Hegel)
ปัญญาของตะวันตกเกิดจากรากฐานของปรัชญาและวิธีคิดที่มีมาแต่โบราณ เป็นการค้นหาความรู้ในระดับสูง จุดอ่อนเรื่องความรู้ของตะวันตกคือเน้นว่ามีคำตอบที่แน่นอนตายตัวเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นที่มาจากตรรกะแบบของอริสโตเติล และมีอิทธิพลต่อระบบการศึกษาของตะวันตกและของไทยในปัจจุบัน ปัญญาแบบตะวันออก (พุทธและเต๋า) ไม่ได้แบ่งขั้วทางความคิดออกเป็นขาวกับดำ แต่ยังมีพื้นที่ตรงกลางระหว่างขาวกับดำด้วย ดังนั้นคำตอบที่เป็นปัญญาของตะวันออกจึงมีความหลากหลายมากกว่าหนึ่ง
แนวคิดแบบตะวันออกมองว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ในขณะที่แนวคิดแบบตะวันตกมุ่งเอาประโยชน์จากธรรมชาติหรือมุ่งเอาชนะธรรมชาติ แนวคิดแบบตะวันตกไม่ได้มีความต้องการที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีดุลยภาพเหมือนตะวันออก
สำหรับผมแล้ว อะไรคือความแตกต่างระหว่างการใช้ความรู้กับปัญญา? “อะไรที่เป็นไปได้ แล้วทำได้สำเร็จเรียกว่าความรู้ แต่อะไรที่เป็นไปไม่ได้ แล้วทำให้เกิดความสำเร็จได้ เรียกว่าปัญญา” จุดอ่อนของการศึกษาแบบตะวันตกเป็นการเน้นไปแก้ปัญหาที่จุดที่เป็นปัญหาเป็นหลัก ไม่ใช่เป็นการดับปัญหาหรือขจัดสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา นอกจากนี้จุดอ่อนอีกประการหนึ่งของการศึกษาแบบตะวันตกคือมีลักษณะที่แยกส่วน ไม่ใช่การศึกษาแบบบูรณาการ ตัวอย่างเช่น การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำเอาไว้ แต่วิศวกรจะไม่ได้เรียนและไม่ได้คิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างน้ำกับเกษตรกร หรือน้ำกับคน หรือน้ำกับชุมชนแต่อย่างใด รวมทั้งการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อนยังไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ความยากจนให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
การใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจให้แก่สังคม แต่ผู้วางแผนกลับไม่ได้คิดเรื่องคุณภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนที่จะได้จากโครงการขนาดใหญ่เหล่านั้น การขาดจริยธรรมในการทำงานแบบนี้จะช่วยให้สังคมน่าอยู่ได้อย่างไร การแก้ปัญหาน้ำแล้งให้แก่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไทย โดยหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผู้บริหารและคนทำใช้แต่แนวคิด ทฤษฎี ประสบการณ์และความรู้จากตะวันตก ซึ่งไม่ได้เข้ากับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยไปเสียทุกพื้นที่ รัฐบาลใช้เวลากว่า 60 ปีและใช้งบประมาณเป็นล้านๆ บาท โดยเฉพาะรัฐบาลที่แล้วที่ใช้งบประมาณเป็นจำนวนหลายแสนล้านบาท ในการกักเก็บน้ำ และแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง แต่ก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย คงไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่สามารถตอบได้ว่าเมื่อไหร่ที่เกษตรกรทุกครัวเรือนในประเทศไทยจะสามารถมีน้ำใช้เพื่อทำการเกษตร อุปโภคและบริโภคกันอย่างพอเพียงได้ตลอดทั้งปี
แต่ฝายแกนดินซีเมนต์ซึ่งเป็นการจัดการเรื่องแหล่งน้ำขนาดเล็กที่เหมาะสมกับชุมชน ตำบลและอำเภอ สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้งให้แก่เกษตรกรได้ดีกว่า เพราะวิศวกรที่คิดเรื่องนี้ไม่ได้ใช้แต่ความรู้ที่ได้มาจากตะวันตก แต่ที่สำคัญคือใช้ปัญญาในการแก้จุดอ่อนของฝายทุกประเภทในประเทศไทยได้สำเร็จ จึงช่วยให้เกษตรกรมีน้ำเพื่อการผลิต อุปโภคและบริโภคได้ตลอดทั้งปี คนที่คิดเรื่องแก้ปัญหาความทุกข์ให้แก่คนจำนวนมากได้เป็นคนที่มีจริยธรรมในการทำงานอย่างแท้จริง หากรัฐบาลชุดใหม่มีเป้าหมายและความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในเรื่องการจัดหาแหล่งน้ำให้แก่เกษตรกรได้ใช้กับทุกครัวเรือน โครงการบริหารแหล่งน้ำขนาดเล็กแบบนี้เท่านั้นจึงจะมีความเป็นไปได้อย่างแท้จริง
เช่นเดียวกับนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลจีนที่ดึงเอากลุ่มนักธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วประเทศมาเป็นหุ้นส่วนกับรัฐบาลและเกษตรกรที่ยากจนในการทำงานร่วมกัน ถ้าไม่มีกลุ่มนักธุรกิจเข้าร่วมในการแก้ปัญหาความยากจน การแก้ปัญหาความยากจนจะไม่สำเร็จ เพราะลำพังสมาชิกพรรคและข้าราชการประจำไม่มีความสามารถพอที่จะสร้างธุรกิจให้แก่เกษตรกรได้ เพราะข้าราชการไม่มีทุน ไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่มีตลาด และไม่สามารถการสร้างความมั่งคั่ง (wealth) ให้แก่เกษตรกรและเกษตรกรที่ยากจนได้
ในประเทศทุนนิยม และประเทศไทย นักธุรกิจและข้าราชการสามารถจัดหาทุน เทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลาดและความมั่งคั่งให้แก่ภาคการเกษตรได้ แต่แก้จนให้แก่เกษตรกรและครอบครัวไม่ได้ เพราะเป็นการใช้ “ความรู้” แบบตะวันตก แต่รัฐบาล ข้าราชการ และนักธุรกิจไม่ได้ใช้ “ปัญญา” ในการแก้ความยากจนให้แก่เกษตรกร หากเราต้องการแก้ปัญหาใหญ่ๆ ของประเทศที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีรัฐบาลไหนกล้ารับปากว่าจะแก้ปัญหานี้ได้ เช่นการแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และการแก้ปัญหาความยากจนให้แก่เกษตรกร การใช้แต่ความรู้ของตะวันตกจะไม่ช่วยให้เราแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ มีความจำเป็นต้องใช้ปัญญาแบบตะวันออกเข้ามาใช้ในการทำงานประกอบกันไปด้วย
รูปแบบหรือโมเดลการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง และการแก้ปัญหาความยากจนในทุกๆ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และในแต่ละภาคจำเป็นต้อง “สร้างโมเดลที่มีลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละท้องถิ่น” ไม่ควรใช้โมเดลเดียวหรือทฤษฎีเดียวในการแก้ปัญหากับทุกครัวเรือนและทุกพื้นที่ของประเทศไทยเหมือนเช่นที่ผ่านมาในอดีต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตือนสติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราดีกว่าตั้ง ส.ส.ร.
'วันชัย' กระตุกรัฐบาล- ฝ่ายค้าน ดันแก้ไข รธน.เป็นรายมาตราดีกว่าตั้ง ส.ส.ร.จัดทำใหม่ทั้งฉบับที่ต้องใช้งบเกือบ 2 หมื่นล้านบาท แนะคิดให้ดีอะไรเร่งด่วนกว่ากันระหว่างแก้ รธน.กับปัญหาเศรษฐกิจ
กมธ.สิทธิฯ สว. แจง 4 ประเด็น อาการป่วยทักษิณ เตรียมเรียกหน่วยงานชี้แจงอีกรอบ
นายสมชาย แสวงการ สว. ในฐานะประธานกมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา แถลงว่า กมธ.ได้รับคำตอบชัดเจนในระดับหนึ่งใน 4ประเด็นคือ 1. นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ
'สว.สมชาย' ซัดนักการเมือง คิดถึงแต่หาเสียงผลาญแจกเงินฟรี แต่คิดเลิกแลนด์บริดจ์
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า #คิดได้ไง #บทเรียนจำนำข้าว
มติสภาสูงอุ้ม 'สว.กิตติศักดิ' ไม่ผิดจริยธรรม
แค่ตักเตือนยังทำไม่ได้! มติสภาสูงอุ้ม 'สว.กิตติศักดิ์' ตีตกผลสรุป กก.จริยธรรม กรณีข้อพิพาทวัดบางคลาน
ไม่ทิ้งเด็กเดินทางผิด ไว้ข้างหลัง! ผุดศูนย์เรียนรู้ ทักษะอาชีพ เปิดประตูชีวิตใหม่
“กสศ”.เปิดงานแนวรุกทางการศึกษา ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จับมือกรมพินิจฯ เจาะกลุ่มเด็กในกระบวนการยุติธรรม สร้างโอกาสทางการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่ ผุดศูนย์เรียนรู้ในศูนย์ฝึกอบรมฯ ทั่วประเทศ เผยตัวเลขเด็กกลับไปทำผิดซ้ำลดลงต่อเนื่อง
วุฒิสภา โหวตไม่เห็นชอบ 'สมบัติ ธรธรรม' ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.
ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีการวาระสำคัญพิจารณานายสมบัติ ธรธรรม ทนายความ และที่ปรึกษากฎหมายอิสระ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกัน