อว. ชู 'ธรรมศาสตร์' โมเดลจัดการศึกษา เปิดช่องทยอยเก็บเครดิต-จัดระบบโค้ชชิ่ง สร้างแพลทฟอร์มเรียนทุกที่-ทุกเวลา

“ธรรมศาสตร์” จัดกิจกรรม “TU Open House 2023 ประตูสู่การเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด” เปิดบ้านต้อนรับนักเรียน-ผู้ปกครองทั่วประเทศ อัดแน่นสาระ-ความสนุกตลอด 2 วันเต็ม พร้อมจัดเวทีพูดคุยการศึกษาแห่งอนาคต ‘เลขานุการ รมว.อว.’ ชี้ มธ. เปิดช่องทยอยเก็บเครดิตควบคู่ไปกับ ‘โค้ชชิ่ง’ ตามความต้องการของนักศึกษา จัดแพลทฟอร์มเรียนทุกที่-ทุกเวลา คือภาพการจัดการศึกษาที่ควรขยายไปยังสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ

30 ต.ค.2566 - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดกิจกรรม “Thammasat Open House 2023 : Space of Limitless Education” เปิดบ้านธรรมศาสตร์ ประตูสู่การเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด เมื่อวันที่ 27 - 28 ต.ค. 2566 เพื่อร่วมเปิดประสบการณ์ให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง ก่อนเข้าสู่ช่วงเวลาของการตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ภายใต้กิจกรรมที่อัดแน่นตลอด 2 วันเต็ม ทั้งการแสดง สันทนาการ ควบคู่ไปกับเวทีเสวนาความรู้ที่น่าสนใจมากมายตลอดทั้งวัน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

คุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธานในพิธี ได้กล่าวเปิดงานว่า กิจกรรมเปิดบ้านของสถาบันอุดมศึกษา ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เปิดพื้นที่ให้แก่นักเรียนและบุคคลทั่วไปที่สนใจได้รู้จักสถาบันการศึกษามากยิ่งขึ้น สามารถเข้าถึงข้อมูลการรับเข้าศึกษา หลักสูตร การเรียนการสอน รวมถึงได้สัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงในแต่ละคณะ และได้เห็นบรรยากาศการใช้ชีวิตเป็นนักศึกษา เพื่อก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยในการเสวนาหัวข้อ “Future Education : ทิศทางการศึกษาแห่งอนาคต ตอบโจทย์โลกยุคใหม่” ตอนหนึ่งว่า เมกะเทรนด์ต่างๆ ของโลก ที่กำลังจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชาชนอายุยืนยาวขึ้น แต่มีลูกน้อยลง ทำให้เด็กที่เข้าสู่ระบบการเรียนน้อยลง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ การพัฒนาระบบสุขภาพที่คนหันมาใส่ใจกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว รวมไปถึงประเด็นของการสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้มหาวิทยาลัยจะต้องมีการปรับตัว ปรับหลักสูตร ตลอดจนรูปแบบการศึกษาที่จะต่อยอดไปสู่อาชีพการทำงานได้มากขึ้น

น.ส.สุชาดา กล่าวว่า นโยบายของผู้บริหาร อว. เองต้องการปรับสิ่งต่างๆ ให้ตรงจุด บนเป้าหมายสำคัญคืออยากให้เด็กได้รับการศึกษาที่ดีในไทย โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปต่างประเทศ จึงกำหนดออกมาเป็นนโยบายทั้งในเชิงของการพัฒนาทางวิชาการ ความเป็นเลิศ แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มนโยบายในด้านความมั่นคงทางชีวิตและเศรษฐกิจด้วย เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะมีพื้นฐานทางฐานะเพียงพอที่จะเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรชั้นนำได้

“สำหรับบางคนกว่าที่จะเรียนจบหลักสูตรอาจใช้เวลานานเกินไป เพราะแต่ละคนเขามีภาระไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเราจึงพยายามพัฒนาให้ระบบอุดมศึกษาเพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนได้มากขึ้น สามารถค่อยๆ เก็บเป็นเครดิตเอาไว้ได้ อย่างที่ มธ. ทำไปแล้ว พร้อมมีระบบโค้ชชิ่ง ที่จะเข้าไปช่วยแนะแนวทางให้บนความต้องการของเด็ก ว่าอยากเป็นอะไร มีแนวทางไหนที่จะทำได้ แล้วจัดแพลทฟอร์มการเรียนรู้ให้สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมถึงเพิ่มโอกาสในการมีรายได้ระหว่างเรียนไปด้วย ซึ่งเราอยากให้ภาพแบบนี้ขยายไปในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศได้” น.ส.สุชาดา กล่าว

รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ความรู้มีอายุสั้น แต่คนมีอายุยาว ซึ่งความรู้จากสถาบันการศึกษาไม่มีทางเพียงพอที่จะใช้ในชีวิตการทำงานได้ตลอดไป ฉะนั้นทางสถาบันการศึกษาเองก็จะต้องปรับตัว ให้ผู้เรียนได้เรียนเท่าที่จำเป็น แล้วรีบออกไปเผชิญโลกการทำงานจริงได้เร็วที่สุด และเมื่อเขารู้ตัวว่าขาดอะไร จะต้องเติมอะไร ก็ทำให้เขาสามารถกลับเข้ามาเรียนเพิ่มเติมได้โดยง่าย ไม่ใช่ให้เรียนเผื่อไว้มากมาย แต่กว่าจะเรียนจบออกไปแล้วความรู้นั้นก็ล้าสมัย หรือไม่ได้ใช้

รศ.ดร.พิภพ กล่าวว่า ปัจจุบันไม่ว่าใครก็สามารถเริ่มเรียนและเป็นศิษย์ของ มธ. ได้ ตั้งแต่ก่อนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผ่านแพลทฟอร์ม เช่น TUXSA โดยหากเรียนจบครบถ้วน สอบผ่าน ก็สามารถสะสมหน่วยกิตเหล่านี้เอาไว้ และโอนมาได้เมื่อสมัครเข้าเรียน ช่วยให้เรียนจบได้เร็วขึ้น หรือแม้แต่ทิศทางที่คนรุ่นใหม่สนใจอย่างการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งหากมีโปรเจค มีไอเดีย ก็สามารถนำมาใช้สมัครเข้าเรียนในรอบ Portfolio ได้ในทุกคณะ และหากสตาร์ทอัพนั้นประสบผลสำเร็จ สามารถระดมทุนหรือขายได้ตามเงื่อนไข มธ. ก็พร้อมมอบให้ทันที 15 หน่วยกิต นับเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่มอบให้ เทียบเท่ากับการเรียนวิชาโท

“นอกจากนี้ใครก็ตามที่สอบเข้า มธ. ได้ จะไม่มีคำว่าไม่มีเงินเรียน เพราะ มธ. มีการจัดสรรทุนให้หลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบโจทย์ว่าใครเข้าได้ก็ต้องเรียนจนจบได้ทุกคน เพราะรายได้ไม่ควรเป็นอุปสรรคในการบรรลุความฝัน ขณะเดียวกันเราก็ต้องระลึกว่าเมื่อเข้าเรียนแล้ว จบออกไปต้องวางเป้าหมายทำอะไรเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองเสมอ เพราะสิ่งที่ มธ. ปลูกฝังนักศึกษา คือการทำเพื่อสังคม ชุมชน และมีโจทย์เหล่านี้ให้ได้เรียนรู้ตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย” รศ.ดร.พิภพ กล่าว

ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือครูทิว คุณครูโรงเรียนราชดำริ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันทุกคนจะให้ความสำคัญกับความรู้ทางเทคโนโลยี และมองว่าโรงเรียนเริ่มไม่จำเป็น เพราะใครก็สามารถเข้าถึงความรู้ได้จากในมือ แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรย้อนกลับมาดูคือรากฐานที่มั่นคง โดยเฉพาะทักษะพื้นฐานอย่างการคิด อ่าน เขียน เพื่อที่เราจะวิเคราะห์ วิพากษ์ หรือแยกแยะความรู้มากมายเหล่านั้นได้ ขณะเดียวกันด้วยต้นทุนชีวิตที่แตกต่างกัน ก็ยังมีเด็กอีกบางส่วนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ซึ่งรัฐและโรงเรียนควรทำหน้าที่สนับสนุนสิ่งเหล่านี้

“เราเหมารวมไปเองว่าเด็กรุ่นใหม่เขาเก่งเทคโนโลยีหมด แต่ความจริงแล้วพบว่าเด็กนักเรียนหลายคนยังไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน เขามีโอกาสได้ใช้เพียงคาบเดียวในโรงเรียน แล้วจะให้มีทักษะเหล่านี้ได้อย่างไร ขณะเดียวกันนอกจากจะทำให้เข้าถึงได้แล้ว เรายังต้องฝึกให้มีความรู้เท่าทันด้วย เพราะปัจจุบันภัยคุกคามไม่ได้มีเพียงทางกายภาพ แต่ยังมีภัยคุกคามทางดิจิทัลอีกมาก” ครูทิว กล่าว

ในขณะที่เวทีการเสวนาหัวข้อ “INCLUSIVE SOCIETY : แตกต่างอย่างเท่าเทียม สู่สังคมเพื่อคนทั้งมวล” รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มธ. กล่าวว่า ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าความแปลกแยก ความเหลื่อมล้ำของกลุ่มคนที่มีเงื่อนไขความแตกต่าง ไม่ว่าจะทางร่างกาย จิตใจ หรือความเชื่อ ยังคงมีอยู่ไม่น้อยในสังคม โดยหากมองในส่วนของคนพิการจะพบว่ายังเข้าถึงการศึกษาได้น้อย อย่างใน มธ. เองแม้จะมีการเปิดโควตาให้ทุกคณะรับนักศึกษาพิการเข้าเรียนในสัดส่วน 1% แต่กลับพบปัญหาว่ามีคนพิการเข้ามาเรียนได้ไม่ถึงจำนวนดังกล่าว

“มหาวิทยาลัยท็อป 5 ในเยอรมนี มีนักศึกษาพิการเรียนอยู่ 5% ส่วนของเราแม้จะเป็นมหาวิทยาลัย ท็อป 3 แต่กลับมีนักศึกษาพิการเพียง 0.03% เท่านั้น ขณะที่คนพิการทั้งประเทศมีไม่ถึง 5% ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โอกาสในการทำงานจึงน้อยตามไปด้วย และแม้จะมีการเปิดรับคนพิการเข้าทำงานมากขึ้น แต่ทางเลือกอาชีพของเขาก็มีให้น้อยเช่นกัน ฉะนั้นตั้งแต่ต้นทางมหาวิทยาลัย จึงควรเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันผลักดันให้คนพิการได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในแขนงต่าง ๆ มากขึ้น” รศ.ดร.ชุมเขต กล่าว

รศ.ดร.ชุมเขต กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันภาพรวมของประเทศ เรามุ่งหวังให้เด็กไทยได้รับการศึกษาในระบบอย่างน้อย 12 ปี คือถึงระดับชั้นมัธยมปลาย แต่ค่าเฉลี่ยจริงของเด็กไทยกลับอยู่ที่เพียง 9 ปีเท่านั้น ดังนั้นจึงยังมีผู้คนอีกมากที่อาจเข้าสู่วัยทำงานแล้ว แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนในระบบ รวมไปถึงผู้สูงอายุที่อยู่ในยุคของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฉะนั้นผู้คนจำนวนหนึ่งจึงกำลังต้องการโอกาสกลับเข้ามาในระบบการศึกษา ซึ่ง มธ. ก็ได้เปิดตลาดวิชา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสะสมเครดิตไว้ และเทียบโอนไปสู่การเป็นใบปริญญาได้

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในส่วนของ กทม. เองได้มีการรับข้าราชการที่เป็นคนพิการด้วยเช่นกัน แต่อาจยังรับได้ในจำนวนไม่มาก ซึ่งจากเดิมจะให้สอบรวมกับคนทั่วไป แต่เมื่อปีที่ผ่านมาเพิ่งมีการจัดการสอบที่เหมาะสมและเอื้อให้กับคนพิการมากขึ้น โดยในส่วนของปัญหาที่คนพิการอาจยังเข้าทำงานได้ไม่หลากหลายมากนัก นับเป็นโจทย์ที่เราจะต้องมาร่วมกันออกแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์การทำงานของคนพิการด้วย และเราก็จะไม่โยนให้เป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยซึ่งทำหน้าที่ผลิตอย่างเดียว แต่หน่วยงานเองก็จะต้องเป็นส่วนที่สะท้อนสิ่งต่างๆ เป็นข้อมูลกลับไปด้วย

รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า อีกหนึ่งสถานการณ์คือสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันพบว่าพื้นที่บางเขตใน กทม. มีจำนวนผู้สูงวัยมากถึง 28-31% แล้ว นับเป็นโจทย์ท้าทายให้กับการออกแบบเมืองที่รองรับความหลากหลาย ให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ขณะเดียวกันแม้สังคมผู้สูงอายุจะเกิดจากการที่คนมีอายุยืนยาวขึ้น เราเองก็ยังต้องเดินหน้าพัฒนาความก้าวหน้าทางการแพทย์ต่อไป ทว่าควบคู่กันนั้นคือต้องทำอย่างไรให้คนแก่ ไม่ชรา ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิต ติดเพื่อน ติดสังคม ได้ในเมืองที่ออกแบบสำหรับทุกคน

ด้าน บุญรอด อารีย์วงษ์ ศิษย์เก่า มธ. และยูทูบเบอร์จากช่อง Poocao Channel กล่าวว่า แม้ปัจจุบันคนพิการในสังคมจะเริ่มมีสิทธิมีเสียงเพิ่มมากขึ้นจากเมื่อก่อน แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งในสังคมที่ไม่เข้าใจคนพิการ ทำให้ยังคงได้รับการโจมตีอยู่เสมอ ขณะที่โอกาสทางการศึกษาแม้จะมีเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มากด้วยเช่นกัน

“คนพิการต้องเจอกับปัญหาการทำงาน ทั้งเรทเงินเดือนที่น้อยกว่าคนทั่วไป หรือตำแหน่งงานที่มักจะวนอยู่เพียงแค่ให้รับโทรศัพท์ คีย์ข้อมูล ฯลฯ แบบนี้แล้วจะเรียนจบปริญญาตรีมาเพื่ออะไร เพราะแม้จะเรียนมาในสิ่งที่อยากทำ แต่สายงานนั้นก็อาจไม่รองรับให้คนพิการได้ ซึ่งขณะนี้ มธ. เองก็เปิดรับนักศึกษาพิการจากหลากหลายคณะที่แตกต่างกัน เชื่อว่าเขามีศักยภาพอยู่มาก ขอเพียงแค่สังคมเปิดโอกาสให้” บุญรอด กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บ่อน้ำ' ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของอาจารย์ปริญญา

อาจารย์ปริญญา จบกฎหมายมหาชน จากเยอรมัน จึงน่าจะเป็นเหตุผล ที่ทำให้ อาจารย์ มักแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับกฎหมายของประเทศไทย อยู่หลายๆครั้ง ทำเหมือนไม่รู้ว่า “เมื่อเป็นคนไทยทำผิด ก็

มธ.จัดงาน 'วันสัญญา ธรรมศักดิ์' เปิดวงเสวนายกเคส ชั้น 14 สะเทือนกระบวนการยุติธรรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัด “งานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567” มอบรางวัลนักศึกษากฎหมาย-เรียนดี สืบสานปณิธานปูชนียบุคคลด้านนิติศาสตร์ พร้อมจัดวงเสวนา “กระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนบังคับคดีอาญา” ยกเคสตัวอย่าง “คดีชั้น 14 รพ.ตำรวจ” บนขั้นตอนที่ผิดเพี้ยน สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรม-กฎหมายไทย

ดร.นิว เฮลั่น! หยั่งเสียงเลือกอธิการบดีมธ. 'ปริญญา' ได้ที่โหล่

ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า "โชคดีของ