มธ.จัดงาน 'วันสัญญา ธรรมศักดิ์' เปิดวงเสวนายกเคส ชั้น 14 สะเทือนกระบวนการยุติธรรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัด “งานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567” มอบรางวัลนักศึกษากฎหมาย-เรียนดี สืบสานปณิธานปูชนียบุคคลด้านนิติศาสตร์ พร้อมจัดวงเสวนา “กระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนบังคับคดีอาญา” ยกเคสตัวอย่าง “คดีชั้น 14 รพ.ตำรวจ” บนขั้นตอนที่ผิดเพี้ยน สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรม-กฎหมายไทย

5 เม.ย. 2567 - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567 โดยมี ศ.พิเศษ อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี พร้อมด้วย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมวางพานพุ่มที่ประดิษฐ์จากเครื่องเขียน, อุปกรณ์กีฬา, หนังสือ พร้อมกับแขกผู้มีเกียรติภายในงาน ณ ลานอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยพานพุ่มทั้งหมดจะนำไปมอบให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนต่อไป

สำหรับงานดังกล่าว ได้มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อรำลึกและเชิดชูเกียรติของ “ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์” บุคคลต้นแบบและปูชนียบุคคลอันทรงคุณค่าของนักนิติศาสตร์ ที่ได้อุทิศตนเพื่อการศึกษาวิชานิติศาสตร์ พร้อมทั้งส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมและวิชาชีพกฎหมาย จนเกิดผลงานอันเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยที่ผ่านมา ศาสตราจารย์สัญญา ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในหลายบทบาท อาทิ ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจน อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งนี้ ภายหลังกิจกรรมพิธีสงฆ์ ถวายสังฆทาน และการวางพานพุ่มในช่วงเช้า องคมนตรียังได้ร่วมมอบรางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่น ประจำปี 2567 ให้กับ นายวุฒิพงษ์ ปาลกะวงศ์ บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567 ได้แก่ น.ส.พิมพ์ลภัส วัดพ่วงแก้ว บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับสอง จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ น.ส.นัชชา ชาครานนท์ บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ศ.พิเศษ ดร.เดชอุดม ไกรฤทธิ์ กรรมการเนติบัณฑิตยสภา ในฐานะประธานกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เปิดเผยว่า ทางกองทุนฯ ได้จัดงานเชิดชูเกียรตินักศึกษากฎหมายดีเด่นมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 21 เพื่อรักษาและสืบสานปณิธานที่ดีงาม และเป็นแบบอย่างของการอุทิศตนปฏิบัติงานราชการบ้านเมืองของท่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ โดยคณะกรรมการพิจารณารางวัลฯ ได้คัดเลือกนักศึกษาที่พร้อมและมีคุณสมบัติ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะนิติศาสตร์ มากกว่า 30 ปี

ขณะเดียวกันยังได้มีการมอบรางวัลเรียนดี “ธรรมศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์” ให้กับ นายธีรโชติ ป้องกันภัย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คะแนนรวม 88.86% ซึ่งนายธีรโชติ กล่าวว่า ในฐานะนักศึกษาวิชากฎหมายนับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลศาสตราจารย์สัญญา ผู้ซึ่งถือเป็นปูชนียบุคคลของแวดวงกฎหมายและการเมืองไทย โดยรางวัลที่ได้รับในครั้งนี้จะนำไปเป็นแรงผลักดันในการศึกษาต่อ เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นนักกฎหมายที่ดี ที่จะร่วมพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศต่อไป

นอกจากนี้ยังได้มีการจัดกิจกรรมการเสวนาเนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567 หัวข้อ “กระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนบังคับคดีอาญา” โดย ศ.พิเศษ ดร.เดชอุดม ไกรฤทธิ์ กรรมการเนติบัณฑิตยสภา กล่าวว่า คำหนึ่งที่อยากพูดถึงคือ ‘กระบวนการยุติธรรมแท้ง’ (Miscarriage of Justice) ซึ่งหมายถึงความบกพร่องที่ไม่สามารถจะทำให้ผลของการบังคับคดีขั้นสุดท้ายในกระบวนการยุติธรรมบรรลุเป้าหมาย และหนึ่งในคดีที่เรากำลังพูดถึงว่าแท้งอยู่จริงๆ คือคดีที่เกิดขึ้นใน ‘ชั้น 14’ โรงพยาบาลตำรวจ

ศ.พิเศษ ดร.เดชอุดม กล่าวว่า ข้อสงสัยหนึ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของชั้น 14 คือไม่เห็นว่าตัวของนักโทษหรือญาติได้มีการขอลดโทษแต่อย่างใด หรือไม่เคยเห็นคำร้องของกรมราชทัณฑ์ที่ยื่นถึงศาลในการขอคุมขังนอกเรือนจำ ไม่เคยได้เห็นว่ามีการขออนุญาตศาล หรือว่าศาลให้อนุญาตแล้วหรือยัง ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์จำเป็นต้องตอบว่าเขามีอำนาจในการนำเอานักโทษออกจากเรือนจำได้อย่างไร

“วันนี้เป็นวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ทรงคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ กล้าหาญ ยึดมั่นในหลักการแบบที่ไม่มีใครเท่า เคยตัดสินจำคุกพลเอกในคดีกินป่ามาแล้วในยุคปฏิวัติรัฐประหาร จนพลเอกรายนั้นต้องถูกถอดยศทั้งหมด และจำคุกโดยไม่ได้รับการลดโทษใดๆ สุดท้ายต้องตายในคุก แต่ปัจจุบันเราขาดความกล้าหาญ คดีจำคุก ก็ถูกแปลงไปได้ด้วยกฎหมาย พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ที่นักการเมืองเข้ามายุ่มย่ามในช่วงของการแก้ไข” ศ.พิเศษ ดร.เดชอุดม ระบุ

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า วันนี้เราต่างเห็นถึงปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด ตัวอย่างในวันนี้คือกรณีของการพักโทษที่ผิดเพี้ยน กล่าวคือ ศาลเป็นคนพิพากษากำหนดโทษ ส่วนราชทัณฑ์เป็นคนบริหารโทษ ดังนั้นถ้าหากเห็นว่านักโทษควรได้รับการลดหย่อนโทษ กฎหมายได้เขียนไว้ชัดเจนว่าให้ศาลออกหมายปล่อย หรือการกักขังนอกเรือนจำก็ต้องให้ศาลพิจารณาอนุญาต

“ถ้าไปดูเวลาขอพระราชทานอภัยโทษ ทางเรือนจำจะตั้งกรรมการตรวจสอบเพื่อคัดคน เมื่อเสร็จจึงเสนอให้ศาลออกหมายปล่อย ระบบเป็นแบบนั้น แต่เที่ยวนี้แปลกตรงที่ราชทัณฑ์ปล่อยเอง ทำให้ศาลไม่มีราคา เพราะนักกฎหมายทุกคนย่อมไม่พิจารณาก่อนจนกว่าเงื่อนไขจะครบ แต่ในกรณีของชั้น 14 แม้การเป็นนักโทษในโรงพยาบาลจะทำได้ ส่วนจะพักการลงโทษได้ก็ต้องครบ 6 เดือนก่อน แต่คดีนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่พักการลงโทษก่อนครบกำหนด ซึ่งนั่นผิดหมดเลย ผิดชัดเจน และเชื่อว่าสักวันหนึ่งรัฐมนตรีก็อาจติดคุกได้” นายปรเมศวร์ ระบุ

ขณะที่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ใน พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มีการกำหนดไว้ว่าผู้ที่มีสิทธิจะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ จะต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดที่รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความประพฤติดี มีความอุตสาหะ ความก้าวหน้าในการศึกษา และการทำงานเกิดผลดี หรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ คำถามคือกรณีของชั้น 14 นั้นได้มีในสิ่งเหล่านี้แล้วหรือไม่

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า มากไปกว่านั้น ในประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ. 2562 ยังมีการระบุคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษเพิ่มเติม คือต้องเป็นนักโทษเด็ดขาด ‘ชั้นดี’ ขึ้นไป จากทั้งหมดที่มีการแบ่งออกเป็น 6 ชั้น คือ ชั้นเยี่ยม, ชั้นดีมาก, ชั้นดี, ชั้นกลาง, ชั้นต้องปรับปรุง และชั้นต้องปรับปรุงมาก ซึ่งนักโทษเด็ดขาดที่เข้าไปใหม่นั้นจะเป็น ‘ชั้นกลาง’ คำถามคือแล้วเคสนี้ไปเข้าเกณฑ์พักโทษได้อย่างไร เพราะหากได้รับการเลื่อนชั้น ก็อาจต้องมีความประพฤติดี มีการทำงานต่างๆ แต่เราไม่ทราบว่านักโทษรายนี้ได้เลื่อนเป็นชั้นดีตอนไหน ไม่มีใครเห็น

“การที่คนคนหนึ่งจะรักษาตัวอยู่นอกเรือนจำ และในระหว่างรักษาตัวอยู่ 6 เดือน ท่านก็ไปมีความประพฤติดี มีความอุตสาหะ หรือทำผลงานความดีความชอบเหล่านั้นตอนไหน เรื่องนี้ไม่ได้บอกว่าเขาไม่ได้ทำ แต่กรมราชทัณฑ์จะต้องทำให้ปรากฏออกมาในสิ่งที่สังคมได้ตั้งคำถาม ไม่เช่นนั้นมันจะทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่คนอีกคนหนึ่งโดนโทษปรับ 10,000 บาท แต่ไม่มีเงินจ่าย ก็ต้องติดคุก 20 วัน สุดท้ายกลายเป็นว่าคุกก็มีไว้ขังคนจนตามที่เขาว่ากัน ซึ่งหากคนไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมแล้ว สังคมเราจะอยู่กันอย่างไร” ผศ.ดร.ปริญญา ระบุ

ด้าน ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อีกหนึ่งตัวอย่างปัญหาของการบังคับใช้กฎหมาย คือกรณีความผิดทางจราจร ที่หากได้รับใบสั่งจราจรแล้วไม่ชำระค่าปรับ ทางกรมการขนส่งทางบกจะไม่ต่อทะเบียนให้ โดยเป็นกฎหมายที่ถูกแก้ไขโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 14/2560 ภายหลังมีการใช้รัฐธรรมนูญแล้ว

“ถ้าผู้ถูกใบสั่งยอมเสียค่าปรับ ตำรวจได้เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าไม่ได้เสียค่าปรับ ตำรวจกลับส่งให้หน่วยงานอื่นบังคับ โดยไม่ให้ต่อทะเบียนแทน กลายเป็นการเปลี่ยนตัวคู่กรณี เมื่อไปถึงกรมการขนส่งทางบกเราจะถามว่าผิดอย่างไร เขาก็ตอบไม่ได้เพราะไม่ใช่คู่กรณี จึงเป็นการชกผิดคน ในขณะที่เราก็ไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ว่ากระทำผิดหรือไม่ เพราะไม่มีโอกาสได้ไปศาล จึงอยากถามว่ากฎหมายแบบนี้เขียนมาได้อย่างไร เป็นภาระของประชาชน และถือว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” ศ.ดร.ทวีเกียรติ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บ่อน้ำ' ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของอาจารย์ปริญญา

อาจารย์ปริญญา จบกฎหมายมหาชน จากเยอรมัน จึงน่าจะเป็นเหตุผล ที่ทำให้ อาจารย์ มักแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับกฎหมายของประเทศไทย อยู่หลายๆครั้ง ทำเหมือนไม่รู้ว่า “เมื่อเป็นคนไทยทำผิด ก็

เปิดเบื้องลึก! กว่าจะได้นั่งเก้าอี้ 'อธิการ มธ.'

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในระหว่างการสรรหาอธิการบดีคนใหม่