'หมอมนูญ' แนะฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเพราะคาดปีนี้ระบาดหนัก

01 ก.พ.2567 - นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ไวรัสไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ คนจึงอาจเป็นแล้วเป็นอีกได้ถึง 4 ครั้ง โรคนี้เป็นได้ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นครั้งที่ 2 จะหนักกว่าครั้งอื่นๆ กลุ่มเสี่ยงที่ป่วยหนักคือ ผู้ใหญ่วัยทำงานถึงวัยกลางคนอายุ 25-54 ปี เพราะมีโอกาสติดเชื้อครั้งที่ 2 สูงกว่ากลุ่มอื่น แม้คนติดเชื้อครั้งที่ 2 จะสุขภาพดีก็ยังสามารถป่วยเป็นไข้เลือดออกรุนแรงได้ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะเจาะจง

ในปี 2566 ไข้เลือดออกระบาดหนักที่สุดในรอบ 5 ปี และในปี 2567 ไข้เลือดออกเป็นอีกโรคหนึ่งที่คาดว่าจะระบาดหนักร่วมกับโควิดและไข้หวัดใหญ่

โชคดีว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยมีวัคซีนตัวที่ 2 เพิ่งเข้าประเทศไทย ชื่อวัคซีน Qdenga เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ มีประสิทธิภาพดี สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 สายพันธุ์สูงถึง 80.2% และลดการนอนโรงพยาบาลด้วยไข้เลือดออกได้สูงถึง 90.4% มีการศึกษาติดตามระยะยาวถึง 4.5 ปี พบว่ายังคงประสิทธิภาพในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลจากไข้เลือดออกได้ถึง 84.1%
โดยแนะนำให้ฉีดเข้าต้นแขนใต้ผิวหนัง (subcutaneous) ในคนอายุ 4–60 ปี จำนวน 2 เข็ม โดยห่างกัน 3 เดือน เป็นวัคซีนที่ไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีน เนื่องจากสามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออก แตกต่างจากวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกตัวแรก Dengvaxia ที่ต้องตรวจเลือดก่อนฉีด เพราะฉีดได้เฉพาะผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกเท่านั้น

ข้อห้าม: ห้ามฉีดผู้หญิงตั้งครรภ์ และกำลังให้นมบุตร คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ กินยากดภูมิ ได้ยาเคมีบำบัด เคยปลูกถ่ายอวัยวะ และคนติดเชื้อไวรัสเอชไอวี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอมนูญ’ เตือนโควิดหลังสงกรานต์เปลี่ยนไป ใครมีอาการแบบนี้รีบตรวจ ATK

อาการของโรคโควิดเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เป็นอาการของทางเดินหายใจส่วนบน คอ จมูก มากกว่าทางเดินหายใจส่วนล่าง หลอดลม และปอด

‘หมอมนูญ’ เผยผลติดตามสถานการณ์ 5 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่  ไรโนไวรัส (Rhinovirus) อาร์เอสวี (RSV) และ ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส Human metapneumovirus (hMPV)