'สทนช.' ห่วงชาวริมโขงหลังเหตุสารเคมีรั่วไหลที่ สปป.ลาว

สมศักดิ์ สั่ง สทนช. ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงใกล้ชิด หลังเกิดอุบัติเหตุทำให้มีกรดซัลฟิวริกรั่วไหลลงสู่แม่น้ำคาน แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยผลจากการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ณ แก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน จ.เลย ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

7 เม.ย. 2567 -นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลลงแม่น้ำคาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 3 เม.ย. 67 ว่า จากการตรวจสอบเหตุดังกล่าว พบว่า สถานที่เกิดเหตุอยู่ที่หมู่บ้าน Ban Phou Xang Kham เมืองหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว โดยเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ส่งผลให้มีกรดซัลฟิวริก (Sulfuric acid) หรือกรดกำมะถัน รั่วไหลเข้าสู่แม่น้ำคาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ผ่านทางระบายน้ำริมถนน บริเวณด้านเหนือน้ำของแม่น้ำโขงประมาณ 10 กิโลเมตร (กม.) ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลผ่านเมืองหลวงพระบาง ไปถึงเขื่อนไซยะบุรี ประมาณ 102 กม. แล้วไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรีออกไปยังพรมแดนไทย – ลาว ประมาณ 204 กม.

ทั้งนี้ จากจุดที่เกิดเหตุถึงจุดแก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน จ.เลย มีระยะทางประมาณ 340 กม. ใช้ระยะเวลาการเดินทางของน้ำ 3 วัน โดยภายหลังเกิดเหตุดังกล่าว รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ในฐานะประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และกำกับดูแล สทนช. มีความห่วงใยชาวริมโขงที่อาจจะได้รับผลกระทบ จึงได้มีข้อกำชับให้ สทนช. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดย สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้เร่งรัดประสานงานกับสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) และ สปป.ลาว ตามแนวทางปฏิบัติด้านเทคนิคของระเบียบปฏิบัติเรื่องคุณภาพน้ำ ภายใต้ บทที่ 4 ว่าด้วย “แนวทางการตอบสนองและการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านคุณภาพน้ำ” ภายใต้กลไกความร่วมมือ “กระบวนการสื่อสารระหว่างประเทศ”

นอกจากนี้ สทนช. ได้ประสานกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานของประเทศไทย (National Focal Point) ติดตามประเมินระดับความรุนแรงของสถานการณ์และคุณภาพน้ำ โดยกรมควบคุมมลพิษได้เข้าร่วมและให้ข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำจากกรณีสารเคมีประเภทกรดรั่วไหลต่อคณะทำงานของจังหวัดเลย และลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบและคุณภาพน้ำของแม่น้ำโขง บริเวณจุดสถานที่ท่องเที่ยวแก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน จ.เลย ทั้งนี้ ผลจากการตรวจวัดค่าคุณภาพน้ำ ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ปัจจุบันได้ค่าเท่ากับ 8 ถือว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ สัตว์น้ำและคนสามารถใช้น้ำได้โดยปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงร่วมปฏิบัติตามแผนดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในพื้นที่ อ.เชียงคาน และ อ.ปากชม อย่างเคร่งครัด โดยเฝ้าระวังคุณภาพน้ำจำนวน 3 จุด ในเวลา 09.00 น. และ 15.00 น. ตั้งแต่วันที่ 5 – 12 เม.ย. 67 พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเลยเป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น และให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ รวมถึงแจ้ง สทนช. เพื่อประสานงานในระดับชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งให้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเลยประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง

“จากเหตุดังกล่าว วานนี้ (5 เม.ย. 67) สทนช. ได้ออกประกาศเพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง โดยกรดซัลฟิวริกมีฤทธิ์กัดกร่อนสูงแต่สามารถเจือจางได้ง่ายภายใต้น้ำปริมาตรมาก ซึ่งผลจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำในขณะนี้ พบว่า แม่น้ำโขงบริเวณ จ.เลย ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะยังคงมีการติดตามเฝ้าระวังและแจ้งข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดย สทนช. จะมีการประสานงานภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และขอเน้นย้ำให้ประชาชนในพื้นที่ จ.เลย จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สทนช. แจงเหตุเร่ง อปท. เสนอแผนงาน เพื่อให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงกรณีที่ สทนช. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่ว

สทนช. แจงเหตุเร่ง อปท. เสนอแผนงานระบบ Thai Water Plan

สทนช. เผยการเร่งให้ อปท. เสนอแผนงานขอรับงบประมาณแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบปฏิทินงบประมาณ และเป็นส่วนในการขอเพิ่มเติมหรือขอการปรับปรุงแผนงานเดิมเท่านั้น ย้ำไม่ได้มีเจตนาให้ อปท. ไม่สามารถดำเนินการได้ทันแต่อย่างใด พร้อมยืนยันการเสนอโครงการและงบประมาณผ่านระบบ Thai Water Plan จะช่วยให้ อปท. เสนอแผนงานได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ ไม่ได้ลดโอกาสแต่อย่างใด

สทนช.ยืนยันดำเนินงานตามภารกิจลดความซ้ำซ้อนสร้างความมั่นคงด้านน้ำ

สทนช. ย้ำดำเนินภารกิจภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 2561 ยืนยันไม่ได้รวบอำนาจ แต่บูรณาการหน่วยงานด้านน้ำให้มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว ลดความซ้ำซ้อน สร้างความมั่นคงด้านน้ำ พร้อมแจงระบบ Thai Water Plan (TWP) ช่วยขับเคลื่อนภารกิจการแก้ไขปัญหาด้านน้ำของประเทศในมิติต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน

กอนช. สรุปสถานการณ์น้ำทั้งประเทศ เร่งกักเก็บรับมือ 'เอลนีโญ'

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศประจำวันว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

รัฐบาลไฟเขียวลงนามเอกสาร 5 ฉบับประชุมอนุลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ

ไทยร่วมประชุมรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 6 ประเทศ GMS ครั้งที่ 25 สปป.ลาวเป็นเจ้าภาพ ไฟเขียวลงนามเอกสาร 5 ฉบับขับเคลื่อน

น้ำโขงเพิ่มต่อเนื่อง! ชาวบ้านโอดจับปลายาก

น้ำโขงที่ จ.หนองคายยังเพิ่มสูงต่อเนื่อง ล่าสุดแตะ 9.13 เมตร ชาวบ้านโอดจับปลาในแม่น้ำโขงไม่ได้ ทั้งน้ำเชี่ยว เศษขอนไม้กระแทกอวน ทำได้เพียงยกยอ