ความท้าทายระบบสุขภาพ ในมือของชุมชนและท้องถิ่น

ฐานรากของระบบสุขภาพที่แข็งแกร่ง คือ ‘ระบบสุขภาพชุมชน’ ที่เข้มแข็ง สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด

การถ่ายโอนภารกิจบริการด้านสาธารณสุขให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ หรือที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้คือ การถ่ายโอนฯ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไปบริหารจัดการ ถือเป็นจังหวะก้าวครั้งประวัติศาสตร์ในการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพชุมชน

โดยเฉพาะการถ่ายโอนฯ ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ที่มีการถ่ายโอนฯ รพ.สต. ไปแล้วมากกว่า 4,276 แห่ง หรือคิดเป็น 43.31% ของ รพ.สต. ทั้งประเทศที่มีอยู่ 9,872 แห่ง ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการ ‘ปฏิรูประบบบริการสุขภาพ’ ครั้งใหญ่ของประเทศ

ตลอดระยะเวลา 2 ปี ภายใต้การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้เต็มไปด้วยความท้าทาย หนึ่งในนั้นคือการที่เปิดช่องให้ อบจ. สามารถ ‘จัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ’ ได้ตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ซึ่งถือเป็นภารกิจใหม่ที่จับต้องได้ หลังเป็นเพียงตัวอักษรที่ปรากฏในอำนาจ และหน้าที่ของ อบจ.ขาดสะพานเชื่อมสู่รูปธรรมที่สัมผัสได้มาอย่างยาวนาน

นี่จึงเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องใหม่สำหรับ อบจ. การมีกลไกสนับสนุนเพื่อสร้างให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่มีประสบการณ์ และคุ้นชินกับการจัดบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพเฉพาะในด้านการแพทย์และการสาธารณสุข หรือ ‘การอภิบาลระบบ’ จะช่วยเสริมศักยภาพให้กับระบบสุขภาพชุมชนที่อยู่ในมือของท้องถิ่น

ศ.วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปาฐกถาพิเศษในเวทีสาธารณะ “จากปฏิบัติการพื้นที่ สู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย : ความท้าทายระบบสุขภาพในมือของชุมชนและท้องถิ่น” ซึ่งจัดขึ้นโดย สช. สวรส. และสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า สิ่งสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะคือกระบวนการที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถควบคุมและปรับปรุงสุขภาพด้วยตนเองได้ ในที่นี้คือการเปิดโอกาสให้กับชุมชนได้จัดการปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับหลักการกระจายอำนาจที่ไม่ใช่รูปแบบการแบ่งอำนาจ แต่เป็นการเอาอำนาจการแก้ปัญหาไปไว้ใกล้กับปัญหา

สำหรับโควิด-19 ได้อธิบายเรื่องสำคัญไว้ 2 เรื่อง คือ 1. การจัดการเชิงพื้นที่ 2. กระจายอำนาจให้พื้นที่จัดการ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าในช่วงการระบาดมีการรวมศูนย์การแก้ปัญหาและปัญหาก็ยังเพิ่มขึ้น แต่เมื่อกระจายอำนาจให้จังหวัดจัดการกลับพบว่าสถานการณ์ดีขึ้น สะท้อนว่าการให้พื้นที่จัดการมีศักยภาพดีกว่า

“ความท้าทายจากระบบสุขภาพในมือของชุมชนและท้องถิ่นจะนำไปสู่ความท้าทายต่อรายองค์กร เริ่มจาก รพ.สต. ก็เจอความท้าทายในการให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน และยกระดับให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ สธ. ก็มีความท้าทายที่เชื่อมโยงกันมา รวมไปถึงความท้าทายในระดับนโยบายที่ถูกร้อยเรียงเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งหมดจะเป็นความท้าทายที่จะนำไปสู่กระบวนการ หรือระบบอภิบาลการทำงานร่วมกัน ด้วยการเอาประชาชนเป็นเป้าหมาย ไม่ใช่เอาประชาชนเป็นตัวประกัน” ศ.วุฒิสาร ระบุ

ตอกย้ำสิ่งที่ ศ.วุฒิสาร ปาฐกถา คือองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัย 2 โครงการ ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ ที่ได้เข้ามาเติมเต็มการปฏิรูประบบบริการสุขภาพในครั้งนี้

สำหรับงานวิจัยทั้ง 2 โครงการ สช. ในฐานะองค์กรสานพลัง มองว่า จะช่วย ‘ต่อยอด’ และ ‘หนุนเสริม’ กันและกันอย่างเป็นระบบ

งานวิจัยชิ้นแรกคือ “โครงการการศึกษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น ภายใต้บริบทการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด” มุ่งไปสู่ภาพใหญ่ระดับจังหวัด คือการอภิบาลหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกัน

งานวิจัยชิ้นที่สองคือ “โครงการยกระดับศักยภาพการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพด้วยนวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด” ที่เกิดขึ้นจากการดอกผลในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 คือศักยภาพของท้องถิ่นและชุมชนในการลุกขึ้นมาวางมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ตลอดจนจัดระบบรับมือกับปัญหา โดยมี ‘ต้นทุนทางสังคม’ ของพื้นที่นั้นๆ เป็นฐาน จนนำไปสู่การสร้าง ‘นวัตกรรมทางสังคม’ อาทิ ระบบอาสาสมัครที่เข้มแข็ง ระบบในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง ระบบการจัดการอาหาร ระบบการจัดการศูนย์แยกกัก/ศูนย์พักคอยในชุมชน ระบบการประสานดูแลและส่งต่อผู้ป่วย ฯลฯ

งานวิจัยชิ้นนี้ จึงมุ่งไปสู่การผลักดันให้ชุมชนพัฒนานวัตกรรมทางสังคมของชุมชน ในขณะที่สถานการณ์ยังไม่วิกฤต เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

สช. และคณะนักวิจัย มองว่า หากสามารถอภิบาลระบบให้เกิดกลไกการทำงานในระดับจังหวัดที่เข้มแข็ง ควบคู่กับการมีนวัตกรรมทางสังคมในระดับพื้นที่ย่อยๆ เข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง ระบบสุขภาพในมือของชุมชนและท้องถิ่นจะช่วยพลิกโฉมสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศได้

จากการศึกษานำมาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่น่าสนใจ เริ่มจากการอภิบาลระบบ อาทิ 1. รัฐควรสนับสนุนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพสู่ท้องถิ่นอย่างเข้มข้นมากขึ้น 2. รัฐต้องสนับสนุนและไว้วางใจชุมชนท้องถิ่นในการเป็นเจ้าของเป้าหมายและมาตรฐานบริการด้านสุขภาพชุมชน เพื่อลดการควบคุมจากส่วนกลาง และปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เพื่อให้ภาคชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมเป็นเจ้าภาพกำหนดทิศทาง ตัวชี้วัด เป้าหมาย และวิธีดำเนินการด้านการอภิบาลสุขภาพของตนเอง และสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ อย่างกว้างขวาง เพื่อช่วยให้คุณภาพของการให้บริการสูงขึ้น 3. คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนและสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ตามแผนงานต่อไป เพราะเป็นแนวทางนโยบายที่ทำได้จริงและเกิดคุณค่ากับสังคมอย่างแท้จริง

ขณะที่นวัตกรรมการจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิ อาทิ ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเจ้าภาพหลักพัฒนาศักยภาพชุมชนเมืองในการสร้างสุขภาวะของชุมชนโดยสอดคล้องกับบริบทและทุนทางสังคม สร้างและสนับสนุนระบบหน่วยพี่เลี้ยงชุมชนเป็นกลไกหลักในการทำงาน สนับสนุนการจัดทำและพัฒนาระบบข้อมูลระบบสุขภาพชุมชนให้มีความเชื่อมโยงข้อมูลระดับชาติและข้อมูลเชิงพื้นที่ ฯลฯ

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากบทเรียนของโควิด-19 ชัดเจนว่าระบบสุขภาพปฐมภูมิมีความสำคัญ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันระหว่างท้องถิ่นและชุมชน เพื่อให้เกิดบริการสุขภาพที่สนองตอบต่อประชาชน ซึ่งการทำให้ระบบสุขภาพที่ทุกคนฝันถึงเกิดขึ้นได้จริง คือการสร้างสังคมสุขภาวะที่ทุกคนจะมีสุขภาพดีได้อย่างเป็นองค์รวมนั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมหรือการสานพลังทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมกัน โดยการใช้พื้นที่เป็นฐาน มองประชาชนเป็นศูนย์กลาง และส่วนใครจะมีบทบาทหน้าที่อย่างไร มีส่วนร่วมช่วยตรงไหนได้บ้าง ก็เข้ามาทำตรงนี้ร่วมกัน

“ข้อสรุปจากผลการศึกษาทั้ง 2 โครงการวิจัยนี้ ทำให้เห็นว่าต้องมีการพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่าง อปท. ซึ่งมีอยู่ 2 กลไกสำคัญ คือสมัชชาสุขภาพจังหวัด และหน่วยวิชาการในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ ตั้งแต่การกำหนดนโยบายไปจนถึงการประเมินผล ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดหน่วยพี่เลี้ยงชุมชน เพื่อเป็นกลไกหลักในการยกระดับชุมชนให้มีศักยภาพ และทดลองนำร่องการสร้างรูปแบบใหม่ๆ ในการบริการ” นพ.สุเทพ กล่าว

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า กว่าที่ประเทศไทยจะพัฒนาระบบสุขภาพมาถึงจุดที่ได้รับการยกย่องเป็นที่ 5 ของโลกนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่เกิดจากการวางรากฐานมาจากอดีตและพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันภายใต้การใช้ข้อมูลความรู้ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนว่า การพัฒนาระบบสุขภาพจำเป็นต้องใช้งานวิชาการในการสนับสนุน และในวันนี้ที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ให้กับท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพปฐมภูมิครั้งใหญ่นั้น หลายเรื่องจำเป็นต้องมีงานวิชาการเป็นหลักให้ทาง อบจ. ซึ่งเป็นผู้เข้ามารับไม้ต่อในการบริหารจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิร่วมกับชุมชน ยึดและนำไปใช้ เช่น การจะจัดซื้อยาเอง การสร้างความร่วมมือในพื้นที่ การรับการจัดสรรงบประมาณค่าบริการจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ฯลฯ ซึ่ง สวรส. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้มีการศึกษาในเรื่องนี้จำนวนมาก และยังจะมีแผนที่จะสนับสนุนต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เฮลั่นไทย 'ชุมชนบ่อสวก' จ.น่าน คว้ารางวัลชุมชนท่องเที่ยวยอดเยี่ยมโลก

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Tourism) ได้มอบรางวัล

ชู 'อบจ.' ขับเคลื่อนงานฟื้นฟูสมรรถภาพ เชื่อมระบบฟื้นฟูกายใจชุมชนครบวงจร

สสส.ชวน อบจ.เข้าร่วมกองทุนฟื้นฟูฯเกิดขึ้นทั่วประเทศ ขณะที่ นายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และ นายกสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยชี้ระบบต้องเชื่อม ฟื้นฟู -กาย -ใจ ชุมชนให้ครบวงจร

'น้ำเจ้าพระยา' ขึ้นสูง! ผวาท่วมตลาด-สถานที่เที่ยวชื่อดัง

น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ลอดใต้พนังกั้นน้ำหน้าตลาดสรรพยา เทศบาลต้องเร่งสูบออก ป้องท่วมตลาดและโรงพัก ร.ศ.120 สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง

ชาวบ้านผวา! แจ้งตำรวจช่วย โจ๋ปาประทัดลูกบอล ยิงปืนทางเข้าชุมชน

พ.ต.อ.รักศักดิ์ เมฆจินดา ผกก.สภ.สำโรงใต้ จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับแจ้งจากนายประเทศ เข็มนิล อายุ 65 ปี ชาว ตำบลสำโรงกลาง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

รัฐบาลลุยต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' ขยายตลาดช่วยชุมชนโกยรายได้

รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' เพิ่มมูลค่าขยายตลาด ช่วยผู้ประกอบการชุมชนโกยรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น