เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านอาหารแห่งชาติระยะแรกที่ 1

คณะกรรมการอาหารแห่งชาติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่1 2566-2570 วาง 4 กลยุทธ์สร้างความมั่นคงทางอาหาร

26 ม.ค.2565 - น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มอบหมายให้นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ, นายพลพีร์ สุวรรณฉวี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ.2566-25670) ซึ่งจะเป็นแผนปฏิบัติการ ระยะเวลา 5 ปี ที่อ้างอิงตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2561-2580) ระยะ 20 ปี ที่มุ่งการเชื่อมโยงทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับอาหาร บูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำคัญคือการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศที่ยั่งยืน ประชาชนได้รับอาหารที่มีคุณภาพ และมีสุขภาวะที่ดีขึ้นจากการได้รับอาหารที่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ ตามแผนปฏิบัติการฯ จะดำเนินจัดการด้านอาหารผ่านกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคงอาหาร ด้านการคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร ด้านอาหารศึกษา และด้านบริหารจัดการ โดยมีเป้าหมายสำคัญ 6 เป้าหมาย ประกอบด้วย 1.จำนวนคนขาดแคลนอาหารลดลง โดยสิ้นสุดแผนปี 2570 จะต้องมีประชากรที่ขาดแคนอาหารไม่เกินร้อยละ 7 ของจำนวนประชากร 2.ปริมาณการสูญเสียอาหาร และขยะอาหารลดลง 3.ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อคุณภาพและความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้น โดย ณ ปี 2570 ระดับความเชื่อมั่นต้องอยู่ในระดับดี

4.มูลค่าการค้าอาหารเพิ่มขึ้น โดยมีตัวชี้วัดเป็นการเติบโตของมูลค่าการส่งออกอาหาร ตั้งแต่ปี 2566-2570 ที่ร้อยละ 3 ต่อปี ดัชนีการส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ต่อปี ดัชนีผลผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ต่อปี 5.จำนวนคนที่มีภาวะทุพโภชนาการ(ขาดและเกิน) ลดลง โดย ณ ปี 2570 เด็กอายุ 0-5 ปี มีภาวะเตี้ยไม่เกินร้อยละ 8 มีภาวะผอมไม่เกินร้อยละ 5 มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนไม่เกินร้อยละ 8 6.มีกลไกประสานงานกลางและบูรณาการดำเนินงาน หลังจากนี้สำนักงาน อย. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ จะเสนอร่างแผนปฏิบัติการฯ ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติและนำสู่การปฏิบัติต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ ข้อเสนอเชิงนโยบายโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนากลไกการจัดตั้ง FFC (Food with Function Claims) Thailand และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งภาคีเครือข่ายต่างๆ ร่วมกันกำหนดแผนการวิจัยบูรณาการ เพื่อให้ได้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือในการสนับสนุนการผลิต ความปลอดภัย และประสิทธิผลของสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่มีผลต่อสุขภาพต่อไป

พร้อมกับเห็นชอบประกาศคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ที่..../2565 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ซึ่งเป็นการปรับปรุงองค์คณะในคณะกรรมการ 4 คณะ ให้มีความเหมาะสมและเป็นปัจจุบัน เพื่อรองรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง และเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลต่อการบูรณาการดำเนินงานของทุกหน่วยงานมุ่งสู่เป้าหมายและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนด้วยความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ คณะกรรมการขับเคลื่อนด้วยคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี และคณะกรรมกาขับเคลื่อนด้วยการบริหารจัดการ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและสร้างความมั่นคงทางอาหาร อาทิ ความคืบหน้าการจัดทำปฏิทินสินค้าเกษตรที่สำคัญรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial crop calendar) เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนเรื่องความมั่นคงอาหารและส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนและท้องถิ่น รับทราบการประเมินความสูญเสียอาหารผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารระดับชาติ เพื่อจัดทำเส้นฐานจำแนกมาตรการลดการสูญเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า และรายงานผลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงรับทราบความคืบหน้าการการขับเคลื่อนและประเมินผลสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายเพื่อการสร้างเสริม สุขภาพของคนไทยตามนโยบาย ลด หวาน มัน เค็ม โดยใช้สัญลักษณ์ โภชนาการอย่างง่าย หรือสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลโภชนาการในรูปแบบสัญลักษณ์โภชนาการต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้อและบริโภคอาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการป้องกันปัญหาภาวะโภชนาการเกินและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs)

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

14 พ.ค.ได้ลุ้น คกก.ค่าจ้างฯ ถกค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ

'คารม' ย้ำขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พิจารณาอย่างเหมาะสมและรอบคอบ เผย 14 พ.ค.นี้ คกก.ค่าจ้างฯ เตรียมประชุมพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ

รัฐบาลกวักมือเรียกผู้กู้ กยศ.ที่ถูกดำเนินคดีเร่งปรับโครงสร้างหนี้ด่วน!

รัฐบาลเชิญชวน ผู้กู้ยืม กยศ. ถูกดำเนินคดีในปี 2557 ที่ยังมีภาระหนี้ค้าง เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาชำระหนี้ ปลดภาระผู้ค้ำประกัน

ไฟเขียวเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติฯ ไม่ถือเป็นวันลา!

รัฐบาลร่วมแสดงความจงรักภักดี และถวายพระราชกุศล เห็นชอบให้รัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติฯ โดยไม่ถือเป็นวันลา

รัฐบาลห่วงยอดโควิดพุ่ง แต่ขอให้มั่นใจโรงพยาบาลพร้อมรับมือ!

'เกณิกา' เผยรัฐบาลห่วงใยยอดโควิดยังพุ่งหลังสงกรานต์ ขอให้ประชาชนมั่นใจโรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมรับมือผู้ป่วยโควิด แนะใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่แออัด รีบตรวจ ATK หากมีอาการคล้ายหวัด