รมช.กลาโหม รับแก้ฝุ่นพิษยาก ชี้เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน-ประเทศเพื่อนบ้าน

รมช.กลาโหม รับแก้ฝุ่นพิษยาก ชี้เกี่ยวหลายหน่วยงาน-ประเทศเพื่อนบ้าน ชี้จุดสำคัญบังคับใช้ กม. เข้ม ยก ‘แม่สายโมเดล’ ปรับสู้ฝุ่นพิษทั่วประเทศ ผ่าน 3 กลไก ‘ระดับชาติ-แม่ทัพภาค-ผู้ว่าฯ’ ดึงมือ ‘เอกชน-อาสาสมัคร’ ร่วมด้วย ชี้จุดแข็งมีประสบการณ์-กระบวนการจัดหาอุปกรณ์ได้เร็วกว่า

27 ม.ค.2568 - ที่กองบิน 41 จ. เชียงใหม่ พลเอก ณัฐพล นสคพาณิชย์รมช. กลาโหม กล่าวถึงแนวทางการปฏิบัติงานของกองทัพอากาศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละอองว่า จากการรับฟังการเตรียมการของกองทัพอากาศ มั่นใจว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า สามารถควบคุมการปฏิบัติการได้ ทั้งนี้รัฐบาลได้จัดตั้งกลไก 3 ระดับ แก้ไขปัญหา ได้แก่ กลไกระดับชาติมีคณะกรรมการอำนวยการฯ ที่มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และ รมว.ดิจิทัลฯ เป็นประธาน , กลไกระดับภาค มีแม่ทัพภาค รับผิดชอบ มีการจัดตั้งแล้วที่กองทัพภาค 3 ดูแล 17 จังหวัดภาคเหนือ และ กลไกระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบบูรณาการ หน่วยงาน ทรัพยากรในพื้นที่แต่ละจังหวัด ซึ่งส่วนแม่ทัพภาคจะบูรณาการในส่วนของจังหวัดที่คาบเกี่ยวกัน ในส่วน กทม. ก็มีคณะกรรมการอำนวยการฯ มีผู้ว่า กทม. เป็นประธาน

“นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้ผมประสาน ทบ. ให้จัดตั้งในส่วนของกองทัพภาคที่ 2 รับผิดชอบในภาคอีสาน และกองทัพภาคที่ 1 ในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะจากสถิติจากห้วงเวลาที่ผ่านมาจะวิกฤตมากขึ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ จึงขอให้หน่วยงานกระทรวงกลาโหมและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเตรียมการแต่เนิ่นๆ” พลเอกณัฐพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ได้พูดคุยกับ ผบ.ทอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมพร้อมในขั้นรับมือเกิดวิกฤติไว้ก่อน ให้บูรณาการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า โดยจัดมารวมอยู่ที่หนึ่งแล้วจัดสรรรไปตามลำดับความเร่งด่วนเท่าที่มีการวิเคราะห์สถานการณ์ได้ จากการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจากเว็บไซด์ของนาซ่า สกัดเป็นข้อมูลตีความจากนั้นใช้ดาวเทียม นภา2 ของ ทอ. ในการถ่ายภาพทางอากาศตีความอีกที และก็นำไปสู่การปฎิบัติการ ด้วยการพิจารณาเลือกมาใช้อากาศยาน หรือ ยูเอวี รวมไปถึงการใช้กำลังภาคพื้นเดินเท้าเข้าไป พิสูจน์ทราบ เพื่อใช้ทรัพยากรที่เหมาะสม คุ้มค่าทั้งหมดนี้คือขั้นตอนการประเมินค่าว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ส่วนที่มองว่าหมอกควันฝุ่นละอองที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นส่วนใหญ่ การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจะตรงจุดหรือไม่นั้น พลเอกณัฐพล กล่าวว่า คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้สรุปสาเหตุของการเกิดไว้จาก 4 แหล่ง คือ จราจร โรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรฯ และประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้มาจากที่ใดที่หนึ่ง จึงต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเร่งแก้ไขพื้นที่วิกฤตก่อน ในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านนายกฯ ก็ได้ไปหารือมาแล้ว ในส่วนของ ทภ.3 ก็มีกลไกในการแก้ไขปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ยาก แต่ก็พยายามแก้ไข

ถ้าถามว่าตรงจุดหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าจุดกำเนิดเยอะมาก และก็มีหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม ร่วมกันหลายหน่วยงาน

“แต่จากที่ผมไปทำงานบริหารสถานการณ์อุทกภัยที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย จะเห็นว่าเมื่อเกิดวิกฤติอะไรก็ตาม ทางภาครัฐต้องบูรณาการทุกภาคส่วนรวมถึงเอกชน จิตอาสาเข้ามา โดยตั้งนี้ ทอ. ได้เชิญสมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ มูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น เข้ามาร่วมด้วย ข้อดีของการมีภาคเอกชน และจิตอาสา คือ มีประสบการณ์ทำงานมานาน เมื่อเกิดปัญหาสามารถเข้าไปได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเขามีอุปกรณ์อยู่แล้วหรือจัดหากันมาได้เลย ขณะที่ ทหารมีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไป ประสบการณ์ไม่ต่อเนื่อง และการใช้เครื่องอุปกรณ์บางอย่างต้องจัดหา กว่าจะได้ต้องใช้เวลา ดังนั้นการบูรณาการทุกภาคส่วนมาให้ครบจะช่วยให้การทงานช่วยประชาชนเกิดประสิทธิผล” พลเอกณัฐพล กล่าว

รมช. กลาโหม กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์วิกฤติ 2 ครั้งคือ น้ำท่วมแม่สาย หน่วยราชการมีการเสนองบประมาณค่อนข้างมาก ครั้งนี้เป็นปัญหา ไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง ก็จะมีความต้องการงบประมาณที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องมาจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนว่าปัญหาใดจะเกิดผลกระทบต่อประชาชน คงไม่สามารถจัดหาได้ตรบถ้วนเต็มความต้องการที่เสนอมา จะดูที่ประเด็น และปัจจัยที่วิกฤติและต้องทำก่อนเป็นหลัก

เมื่อถามว่า จะแก้ไขปัญหายั่งยืนได้อย่างไร พลเอกณัฐพล กล่าวว่า บางอย่างต้องแก้ที่กฎหมาย บางอย่างที่ไม่ใช่กฎหมาย แต่ต้องใช้งบประมาณ แต่จะให้ตอบว่าจะแก้ย่างไร ก็ยังตอบไม่ได้ ซึ่งมีหลายกระทรวงรับผิดชอบ ก็ต้องดูว่าแก้อย่างไร ในฐานะที่ตนอยู่กระทรวงกลาโหมก็มีส่วนร่วมในเรื่องของกระบวนการสนับสนุน ซึ่ง รมว.กลาโหม เห็นว่าตนมีประสบการบริหารสถานการณ์โควิด และที่ อ.แม่สาย ก็ขอให้มาเป็นที่ปรึกษาของศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละอองภาคเหนือ เพื่อให้คำแนะนำ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กค่าฝุ่น PM 2.5 กทม. คุณภาพอากาศภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี

ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เช้านี้คุณภาพอากาศ กทม. อยู่ในเกณฑ์ดี มีเหลืองปานกลางที่หนองจอก วังทองหลาง

ค่าฝุ่น PM2.5  ช่วง 3-8 มี.ค.  มีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลง หลังการระบายอากาศอยู่เกณฑ์ดี

ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร

'จิรายุ' เผยเงินชดเชยช่วยเกษตรกรปลูกอ้อยไม่เผาลดฝุ่น เตรียมรอครม. เห็นชอบ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษากองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ปภ.ช.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรผู้ปลูกอ้อยตามแนวทางไม่เผานั้น กระทรวงอุตสาหกรรม