นักวิชาการ มธ. ย้ำ เก็บภาษีคริปโตฯ ต้องเสมอภาค 'Day trade-ถือครองยาวเกิน 1 ปี' อาจจัดเก็บในอัตราที่ต่างกัน


อาจารย์ธรรมศาสตร์ ชี้ การเก็บภาษีคริปโตฯ ถูกต้องในหลักการการเก็บภาษีที่ดี แต่ต้องออกแบบให้เหมาะสม-เทียบเคียงกับการลงทุนรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างกลุ่มรายได้ ระบุอาจจะต้องพิจารณาอัตราที่จัดเก็บระหว่าง “Day trade และถือยาวเกิน 1 ปี” ที่แตกต่างกัน

27 ม.ค.2565 - ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงการเก็บภาษีจากการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้ในหลายประเทศก็มีการเรียกเก็บภาษีจากการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งโดยหลักการแล้ว การเก็บภาษีจากคริปโตเคอร์ เรนซีถือเป็นความเสมอภาคเท่าเทียมกับการเก็บภาษีจากการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ เนื่องจากเป็นรายได้ประเภทหนึ่ง อีกทั้งผู้ที่มีรายได้จากการลงทุนมักจะเป็นผู้ที่มีฐานะดีกว่ารายได้ประเภทอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี สินทรัพย์ดิจิทัล หรือเหรียญต่างๆ ที่ซื้อขายกันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนมากมิได้ออกโดยผู้ประกอบการในประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายทรัพย์สินที่ออกโดยหน่วยงานในต่างประเทศ ส่วนตัวคิดว่า การเก็บภาษีในอัตราที่สอดคล้องเทียบเท่าที่อื่น จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี

“หากมองว่าการจะพัฒนาคริปโตฯ หมายถึงการออกคริปโตใหม่ๆ ซึ่งตรงนี้ จำเป็นต้องมีการซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนเป็นตลาดรองเพื่อรองรับ ซึ่งหากตลาดรองมีสภาพคล่องมากขึ้น ย่อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในเมืองไทยจะสามารถออกคริปโตฯ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ๆ ได้ ฉะนั้นในส่วนนี้เราก็อาจจะต้องสร้างสมดุลระหว่างอัตราภาษีที่จะจัดเก็บภาษี และจะต้องเทียบเคียงกับการลงทุนอื่นๆ” ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ ระบุ

ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าวว่า การลงทุนคริปโตฯ มี 2 ส่วน ได้แก่ 1. Day trade ซื้อขาย-มีรายได้ทุกวัน ซึ่งในกรณีนี้สหรัฐฯ ก็มองว่าเป็นรายได้คล้ายกับการทำงาน ซึ่งถูกจัดเก็บภาษีในอัตราเดียวกับภาษีเงินได้ 2. การลงทุนที่ถือยาวเกิน 1 ปี ในสหรัฐมองว่าเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งก็จะนับเป็นอีกอัตราหนึ่งเทียบเท่ากับการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ฉะนั้นการคิดอัตราก็จะต้องเทียบเคียงว่าตรงไหนคืออัตราที่เหมาะสม

หากมองในแง่ของความเท่าเทียมกัน ผู้ที่มีรายได้ก็ย่อมต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับส่วนรายได้จากทุกแหล่งของตนเอง ฉะนั้นผู้ที่เป็นนักลงทุนในตลาดทางการเงินถ้าได้กำไรก็ต้องเสียภาษี ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นการลงทุนระยะสั้น-ระยะยาว อย่างไรก็ตาม การซื้อขายในตลาดคริปโตมิได้ก่อให้เกิดกำไรอย่างเดียว ซึ่งในต่างประเทศเมื่อเกิดผลขาดทุนจากส่วนต่างระหว่างราคาซื้อที่สูงกว่าราคาขาย (Capital Loss) นักลงทุนสามารถนำส่วนที่ขาดทุนไปหักกับรายได้ในอนาคตที่ต้องเสียภาษี หากจะให้เกิดความเป็นธรรมก็จะต้องมีระบบที่จะสามารถจัดการในส่วนนี้ได้

“ถ้ามองในแง่ของการเป็นรายได้ เวลาทำธุรกิจก็มีช่วงที่ขาดทุน-ได้กำไร ก็สามารถนำมาชดเชยระหว่างช่วงเวลาได้ ว่าสุดท้ายแล้วรายได้สุทธิเป็นเท่าไหร่ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเรามีรายได้จากการลงทุนก็ควรที่จะต้องเสียภาษีเหมือนกับรายได้อื่นๆ หรือการประกอบอาชีพอื่นๆ แล้วมีรายได้” ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ ระบุ

ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าวว่า การเก็บภาษีคริปโตฯ มีบทเรียนแล้วจากในหลายประเทศ รวมไปถึงการรับฟังความคิดเห็นจากหลายกลุ่ม เช่น หากเก็บแล้วขาดทุนจะต้องทำอย่างไร ซึ่งก็กลายเป็นคำถามว่าระบบจะต้องจัดการอย่างไรเพื่อจัดเก็บข้อมูลที่จะทำให้เสียภาษีได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นภาครัฐที่ได้เงินภาษีก็น่าจะต้องเข้ามาช่วยเหลือนักลงทุนรายย่อยและกระบวนการต่างๆ ในส่วนนี้

ขณะเดียวกันตัวกลาง (Exchange) ที่ได้ค่าธรรมเนียมก็จะต้องมีการช่วยเหลือนักลงทุน จัดข้อมูลให้ง่ายเพื่อลดต้นทุนของนักลงทุนในการจัดการเรื่องภาษี ในต่างประเทศบางตัวกลางจะมีระบบที่สามารถจัดการ คำนวณการซื้อขาย-รายรับเพื่อให้นักลงทุนสามารถเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ ควรจะต้องมีการพูดคุยกันหลายฝ่ายเพื่อให้มีการจัดเก็บภาษีอย่างเหมาะสมและเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงสามารถตอบคำถามได้ว่าควรจะต้องจัดเก็บภาษีในอัตราเท่าไหร่และเทียบเคียงกับรายได้จากแหล่งใด

“จริง ๆ แล้วระบบภาษีของไทยก็ยังมีรายได้ส่วนอื่นที่ยังไม่ได้ถูกจัดเก็บภาษี ตัวอย่างเช่น ภาษี capital gain ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจริงๆ แล้วขนาดของฐานภาษีใหญ่กว่าตลาดคริปโตมาก แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดหลักทรัพย์มีจำนวนมาก ฉะนั้นอาจจะเป็นประเด็นที่ดำเนินการได้ยากกว่ากรณีของคริปโตฯ ถ้ามองในแง่ของความเท่าเทียมกันจริงๆ แล้วควรจะต้องไปเก็บภาษี Capital Gain Tax ในตลาดหลักทรัพย์ด้วยเพื่อให้มีความเท่าเทียมในการลงทุนระหว่างสินทรัพย์ทางการเงิน” ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ ระบุ

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชนติดต่อ
MEDIA HOTLINE : พรศรินทร์ ศรีสวัสดิ์ / 087-171-8944 / [email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บ่อน้ำ' ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของอาจารย์ปริญญา

อาจารย์ปริญญา จบกฎหมายมหาชน จากเยอรมัน จึงน่าจะเป็นเหตุผล ที่ทำให้ อาจารย์ มักแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับกฎหมายของประเทศไทย อยู่หลายๆครั้ง ทำเหมือนไม่รู้ว่า “เมื่อเป็นคนไทยทำผิด ก็

มธ.จัดงาน 'วันสัญญา ธรรมศักดิ์' เปิดวงเสวนายกเคส ชั้น 14 สะเทือนกระบวนการยุติธรรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัด “งานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567” มอบรางวัลนักศึกษากฎหมาย-เรียนดี สืบสานปณิธานปูชนียบุคคลด้านนิติศาสตร์ พร้อมจัดวงเสวนา “กระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนบังคับคดีอาญา” ยกเคสตัวอย่าง “คดีชั้น 14 รพ.ตำรวจ” บนขั้นตอนที่ผิดเพี้ยน สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรม-กฎหมายไทย

ดร.นิว เฮลั่น! หยั่งเสียงเลือกอธิการบดีมธ. 'ปริญญา' ได้ที่โหล่

ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า "โชคดีของ

ดร.นิว ยันมธ.ไม่ได้ล้มเจ้าทุกคน แต่ข้องใจบางคนสาละวนกับเครือข่ายล้มล้างการปกครอง?

ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา

มธ.ผนึก IBM Thailand เปิดหลักสูตรออนไลน์ ‘Data Science -AI' สร้างความรู้-ทักษะสำคัญให้นศ.

‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ จับมือ ‘IBM Thailand’ ทำ MOU ดำเนินโครงการ “Thammasat-IBM SkillsBuild” เปิดโอกาสให้ นศ. เพิ่มความรู้ – ทักษะจำเป็นด้านเทคโนโลยี ผ่านหลักสูตรออนไลน์ 4 กลุ่มวิชาหลัก ‘Data Science – AI – Security - Cloud’ จากบริษัทชั้นนำด้าน IT ระดับโลก