เดินหน้าพิชิตฝุ่นจิ๋วเชิงรุก รู้ทันภัยด้วย Sensor for All

สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 อาจเบาบางลงจนสังเกตเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่า แต่แท้จริงแล้วยังเป็นภัยเงียบที่ไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย การเตรียมความพร้อมเพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เชิงรุกจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ที่เปรียบเสมือน “เครื่องเตือนภัยฝุ่นจิ๋ว” ช่วยตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเตรียมพร้อมรับมือ ดังนั้นยิ่งเซนเซอร์ตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 มีจำนวนมากก็ยิ่งทำให้สามารถแสดงผลค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

“โลกในอนาคตคือโลกที่สนใจสิ่งแวดล้อม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีเครื่องมือชี้วัดคือ เซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ Sensor for All ที่จะเป็นตัวพิสูจน์คุณภาพอากาศที่ดี อันเป็นจุดดึงดูดว่าไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าอาศัย หากเริ่มต้นตรงนี้ไว้แล้วขยายผล สร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการและประชาชนจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ทรรศนะถึงความสำคัญของการติดตั้ง Sensor for All

เชื่อมโยงข้อมูล-ขยายเซ็นเซอร์วัดฝุ่น

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานพลังงานจังหวัดได้ร่วมกันติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ เขื่อน โรงไฟฟ้า โรงงานขนาดใหญ่ สี่แยกไฟแดง หรือเขตถนนที่มีการจราจรหนาแน่น สถานที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัด รวม 500 จุดทั่วประเทศ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพอากาศจากแอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ และแอปพลิเคชัน Dustboy ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้มีข้อมูลคุณภาพอากาศแสดงผลในแอปพลิเคชัน Sensor for All รวมกว่า 1,200 จุด ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจเช็คข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ได้ถึง 3 ช่องทาง คือ แอปพลิเคชัน Sensor for All, ทางเว็บไซต์ https://sensorforall.com/ และจอแสดงผลคุณภาพอากาศ (Display Billboard) ตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ทั่วประเทศ

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ติดตั้ง Sensor for All และเชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพอากาศจากเครือข่ายพันธมิตรหลายหน่วยงาน รวมถึงพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ แอปพลิเคชันการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ นวัตกรรมการดูแลคุณภาพอากาศ และศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ เพื่อเป็นข้อมูลและสารสนเทศของคุณภาพอากาศที่ประชาชน ชุมชน และสังคมทุกภาคส่วน ได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง

ด้าน ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการพัฒนานวัตกรรม Sensor for All ว่า ถ้ามอง Sensor for All ในเชิงเทคโนโลยีอาจไม่ได้เป็นนวัตกรรมที่ล้ำลึก  แต่หากมองในเชิงสังคมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อมีข้อมูลแจ้งเตือนภัยเรื่องฝุ่นในพื้นที่ ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดการตอบสนองเพื่อสั่งการและแก้ปัญหาโดยไม่ต้องรอหน่วยงานส่วนกลาง ทำให้สามารถจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ไม่ใช่แค่แจ้งเตือน...แต่ขยายผลแก้ปัญหาจริง

ภายหลังจากการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ ยังพบว่า หลายพื้นที่สามารถนำข้อมูลที่ปรากฎภายใน Sensor for All ไปใช้กำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาได้ทันที อาทิ

จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดปัญหาหมอกควันบ่อยครั้ง นายอดิศร แดงเรือน ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 เปิดเผยว่า ภายหลังที่มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัด PM2.5 นอกจากใช้สำหรับดูข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้ด้วย

“เบื้องต้นเราก็อธิบายว่า ลักษณะอากาศที่เลวร้ายเป็นอย่างไร อากาศที่ดีเป็นอย่างไร แล้วเราควรจะใช้ชีวิตอย่างไรในสภาพอากาศภาวะต่าง ๆ ซึ่งนักเรียนก็ให้ความสนใจ ถ้าวันนี้มองไปทัศนวิสัยไม่ดีก็จะเช็คอากาศใน Sensor for All ซึ่งสามารถติดตามได้ทุกครั้ง”

เช่นเดียวกับที่จังหวัดเชียงราย นายกิตติภพ เพ็ชรเม็ด วิศวกรปฏิบัติการ สำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงราย ระบุว่า ในช่วงเวลาปกติจะติดตามข้อมูลอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ถ้าช่วงที่ฝุ่นละอองมากในฤดูร้อนจะติดตามทุกวัน ซึ่งผลการตอบรับการใช้แอปอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะจำนวนเซนเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ในจังหวัดมีการกระจายตัวมาก ทั้งในอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอพาน อำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงป่าเป้า ทำให้ค่าที่วัดได้เป็นค่าที่แท้จริงในพื้นที่นั้น และสามารถติดตามได้ทุกที่ทุกเวลา

ส่วนพื้นที่เขตเมืองอย่างเทศบาลนครปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศประมาณ 40 จุด ในบริเวณที่ประชาชนมีความเปราะบางทางสุขภาพ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์ดูแลผู้พิการ เพื่อนำข้อมูลมาใช้สำหรับวางแผนในการบริหารจัดการเมือง

“เทศบาลปากเกร็ดได้มีการประยุกต์นำข้อมูลมาใช้เพื่อวิเคราะห์ว่า แต่ละจุดมีแหล่งกำเนิดฝุ่นมาจากอะไรบ้าง เช่น สภาพการจราจร การก่อสร้าง หรือการเผาในที่โล่งแจ้ง ซึ่งเรามีอำนาจในการเข้าไปจัดการและควบคุมตรงนั้นได้ อีกทั้งยังนำข้อมูลเหล่านี้ไปบอกกับประชาชนว่าควรจัดการเรียนการสอนอย่างไรหากช่วงนั้นปริมาณฝุ่นมาก ซึ่งประชาชนก็สามารถเข้าถึงได้จากจอแสดงผลที่ติดตั้งอยู่ในชุมชน แอปพลิเคชัน หรือไลน์ได้” นายณัฐพงศ์ ศรีสว่าง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ สำนักการช่าง เทศบาลนครปากเกร็ด กล่าว

การพัฒนาแพลตฟอร์มตรวจวัดคุณภาพอากาศ Sensor for All นับเป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่นเชิงรุก เพราะมิใช่เพียงการเพิ่มจำนวนเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ที่ติดตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเตือนภัยเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้เกิดการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมในการตระหนักเฝ้าระวัง วางแผนรับมือ ตลอดจนแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นร่วมกันได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กฟผ.ชวนสัมผัส “ELEXTROSPHERE โลกใหม่ Right คาร์บอน” โซนใหม่ศูนย์การเรียนรู้ จัดเต็มความรู้คู่ความสนุก พบกัน 2 เมษายนนี้!

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง เป็นโครงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มุ่งทำขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์การแบ่งปันองค์ความรู้สู่สังคม หรือ Learning for Society

กระทรวงทรัพย์ฯ สั่งคุมเข้มแก้ฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ ช่วงสงกรานต์

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนจะ