อดีตรมว.ยุติธรรม ลั่น!ใครไม่เอาม.112 ม.116 ก็แล้วแต่ แต่ผมเอา และจะปกป้องทั้งสองมาตรานี้ตลอดไป

'พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค' เฉ่ง 'ชัยเกษม' สวมเสื้อพรรคการเมืองแล้วสีน้ำเงินมันหายไปจริงๆ เผยไม่มี “นักโทษทางความคิด” ในคุกไหนทั้งนั้น ใครไม่เอามาตรา 112 ไม่เอามาตรา 116 ก็แล้วแต่ แต่ผมเอา และจะปกป้องทั้งสองมาตรานี้ตลอดไป

2 พ.ย.2564 - นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อดีตรมว.ยุติธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ระบอบประชาธิปไตยมิใช่มีเพียงแค่การมีสิทธิเสรีภาพเท่านั้น แต่ระบอบประชาธิปไตยต้องมีขอบเขตและมีกฎกติกาของการใช้สิทธิเสรีภาพด้วย โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการคิดและการพูด มิฉะนั้น ก็จะทำให้เกิดข้อพิพาทวุ่นวายกันทั้งประเทศจนหาข้อยุติไม่ได้ นำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยในที่สุด การเคารพกฎกติกาจึงเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตย นั่นคือการเคารพกฎหมาย กฎหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็นในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นกฎกติกาของการใช้สิทธิเสรีภาพให้อยู่ใน “กรอบของความพอดี” ไม่ใช่ใช้สิทธิเสรีภาพเกินเลยจนไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น หรือทำร้ายผู้อื่น หรือทำให้บ้านเมืองเสียหาย

เรามีสิทธิเสรีภาพที่จะไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ของกฎหมาย และลำพังแต่ “ความคิด” ไม่เห็นด้วยนี้ ไม่อาจทำให้เรามีความผิดและตกเป็นนักโทษตามกฎหมายได้ แต่ถ้าเราลงมือกระทำในสิ่งที่กฎหมายกำหนดเป็นความผิดเมื่อใดแล้ว นั่นคือการทำลายกติกาทำลายประชาธิปไตย ที่ทำให้เราต้องตกเป็นนักโทษและต้องรับโทษตามกฎหมาย นี่เป็นกฎกติกาของระบอบประชาธิปไตยในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งหลักความรับผิดทางอาญาต้องมีองค์ประกอบครบ 3 ประการ คือ

1) คิดว่าจะกระทำการที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิด

2) ตกลงใจว่าจะกระทำตามที่คิดนั้น และ

3) ลงมือกระทำการนั้น

เพราะฉะนั้น เพียงแค่คิดแต่ไม่มีการลงมือกระทำ ก็ไม่มีความผิดอาญาและไม่มีโทษตามกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มี “นักโทษทางความคิด” ในคุกไหนทั้งนั้น

“นักโทษทางความคิด” ที่อยู่ในคุกจึงไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงการอุปโลกน์ดัดจริตเล่นสำนวนขององค์กรต่างชาติและนักการเมืองสั่วๆ ที่คิดเป็นแค่สร้างกระแสโหนกระแสเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเองโดยไม่มีความรับผิดชอบต่อศักดิ์ศรีและความเสียหายของชาติบ้านเมือง

กฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 เป็นกฎหมายที่เป็นกฎกติกาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งแต่ละประเทศทั่วโลกก็ล้วนมีกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐเช่นนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ต่างกันก็แต่ในรายละเอียดและวัฒนธรรมประเพณี เช่น สเปน สวีเดน เดนมาร์ก บรูไน มาเลเซีย ภูฏาน หรือแม้แต่อังกฤษ และอีกหลายๆ ประเทศที่มีระบบกษัตริย์ ก็ล้วนแต่มีกฎหมายคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับมาตรา 112 ของไทยทั้งนั้น

สำหรับประเทศที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ใช้ระบบประธานาธิบดี เช่น สหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศในแถบยุโรป ก็มีกฎหมายที่เอาผิดจำคุกคนที่ดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายประธานาธิบดีของเขาเช่นกัน และในบางคดีก็มีโทษมากกว่าโทษตามมาตรา 112 ของเราเสียด้วยซ้ำ แต่ทำไมไม่เห็นมีการเรียกร้องกล่าวหาของประชาชนในสหรัฐอเมริกาและในหลายๆ ประเทศเหล่านั้นว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นการจำกัดความคิดเห็นทางการเมือง ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักความยุติธรรมของประเทศ ต้องยกเลิกให้หมด องค์กรต่างชาติที่เข้ามาวุ่นวายในบ้านเราก็ไม่เคยเช้าไปยุ่งวุ่นวายเรื่องนี้ในประเทศเหล่านั้น แล้วทำไมถึงต้องเข้ามาวุ่นวายแต่กับประเทศไทย ประเทศที่มีวันนี้ได้เพราะบรรพกษัตริย์และบรรพบุรุษนักรบของเราแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต

สำหรับมาตรา 116 ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐโดยตรง ความผิดตามมาตรา 116 มี 3 ประการ คือ ต้องเป็นการกระทำเพื่อ

1) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

2)ทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และ

3) ทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

หากใครกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นจนบ้านเมืองย่อยยับแต่คนทำไม่มีความผิด บ้านเมืองจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร คงไม่มีประชาชนที่เป็นพลเมืองดีและเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศคนไหนอยากให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ เพราะฉะนั้น อย่าอ้างสั่วๆ ว่าประชาชนเรียกร้อง เพราะมาตรา 112 และมาตรา 116 ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองหรือความคิดทางการเมืองเลย

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ประชาชนคนทั่วไปก็เข้าใจได้ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องเป็นคนที่อยู่ในวงการกฎหมายหรือรับราชการจนได้ดิบได้ดีได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอัยการสูงสุดหรือตำแหน่งสูงสุดทางราชการใดๆ จึงจะเข้าใจได้ แต่แปลกที่บางคนตั้งแต่เรียนกฎหมายจนสอบได้เนติบัณฑิต ก็เข้าใจและไม่เคยเห็นแย้งกับหลักกฎหมายนี้ พอมารับราชการจนได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่เป็นโตก็ยึดปฏิบัติตามหลักกฎหมายนี้ ไม่เคยพูดไม่เคยแสดงความคิดเห็นสักแอะว่าหลักกฎหมายนี้มันจำกัดความคิดเห็นทางการเมือง สร้างผลกระทบให้ประชาชน ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศเสียหาย ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักความยุติธรรมของประเทศ ต้องยกเลิกให้หมด ก็ถ้าคิดสั่วๆ แบบนี้จริงๆ แล้วทำไมก่อนหน้านี้ตอนเรียนกฎหมาย ตอนอยู่ในตำแหน่งราชการ จึงไม่แสดงความเห็นออกมา ไม่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 มาตรา 116 เสียตั้งแต่ตอนนั้นล่ะ ทำไมต้องรอมาจนอายุปูนนี้ หรือว่าเมื่อสวมเสื้อพรรคการเมืองแล้วสีน้ำเงินมันหายไปจริงๆ

ใครไม่เอามาตรา 112 ไม่เอามาตรา 116 ก็แล้วแต่ แต่ผมเอา และจะปกป้องทั้งสองมาตรานี้ตลอดไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘พีระพันธุ์’ สั่งปลัดพลังงาน จับตาผลกระทบด้านพลังงาน สงคราม ’อิหร่าน-อิสราเอล’

รมว.พลังงานเผยสั่งการให้ท่านปลัดฯและหน่วยงานทุกหน่วยของกระทรวงพลังงานติดตามรายงานสถานการณ์ คาดการณ์ผลกระทบและแนวทางในการรับมือด้านพลังงานตลอดเวลาเช่นกัน

'พีระพันธุ์' สยบข่าวนายกฯสำรอง ยันไม่มีดีลอะไรทั้งนั้น ส่วนลุงตู่ไม่ยุ่งเรื่องการเมือง

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวเตรียมเป็นนายกรัฐมนตรีสำรองว่า ไม่มี พูดกันไปเอง คิดกันไปเอง ไม่มี ดีลอะไรไม่มีทั้งนั้น

ทำลายสถิติ! ผู้ต้องขังยังเพิ่มพุ่ง 46 คน คดี ม.112 เกินครึ่ง ผู้อดอาหารประท้วงยังถูกขังต่อ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ปัจจุบัน (4 เม.ย. 2567) มีผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เนื่องจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก อย่างน้อย 46 ราย ในจำนวนนี้เป็นคดีมาตรา 112 เกินกว่าครึ่ง เป็นจำนวน 28 คน

อึ้ง! เปิดคำฟ้อง 'ตะวัน-แฟรงค์' บีบแตร ขับรถแทรก ไล่ติดตาม ขบวนเสด็จ ท้าทาย-ดูหมิ่น

'แฟรงค์ได้ร่วมกันบีบแตรรถยนต์ตลอดเวลาเสียงดังยาว 1 - 2 นาที และขับรถยนต์แทรกคันอื่น ๆ ที่หยุดรอขบวนเสด็จ เพื่อขับแทรกเข้าไปในเส้นทางของขบวนเสด็จที่กำลังเคลื่อนผ่านบริเวณทางต่างระดับมักกะสันที่รถยนต์ของผู้ต้องหาทั้งสองคนอยู่ ต่อมาเมื่อขบวนเสด็จผ่านไปแล้ว จำเลยทั้งสองคนได้ขับรถไล่ติดตามขบวนเสด็จไปในระยะกระชั้นชิดและบีบแตรลากยาวโดยไม่มีเหตุอันควร'