ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานเจ้าภาพการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ ๓๐ หรือ APPF ครั้งที่ ๓๐ แถลงข่าวภายหลังพิธีปิดการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชีย และแปซิฟิก ครั้งที่ ๓๐ ณ รัฐสภา

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานเจ้าภาพการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ ๓๐ หรือ APPF ครั้งที่ ๓๐ และประธานคณะกรรมการบริหาร แถลงข่าวภายหลังพิธีปิดการประชุม โดยมี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง และประธานคณะอนุกรรมการแต่ละด้าน ร่วมในพิธี

โดย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น แต่ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น คือปัญหาระหว่างประเทศรัสเซียกับยูเครน ซึ่งประเทศออสเตรเลียได้เสนอในเรื่องของสมาชิกภาพ คือ
การปลดออกจากองค์กรนี้ จึงได้ขอความเห็นจากที่ประชุมซึ่ง ๒ - ๓ ประเทศ รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ไม่ต้องการให้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตามสมาชิกมีสิทธิ์ที่จะเสนอหัวข้อการประชุมซึ่งหัวข้อหลักของการประชุมคือ การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาหลังโควิด-๑๙ เมื่อสมาชิกนำเรื่องสมาชิกภาพมาหารือ ตนในฐานะประธานฯ จึงเสนอให้นำเรื่องนี้ไปพิจารณาในครั้งต่อไปโดยประเทศผู้เสนอจะต้องได้รับมติมาจากสภาของแต่ละประเทศในการตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนแปลงสมาชิกภาพของประเทศใดประเทศหนึ่งหรือไม่ ไม่ควรเป็นความเห็นเพียงคนเดียวมาเสนอ ซึ่งเรื่องนี้ก็จบด้วยดี และแนะนำให้ดำเนินการโดยพิจารณาในครั้งต่อไปและขอให้แต่ละประเทศขอมติจากรัฐสภาของประเทศนั้น ๆ มา มิฉะนั้นอาจส่งผลกระทบกับการต่างประเทศด้วย เรื่องที่สอง ขอให้เปลี่ยนวาระการดำรงตำแหน่งจาก ๔ ปีเหลือ ๒ ปี คณะกรรมการและคณะกรรมาธิการทุกคณะที่ดูแลอยู่ เพื่อให้ข้อสรุปทั้ง ๑๑ เรื่อง ผ่านไปได้โดยเอกฉันท์ ฉันทามติการประชุมสำเร็จโดยไม่มีปัญหาเรื่องการไม่ได้รับข้อมติ หรือมีประเทศใดประเทศหนึ่งคัดค้านไม่เป็นเอกฉันท์ จบลงด้วยดีด้วยการพูดและทำความเข้าใจว่าเป้าหมายหลักหัวข้อของการประชุมคืออะไร ขอให้ทุกคนร่วมกันอภิปรายอย่างเต็มที่และจบลงด้วยการเห็นด้วยของทุกฝ่าย ถือว่าข้อสรุปทั้ง ๑๑ ข้อ ได้รับความเห็นชอบทั้งหมด

นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานคณะทำงานด้านการเมืองและความมั่นคง กล่าวว่า ในที่ประชุม
มีการถกแถลงพอสมควร ทุกประเทศได้แสดงความเห็นและยึดโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองและสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน จนในที่สุดก็จบลงด้วยดีเพราะมีข้อบังคับของการพิจารณา APPF เป็นหลักและยืนตามข้อมตินั้น ประการแรกที่เป็นหัวข้อที่อยากจะนำเสนอคือ การพัฒนา
หลังโควิด-๑๙ ในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าในระหว่างที่เจอปัญหาการแพร่ระบาดของ โควิด-๑๙ มีหลายกรณีในหลายประเทศที่ความเป็นประชาธิปไตย อิสรภาพถูกจำกัด โดยธรรมชาติ
ในการแก้ไขปัญหาโควิด-๑๙ อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีข้อมติร่วมกันว่าหลังจากนี้จะมีมาตรการในการกำหนด และขอให้ไม่ลืมสถานะของความเป็นประชาธิปไตยและค่านิยมความเป็นประชาธิปไตยมายึดโยงไว้ในมาตรการทุกอย่างในการนำเสนอโดยรัฐบาลโดยการกำกับดูแลของรัฐสภาแต่ละประเทศ ปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้นข้ามพรมแดน ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างสมาชิกสภาของแต่ละประเทศมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โอกาสของการประชุมเช่นเดียวกับการประชุม APPF นี้ เป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิด วิธีการ โครงสร้างของกฎหมายและมีการปรับปรุงกฎหมายภายใน เพื่อสามารถจัดการกับปัญหาที่ข้ามพรมแดนได้ดีมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคและในกลุ่มของเอเชียและแปซิฟิก จะเห็นว่าการพัฒนาคาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ทุกประเทศมีการถกแถลงร่วมกันและในที่สุดจากการแลกเปลี่ยนที่ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันด้วยความเกรงใจซึ่งกันและกัน จึงสามารถได้ข้อยุติในข้อมตินี้ ส่วนอีกหนึ่งข้อมติที่เกี่ยวข้องกับการใช้พิธีการทูตทางรัฐสภา ขอให้พักการพิจารณาไว้ก่อนและนำกลับมาอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะทำงานด้านเศรษฐกิจและการค้า กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติใน ๒ ประเด็น คือ การที่ทุกฝ่ายเห็นว่าการฟื้นฟูภายหลังโควิด-๑๙ ในด้านเศรษฐกิจต้องพึ่งเรื่อง
ของเศรษฐกิจสีเขียว ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพและประเทศในเอเชียและแปซิฟิกล้วนแล้วแต่มีทรัพยากรที่ดีคือ ประเทศที่อยู่ติดมหาสมุทรมีความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ทรัพยากรทางบก และทางน้ำ สภานิติบัญญัติของแต่ละประเทศต้องสร้างการสนับสนุนและความร่วมมือระหว่างภูมิภาค ให้ทุกคนช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นตัวจักรสำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
ที่อยู่ในภูมิภาค ประเด็นต่อมา ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทุกชาติต้องอาศัยการเชื่อมโยงผ่านทางเทคโนโลยีดิจิทัลนำไปสู่การค้า โดยที่ไม่จำเป็นต้องเห็นตัวตนกันและเชื่อว่าเรื่องแบบนี้จะต้องช่วยกันส่งเสริม และผลักดันต่อเพื่อก้าวข้ามกำแพงกีดกันชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่มักจะมองข้ามไปคือมีคนจำนวนมากตามชายขอบของสังคมหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่เข้าไม่ถึงระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องพยามผลักดันเพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านนี้ให้มากยิ่งขึ้น

นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ประธานคณะทำงานด้านความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณา ๓ เรื่องคือ ๑. การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีที่จะลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
การทำให้ก๊าซกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ จะมีการประชุมของสหประชาชาติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางอากาศที่ประเทศอียิปต์ เลขาธิการสหประชาชาติจะออกมาเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ยึดถือแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกและลดอุณหภูมิของโลกให้เหลือ 1.5 องศาเซลเซียสเพราะจากเหตุการณ์โลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาก๊าซและน้ำมันขึ้นสูงทำให้หลายประเทศหันกลับไปใช้ถ่านหิน ซึ่งมีผลกระทบต่อเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ว่าจะลดอุณหภูมิของโลกให้ไม่เกินร้อยละ ๒และเหลือร้อยละ 1.5 ในที่สุด รัฐสภาของประเทศเอเชียแปซิฟิกยืนยันว่า จะสนับสนุนเป้าหมายเดิมคือลดอุณหภูมิของโลกร้อยละ 1.5 นี่คือข้อความที่จะส่งไปยังการประชุมสหประชาชาติที่ประเทศอียิปต์

๒. มีการเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วจัดสรรงบประมาณปีละ 100,000,000,000 เหรียญสหรัฐเพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางอากาศ ทุกประเทศซึ่งเป็นข้อเสนอจากแคนาดาทุกประเทศที่อยู่ในกลุ่มภูมิภาคสนับสนุนประเด็นนี้ ๓. เรื่องการท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ เสนอให้ที่ประชุมการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-๑๙ ควรมีมาตรการต่าง ๆ ที่ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวจะต้องสอดคล้องและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสีเขียว ขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังดำเนินนโยบายที่เน้นเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว การฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยวต้องเป็นไปตามการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) ที่จะพัฒนา ๓ เศรษฐกิจ รวมทั้งเกษตรสีเขียว ที่ประชุมของประเทศสมาชิกรับ BCG Model ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ นอกจากนี้ ได้เสนอประเด็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยว ควรให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้มาโดยตลอด ที่ประชุมยอมรับเป้าหมายในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวพยายามที่จะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตสินค้าที่มีคุณค่าเพื่อส่งเสริมสถานะของท้องถิ่นซึ่งคือ OTOP ที่ประเทศไทยทำกันมานานแล้วและที่ประชุมรับข้อเสนอนี้ไป นอกจากนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจจะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับประชาชนและท้องถิ่นในการสร้างสินค้าที่จะนำรายได้มาสู่ท้องถิ่นส่วนในเรื่องสาธารณสุขพื้นฐานชี้ให้เห็นว่าสาธารณสุขพื้นฐานเป็นปัจจัยที่สำคัญมากจะทำอย่างให้สาธารณสุขเข้าถึงประชาชนทุกคน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีการเน้นย้ำว่าทุกประเทศตั้งเป้าหมายเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตั้งงบประมาณร้อยละ 1 ของ GDP สำหรับใช้ในการส่งเสริมสาธารณสุขท้องถิ่น ทุกประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกันขึ้นมาใหม่ ใช้มรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศเชื่อมโยงกัน เพื่อทำเป็นเส้นทางใหม่สำหรับการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา ประธานคณะทำงานด้านสมาชิกรัฐสภาสตรี กล่าวว่า ทุกคนมีความหวังว่าเราจะได้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันในแต่ละหัวข้อ ซึ่งข้อมติของสมาชิกรัฐสภาสตรีมี ๒ ข้อ คือเรื่องของการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคต ส่วนเรื่องที่สองคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-๑๙ บทบาทของสตรีในการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจภายหลังภาวะโควิด ด้วยการเพิ่มศักยภาพบทบาทของสตรี ไม่เฉพาะในเรื่องการเมืองเท่านั้นในภาคเอกชนภาคธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งชุมชน กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของเรื่องของสารสนเทศและดิจิทัล

 นายกิตติ วะสีนนท์ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วม กล่าวว่าคณะกรรมาธิการพยายามยกร่างข้อมติฯ โดยไม่กล่าวถึงความขัดแย้ง การจัดงบประมาณให้สอดคล้องกับเพศ ได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศ ความมั่นคงทางไซเบอร์ได้รับความสนใจจากหลายประเทศได้เข้ามาร่วมให้การสนับสนุนและในที่สุดทั้งสองร่างนี้ได้รับฉันทามติ ประเด็นสำคัญคือใช้ระเบียบของการประชุม APPF ที่ต้องใช้ฉันทามติเป็นหลัก ซึ่งแถลงการณ์ร่วมผ่านความเห็นชอบด้วยดีกับอีกสองข้อมติและได้รับมอบหมายเรื่องให้ดูข้อมติที่มาจากคณะทำงานทั้ง ๔ คณะ ส่วนเรื่องคาบสมุทรเกาหลีขอให้ผู้เสนอไปหารือกันเอง
ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับด้วยดี

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด การประชุมเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่หมุนเวียนไปยังประเทศอื่น ๆ ครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกที่ได้มาร่วมพบปะเจอหน้ากัน ถือว่าเป็นการแสดงถึงความพร้อมของประเทศไทย
ในหลายด้าน ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการท่องเที่ยวและการเป็นที่รู้จักของประเทศไทยในทิศทางที่ดี ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจกัน  ขอบคุณกรรมาธิการที่ให้ความร่วมมืองดประชุมในช่วงสามวันนี้เพื่อให้การทำงานเป็นไปโดยเรียบร้อยไม่มีปัญหา ตลอดจนขอบคุณสื่อมวลชนทุกคนที่ให้ความสนใจและนำเสนอข่าวจนทำให้การประชุในครั้งนี้ลุล่วงไปด้วยดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วันนอร์' ชี้ประเด็นใหญ่การเมืองปีหน้า ประชาชนติดตามใกล้ชิด

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองปี 2567 ว่า ปีหน้าประชาชนคงจะได้ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด เพราะมีหลายเรื่องที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เพื่อให้ประเทศเปลี่ยนแปลง เช่น เรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่คงมีความคืบหน้าในการทำประชามติ

ในหลวง พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม เฝ้าฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร นำ นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ (Mr. Vuong Dinh Hue)

ศาลรธน.ไม่รับคำร้อง'วันนอร์' เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ปมโหวต 'พิธา' เป็นนายกฯ

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่นายบัณฑิต พุ่มทิพย์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 48 ว่าการกระทำของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธาน