ประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อ มักจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนในชุมชนมาโดยตลอด และยิ่งในประเทศไทยเองหลายพื้นที่ มักจะมีวัฒนธรรมหรือความเชื่อเฉพาะทาง ที่เป็นทั้งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจหรือสร้างความฮึกเหิม สร้างความเชื่อมั่น และเสริมสิริมงคลให้กับพื้นที่หรือคนในชุมชน เช่นเดียวกับพื้นที่ชุมชนบ้านดอยช้าง (ป่าแป๋) ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ที่เป็นชุมชนปกาเกอะญอ มีวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และมีการรักษาวัฒนธรรมชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งประวัติหรือตำนานความเป็นชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ (ต่าหลู่เก่อชอ) คือเป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งมายาวนานมากผู้เฒ่าหลายท่านคาดการณ์ว่า น่าจะมาพร้อมกับเมืองหริภุญไชยเป็นเมืองของคนจังหวัดลำพูนปัจจุบัน ซึ่งถ้าเดินขึ้นไปที่บนดอยช้างและมองไปรอบ ๆ ก็จะมองเห็นแต่ละทิศมีทั้งก้อนหินใหญ่ และหน้าผาสูง
การสำรวจในครั้งนั้น ก็ได้เล็งเห็นในการจัดตั้งหมู่บ้านและได้มีการวางแผนจัดตั้งที่ขุนห้วยแห่งหนึ่ง ชื่อว่า แม่สิคี เป็นการจัดตั้งหมู่บ้านครั้งแรกและประชาชนก็ได้อาศัยชุมชนแห่งนี้มาระยะหนึ่ง ก็ได้มีการโยกย้ายถิ่นฐานอีกหลายครั้งหลังจากเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายจนสุดท้าย ชุมชนก็ย้ายมาอยู่ที่แห่งใหม่ ชื่อว่า “เชอโกล้ะ” และชุมชนตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน
บ้านเชอโกล้ะ ปัจจุบัน เรียกว่า “ดอยช้างป่าแป๋” สำหรับชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋คนทั่วไปจะรู้จักกันหรือเรียกชื่อทั่วไปว่า “ดอยจ้ะโข่” (ดอยหรือภูเขาของช้าง) ลำดับที่ตั้งหมู่บ้าน 1.แดลอแม่สีคี (หนองกวาง) 2.แดลอหย่าลิเด (ห้วยปลาก้าง) 3.แดลอปู (มอนอโกล้ะ) และ 4.เดลอเชอโกล้ะ
การจัดตั้งหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ ครั้งแรกจะมีการความเชื่อในการตั้งศาลเจ้าที่ ในการปกปักรักษาหมู่บ้านไว้ 3 จุด ซึ่งชาวบ้านหรือผู้นำในชุมชนเรียกว่าสถานที่ประกอบศาลเจ้าที่มีจำนวน 3 จุดด้วยกัน และผ่านการสืบทอดการปกครองมาหลายสมัยที่มาพร้อมกับความเป็นผู้นำทางจารีตประเพณี ผู้นำทางพิธีกรรม ทางความเชื่อ ช่วงเวลานั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมบูรณ์ทั้งระบบความเชื่อ พิธีกรรม จารีตประเพณี ผู้คนก็สามัคคี กันเป็นอย่างดี จนมาถึงนาย แปล๊ะทูที่ได้ปกครองรองหมู่บ้านแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน
ซึ่งจากความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมต่าง ๆ จึงทำให้เกิดพิธีกรรมมากมายในชุมชน เช่น “หลื่อทีโค๊ะ” หรือ เลี้ยงเจ้าที่ตาน้ำ พิธีกรรมนี้เป็นพิธีกรรมอ่อนน้อมต่อดินน้ำป่า ชาวกะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋ สืบทอดปฏิบัติกันมา ตั้งแต่บรรพชน ทุกปีก่อนถึงฤดูกาลจะทำนา เจ้าของนาแต่ละแปลงจะนัดกันประกอบพิธีกรรมนี้ โดยที่ไม่ตรง กับวันพระ พิธีกรรมนี้ จะเริ่มในช่วงปลายเดือน พ.ค. หรือต้นเดือน มิ.ย. ขึ้นกับความเปลี่ยนแปลง เหมาะสมในฤดูกาลนั้นๆ เป็นการบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์ว่า ถึงฤดูกาลทำนาแล้วและขอดลบันดาลให้น้ำ ให้ฝน มีความชุ่มฉ่ำ ดูแลชุมชน ลูกหลานให้รอดพ้นปลอดภัยจากภัยอันรายใดๆ ทั้งสิ้น โดยคนกะเหรี่ยงเชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์เจ้าป่าเจ้าเขา สิงสถิตอยู่ทุกแห่งหน
เมื่อมีการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีความเชื่อในเรื่องนี้จึงนำไปสู่การดูแลรักษาป่าและทรัพยากรธรรมชาติในหมู่บ้าน ไม่ล่วงล้ำ ไม่ทำลายต่อไป จึงทำให้ชุมชนบ้านดอยช้างมีกิจกรรม การใช้ชีวิตและการกินอยู่ที่พึ่งพาอาศัยกับธรรมชาติอย่างพอดี จนได้รับการประกาศเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อปี 2553
สำหรับจุดเด่นในงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนนั้น นายบัญชา มุแฮ หรือ ดิปุ๊นุ เยาวชนในหมู่บ้าน เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า เนื่องจากว่า ทุกปีนั้นสถานการณ์ไฟป่าทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การดับไฟลำบาก ดับเปลวไฟหมดแล้ว แต่เชื้อไฟที่ไหม้ติดขอนไม้ ตอไม้ ท่อนซุง ลุกโชนขึ้นมาอีก จึงต้องใช้เวลานานที่จะช่วยการดับไฟป่าดับได้อย่างสนิท จึงทำให้การดับไฟนั้นเปลืองพลังงานคน
นายดิปุ๊นุ จึงมีแนวคิดการนำถังเหล็ก 200 ลิตร ไปติดตั้ง ตามจุดที่เป็นสันดอยแนวกันไฟ เพื่อรองน้ำฝนในช่วงหน้าฝน มีการขุดสระเก็บกักน้ำบนดอยสูง มีการทำแนวกันไฟ หรือในภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “วะ-เหม่-โต” เป็นภูมิปัญญาการทำแนวกันไฟรอบไร่หมุนเวียนตั้งแต่สมัยบรรพชน ซึ่งได้ต่อยอดมาเป็นครั้งที่ 2 และเยาวชนในชุมชนมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการดำเนินงานครั้งนี้
โดยมีขั้นตอนในการทำงานดังนี้ 1.แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับการดำเนินการ ขอมติในที่ประชุมเพื่อเห็นชอบร่วมกัน 2.ดำเนินการระดมทุนโดยกลุ่มเยาวชน ในการดำเนินการหาทุนครั้งนี้ ได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก จำหน่ายกาแฟที่ปลูกในชุมชน แปรรูปกาแฟโดยพี่เล็กปากาคอฟฟี่ มีผู้ชมที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการติดตั้งถังน้ำแนวกันไฟ มีทั้งผู้คนที่สนใจให้การสนับสนุนโดยซื้อกาแฟและบริจาคโดยไม่ประสงค์ออกนามเพื่อสนับสนุนในการดำเนินกิจกรรม 3.เข้าไปซื้อถังน้ำและอุปกรณ์ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยคนในชุมชนช่วยกันขนถังน้ำจากในตัวเมือง เข้าสู่หมู่บ้าน 4.เยาวชนในชุมชนขนถังน้ำ 200 ลิตร กระเบื้องมุงหลังคาและอุปกรณ์ จากหมู่บ้านไปไว้ในป่า ถึงบริเวณจุดสิ้นสุดทางมอเตอร์ไซค์ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ จนได้รับการยอมรับจากคนข้างนอกที่จะเข้ามาเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชน เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ชุมชนเกิดการยอมรับมากขึ้น
นอกจากนี้ชุมชนยังมีการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยไม่ให้คนในชุมชนออกไปข้างนอกชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการพัฒนาการเลี้ยงผึ้งโพรง การทอผ้าทอย้อมสีธรรม โดยปลูกฝ้ายในบริเวณไร่หมุนเวียน จึงทำให้เป็นทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน และหากมีการพัฒนาข้อตกลงร่วมกันในการหักเปอร์เซ็นต์รายได้เพื่อนำมาใช้ในการหนุนเสริมกิจกรรมของเยาวชนกิจกรรมในการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ด้วยการรักษาสิ่งที่ประกาศไปแล้ว ให้คงอยู่ ไม่ให้เกิดการเสื่อม เสียความเป็นอัตลักษณ์ไป มีการพัฒนา ปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ยังคงรักษาของเก่าไม่ให้ถูกทำลาย ชุมชนใช้วิถีชีวิตของตนเองอย่างมั่นใจ มีการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่คู่กับชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ตลอดไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปตท. และก๊อดจิ แท๊กทีมเอเลี่ยนขอชวนทุกคนขึ้นยาน UFO พลังงานไฟฟ้าไปพร้อมๆ ร่วมภารกิจลดคาร์บอนสุดมันส์!
เพราะไม่มีที่ไหนน่าอยู่เท่า ‘โลก’ ของเราอีกแล้ว ‘NÉZO’ (เนโซ่) เอเลี่ยนจากจักรวาลอันไกลโพ้น จึงเดินทางมายังดาวโลก พร้อมผนึกกำลังร่วมกับ GODJI ทูตพลังงานจาก ปตท. สานต่อภารกิจปกป้อง ‘โลก’ ให้น่าอยู่
GC และกลุ่ม ปตท. ร่วมเป็นเจ้าภาพงาน APIC 2025 ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและความร่วมมือ
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เข้าร่วมงานประชุม Asia Petrochemical Industry Conference (APIC) 2025 ภายใต้ธีม “Ensuring a Transformed World Prosperity – Action for Planet with Innovation and Collaboration”
ร่วมปลดล็อกศักยภาพของเศรษฐกิจหมุนเวียนกับ PRISM Circular Hackathon 2025 เวทีประลองไอเดียสร้างสรรค์ เพื่อเปลี่ยนของเสียหรือวัสดุใช้แล้วสู่ “ธุรกิจใหม่” อย่างยั่งยืนไปด้วยกัน
พบกับโจทย์สุดท้าทายทั้ง 3 ด้าน 1. Waste-to-Value: แปลงของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่า ด้วยนวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่ม