แกะรอยเส้นทาง 7 ปี 'ปฏิรูปตำรวจ' ยุค 'ลุงตู่' ไฉนกลายเป็น 'รัฐตำรวจ'

แกะรอยเส้นทาง 7 ปี 'ปฏิรูปตำรวจ' ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค.57 แต่งตั้งกรรมการหลายชุด แต่ยังวนอยู่ในอ่าง ล่าสุด อนุกรรมาธิการฯผลักดันโครงสร้าง ก.ตร.ตัดบุคคลภายนอกออก เปิดทาง 'รัฐตำรวจ' ผงาด

ประเด็นการปฏิรูปตำรวจในยุค ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็นข้อถกเถียงอีกครั้ง ลังมีรายงานว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…. จะมีการโหวตรับรองรายงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ ที่มี พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ เป็นประธานฯ

โดยมีประเด็นสำคัญคือการแต่งตั้ง คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่จะมีบทบาทในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้เนื้อหาตามร่างเดิมที่ผ่านหลักการวาระ 1 ยึดจากการศึกษาของคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ที่กำหนดโครงสร้างประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่าย เพิ่มหลักเกณฑ์ที่เข้มข้นเพื่อให้มีการปฏิรูปองค์กรตำรวจอย่างจริงจังตามรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะการให้คนนอกเข้ามาร่วมนั่ง ก.ตร.ด้วย แต่ปรากฏว่าในรายงานของอนุกรรมาธิการฯ มีการแก้ไข โดยตัดเอาฝ่ายบริหารและคนนอกออกไป เหลือแต่ระดับอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาเป็นก.ตร.ทั้งหมด โดยมีผบ.ตร.เป็นประธานฯ  และยังให้มี คณะกรมการตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.)ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ มีหน้าที่กำหนดนโยบาย

กมธ.อีกฟากหนึ่งมองว่าเป็นความพยายามให้เกิดองค์กรรัฐอิสระ อยู่เหนือการควบคุมดูแลจากฝ่ายใด ที่สำคัญมีความพยายามวิ่งเต้นผ่านคนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีคำสั่งผ่านประธานวิปรัฐบาล ให้โหวตตามรายงานของอนุกรรมาธิการฯ ยิ่งเปิดโอกาสให้ "รัฐตำรวจ" ผงาดมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ในฐานประธานฯ ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าวโดยยืนยันว่า องค์ประกอบของ ก.ตร. จะมีสื่อมวลชน ภาคประชาชน เข้าไปเป็นก.ตร. ไม่ใช่ตำรวจล้วนๆ อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติกมธ.ต้องหารือกันอีกครั้ง

จากเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่าการปฏิรูปตำรวจยังวนอยู่ในอ่าง ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.ยึดอำนาจ เมื่อ 22 พ.ค.2557 หลังจากนั้นได้จัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นพิจารณาดำเนินการปฏิรูปรวม 13 ด้าน ที่สำคัญด้านหนึ่งคือการปฏิรูปตำรวจ

โดยทางสปช.ได้แต่งตั้งนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สมาชิก สปช. เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ หลังจากนั้น นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ได้สรุปผลการพิจารณาเสนอให้รัฐบาลดำเนินการโอนตำรวจ 12 หน่วยไปให้กระทรวง ทบวง กรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามหลักสากล เช่น ตำรวจจราจร, ตำรวจทางหลวง, ตำรวจน้ำ, ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง, ตำรวจป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ, ตำรวจรถไฟ, ตำรวจท่องเที่ยว, ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค, ตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ฯลฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)

โดยที่ประชุมครม. ได้มีมติเห็นชอบและส่งให้ ผบ.ตร.ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2558 แต่กลับไม่มีการดำเนินตามแต่อย่างใด

หลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บังคับใช้ ได้มีการแต่งตั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานการปฏิรูปตำรวจ ตามที่มาตรา 258 (ง) บัญญัติไว้ เสนอรายงานให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในระยะเวลาหนึ่งปีตามที่กำหนด แต่ว่าไม่ถูกใจนายกฯ จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่อีกชุด เมื่อเดือน ก.พ.2561 จำนวน 16 คน โดยมี นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานฯ ได้จัดทำรายงานการปฏิรูปพร้อมร่าง  พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติขึ้นใหม่ และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เสนอไปให้รัฐบาล แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในการนำเข้าสู่สภาเพื่อตราเป็นกฎหมาย

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2562 หลัง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ.  … จำนวน 13 คน โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯเช่นเดิม และได้พิจารณาร่างปฏิรูปทั้ง 2 ฉบับส่งให้นายกรัฐมนตรี

แต่สำนักเลขาธิการครม.กลับส่งไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) พิจารณาอีก ทั้งที่ร่างกฎหมายดังกล่าว ผ่านการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา77 แล้ว

ต่อมา ที่ประชุมครม.วันที่ 19 ม.ค.2564 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ตามที่สตช.เสนอแทนฉบับคณะกรรมการชุดนายมีชัย  ซึ่งตัดสาระสำคัญไปหลายประการ อาทิ ประเด็นการแยกงานสอบสวนให้มีสายการบังคับบัญชาและการสั่งคดีต่างหากจากงานตำรวจ  ป้องกันมิให้ถูกแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาฝ่ายตำรวจ  เนื่องจากสามารถกลั่นแกล้งแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานสอบสวน ทีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายได้ง่าย  ก็ถูกสตช.ตัดออกไปพร้อมกับ วิธีประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยตำรวจโดยภาคประชาชน ที่จะทำให้ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นมากขึ้น

หลังจากร่างพรบ.ตำรวจฯเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ 49 คน และเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2564  นายวิรัช  รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … เปิดเผยว่า "การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ทันสมัยประชุมนี้ ซึ่งร่างกฎหมายนี้ผ่านการพิจารณามาหลายคณะแล้ว ทั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์, นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จนปัจจุบันเป็นร่างผสมผสานระหว่างรัฐบาลกับสตช. จนกระทั่งส่งมาให้คณะกรรมาธิการพิจารณา ซึ่งหัวข้อแต่ละเรื่องมีข้อโต้แย้งเกือบทุกมาตรากว่าจะผ่านไปได้ จึงมีความล่าช้า คาดว่าถ้าเร่งพิจารณาจะดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ถึงปี โดยจะพยายามให้เร็ว"

มาถึงสมัยการประชุมล่าสุด ในคณะอนุกรรมาธิการฯ ที่มีการถกเถียงในประเด็นโครงสร้างก.ตร.มีความพยามจะตัดเอาฝ่ายบริหารและคนนอกออกไป เหลือแต่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ โดยมี ผบ.ตร. เป็นประธานฯ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารบุคคล แต่งตั้งโยกย้าย  ส่วน ก.ต.ช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯมีหน้าที่เพียงกำหนดนโยบาย  เป็นการหมกเม็ดให้การแต่งตั้งโยกย้ายอยู่ในมือตำรวจฝ่ายเดียว ทั้งที่ฝ่ายการเมืองมาจากประชาชน โดยหลักการต้องกำกับดูแลให้คุณให้โทษข้าราชการตำรวจได้

หากเป็นไปตามนี้เท่ากับว่าเป็น"รัฐตำรวจ"เบ็ดเสร็จ ทั้งที่ระบบตำรวจปัจจุบัน ก็เปรียบเสมือนรัฐตำรวจอยู่แล้ว เพราะตำรวจมี อำนาจผูกขาดการตรวจค้น จับกุม สอบสวน โดยปราศจากการตรวจสอบจากหน่วยงานอื่น การรวบรวมพยานหลักฐานให้อัยการสั่งฟ้องจึงเปรียบเสมือน "แต่งนิยายสอบสวน" ให้อัยการอ่านนั่นเอง

ถ้าจะปฏิรูปให้เป็นไปตามหลักสากลจริงๆ ต้องกระจายอำนาจให้ตำรวจขึ้นกับจังหวัด  "งานสอบสวน"ต้องมีหน่วยงานอื่นเข้ามาควบคุมตรวจสอบคือ  อัยการ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาสั่งฟ้องต่อศาล

เพราะ “การปฏิรูป” หรือ Reform  คือ “การเปลี่ยนรูป” เปลี่ยนโครงสร้างใหม่ เพื่อเป็นหลักประกันในสิทธิเสรีภาพของประชาชน   วางกลไกป้องกันไม่ให้ตำรวจทำชั่วได้ง่ายๆ หรือ ทำผิดกฎหมายแล้วจะต้องถูกลงโทษ

แต่การปฏิรูปตำรวจนยุค"ลุงตู่"ผ่านมา7ปี กลับยังวนอยู่ในอ่าง  ทั้งที่คณะกรรมการชุดนายมีชัย เสนอแนวทางการปฏิรูปก้าวหน้าระดับหนึ่ง แต่ ผู้นำรัฐบาลไม่นำพา ปล่อยให้ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่หวงอำนาจไปปรับแก้จาก “ปฏิรูปตำรวจ” จนกลายเป็น “รัฐตำรวจ”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จตุพร' จี้นายกฯปฏิรูปองค์กรตำรวจครั้งใหญ่ เพื่อกู้ภาพลักษณ์ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์กรณี นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ หรือ ทนายตั้ม แถลงเส้นทางการเงินพนันออนไลน์โยงตำรวจยศ “บิ๊ก” ว่า

'ตำรวจไทย' ทำผิดอาญาร้ายแรง ยังแต่งเครื่องแบบ พกปืน ตรวจค้น จับประชาชนได้!

ปัจจุบัน ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อ “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ไม่ว่าชั้นใด ไม่น่าจะมีอะไรให้ผู้คนสงสัยว่ายังมีเหลืออยู่อีกมากน้อยเพียงใด!

'ดร.ไตรรงค์' ขอบคุณ 'พล.อ.ประยุทธ์' ส่งดอกไม้เป็นขวัญกำลังใจหลังป่วยเข้ารพ.

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) โพสต์ภาพแจกันดอกไม้พร้อมระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ไม่นึกไม่ฝันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ซึ่งเป็นคนที่ผมรักและนับถือ เพราะท่านเป็นคนดี ไม่มีเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวง

'จิรายุ' ตอกกลับ 'จิรัฏฐ์' อย่าแค่เกรียน ยัน 'นาวีเพลส' บ้านซื้อขาด ไม่ใช่บ้านหลวงให้เช่าได้

'จิรายุ' ตอก 'จิรัฏฐ์' อย่าเกรียนอย่างเดียวต้องมีสติปัญญา หลังกห.ตรวจสอบแล้วคอนโดนาวีเพลสเจ้าของห้องปล่อยเช่าจริงเพราะบ้านเขาซื้อขาดไม่ใช่บ้านหลวง ส่วนดราม่าไหว้ 'ลุงตู่' ครูบาอาจารย์พ่อแม่สั่งสอนให้มีสัมมาคารวะเจอผู้ใหญ่คนไหนก็ต้องไหว้ เว้นอย่างเดียวเสาไฟฟ้า