'เรืองไกร' เล่าเบื้องหลัง 'พิธา-พรรคส้ม' เผยเคยมีคนฝากให้ยกเว้นหัวหน้าพรรคสักคน!

'เรืองไกร' เล่าความหลังเรื่อง 'พิธา-พรรคส้ม' เผยเคยมี ส.ส.ฝากว่าถ้ามีอะไรก็เว้นหัวหน้าเขาสักคน ย้ำหากแดดดี้ไม่รอด 39 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก้าวไกลพร้อม ส.ส.เขตน่าจะพ้นสภาพ

07 มิ.ย.2566 - นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ผู้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวีก่อนลงเลือกตั้งของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรอข้อชี้แจงของนายพิธาต่อ กกต.ด้วย เราต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา โดยจุดสำคัญของเรื่องนี้ทั้งหมด อยู่ที่ข้อเท็จจริงตามเอกสาร บมจ.006 (บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในบริษัท มหาชน) ที่แสดงให้เห็นว่า นายพิธาถือหุ้นไอทีวีอยู่ และข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ และข้อเท็จจริงที่ได้ยื่นเรื่องขอให้ กกต.เรียกข้อมูลจากส่วนราชการ

“สิ่งที่ทำให้ผมสันนิษฐานว่านายพิธารู้เรื่องนี้มาตลอด ก็เพราะว่านายพิธา มีการเปลี่ยนที่อยู่ของตัวเอง โดยพบว่าในรอบสิบหกปีเปลี่ยนที่อยู่สามครั้ง ครั้งแรก เป็นบริษัทแห่งหนึ่งแจ้งจดทะเบียนอยู่ที่ตึกอาคารอื้อจือเหลียง ครั้งที่สองกลับไปอยู่บ้านพ่อ ครั้งที่สามไปอยู่คอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นที่พักที่แจ้งกับ ป.ป.ช.ต่อยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า นายพิธารู้การถือครองหุ้นดังกล่าว”นายเรืองไกรกล่าว

นายเรืองไกร ให้ความเห็นว่า ผลแห่งเรื่องนี้ หากสุดท้ายถ้านายพิธาโดนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าครอบครองหุ้นสื่อก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง จะทำให้นายพิธาหลุดจากการเป็น ส.ส. –ขาดจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล แต่มันมีประเด็นที่ร้องไปก่อนหน้านี้ คือหากนายพิธามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติการลงเลือกตั้ง จะทำให้การเสนอชื่อบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขตและบัญชีราายชื่อของพรรคก้าวไกลต้องเสียไปด้วยหรือไม่ เพราะเหตุว่าข้อบังคับพรรคก้าวไกล เมื่อปี 2563 ที่ยังไม่มีการแก้ไขจนถึงปัจจุบัน ไปเขียนเกินกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ เพราะมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ที่มีการแก้ไขรอบล่าสุด บัญญัติว่าสมาชิกพรรคการเมือง ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กําหนดในข้อบังคับพรรค ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 โดยในมาตรา 24 ดังกล่าว เขียนไว้หลายข้อ แต่ข้าม 98 (3) ที่เป็นเรื่องการห้ามถือหุ้นสื่อก่อนเลือกตั้งไว้ให้ แต่ปรากฏว่าพรรคก้าวไกลก็ไม่ได้มีการแก้ไขข้อบังคับพรรค ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ที่แก้ไข โดยข้อบังคับพรรคไปเขียนไว้ว่า สมาชิกพรรคต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ โดยไปยกมาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญที่เป็นลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี มาใส่ไว้ในข้อบังคับพรรคก้าวไกลทั้งหมด ที่ก็คือห้ามไม่ให้สมาชิกพรรคถือหุ้นสื่อ ซึ่งถือว่าแรงกว่ารัฐธรรมนูญเสียอีก เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้แค่ว่า ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ได้เขียนไว้ถึงขั้นสมาชิกพรรค

นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า ตนเองเลยร้อง กกต.ว่า เมื่อสมาชิกพรรคนายพิธาทำผิดข้อบังคับพรรคแล้วมีสิทธิ์ไปเซ็นรับรองคนอื่นได้หรือ จึงร้องว่าการที่นายพิธาใช้สิทธิ์รับรองแล้วลงลายมือชื่อในฐานะหัวหน้าพรรค เมื่อไม่มีสถานะเพราะหมดสภาพไปแล้วจากการทำผิดข้อบังคับพรรคก้าวไกลดังกล่าว ทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม แต่โทษฐานความผิดเรื่องนี้ไม่ถึงขั้นยุบพรรค

ถามถึงว่าถ้าผลออกมาโดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเซ็นรับรองผู้สมัครส.ส.ทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ ของนายพิธา ไม่ชอบด้วยข้อบังคับพรรคก้าวไกล จะมีผลทำให้ว่าที่ 39 ที่นั่งส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคก็อาจต้องหายไปด้วยหรือไม่ นายเรืองไกร ให้ความเห็นว่า การที่เขาใช้สิทธิ์รับรองส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งในฐานะหัวหน้าพรรคโดยลงลายมือชื่อ เมื่อคุณหมดสภาพไปแล้ว มันก็ไม่ควรได้รับการพิจารณา ก็ควรตัดออกไป ซึ่งวิธีการตัดเรื่องบัญชีราายชื่อ ผมเห็นว่าควรตัดออกทั้งหมด บัญชีรายชื่อนายกฯ ก็ต้องตัดออก ส่วนส.ส.เขต ก็ควรพิจารณาเฉพาะที่พรรคก้าวไกลชนะ แต่เมื่อได้มาโดยคนที่ไม่ชอบมาส่งลงเลือกตั้ง กกต.จะปรับบทกฎหมายหรือศาลจะว่าอย่างไรก็ว่ากันไป แต่ข้อเท็จจริงมันชัดอยู่ อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวนี้ กกต.จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าเขาไม่ส่งประเด็นดังกล่าวไปให้วินิจฉัย ตามหลัก กกต.ต้องตอบกลับมายังผู้ร้องว่าประเด็นที่ไม่รับวินิจฉัยเป็นเพราะอะไร ทาง กกต.จะตอบกลับมาทุกครั้ง ทุกเรื่องที่ส่งไป

เมื่อถามว่า ส่วนตัวเคยเจอ พูดคุยกับพิธา ในช่วงสภาสมัยที่แล้วบ้างหรือไม่และส่วนตัวมีปัญหาอะไรกันหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า เคยเจอนายพิธาตั้งแต่ยังเป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เจอตั้งแต่ตอนช่วงที่สภาสมัยที่แล้ว ไปเช่าที่ทำการอยู่ที่สำนักงานใหญ่ทีโอที แจ้งวัฒนะ คือตอนนั้นเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ไปที่นั่นบ่อย แล้วห้องของเพื่อไทยกับอนาคตใหม่มันอยู่ติดกัน คนของอนาคตใหม่ เขาก็เข้ามาคุยกับผม มาปรึกษาเรื่องอะไรต่างๆ อย่างนายชัยธวัช ตุลาธน ที่เป็นเลขาธิการพรรคก้าวไกลเวลานี้ ตอนนั้นเขาก็นัดคุยด้วย ก็ไปคุยกับกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและนายปิยบุตร แสงกนกกุล ก็คุยกันหลายเรื่องให้ข้อคิดข้อหารือต่างๆ

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า สำหรับกับตัวพิธาก็ไม่มีอะไรกัน ก็เคยเจอและพูดคุยกัน ตอนเจอกันแรกๆ เขาก็แนะนำตัวเองว่า จบการศึกษาจากที่ไหน แต่บางอย่างก็เคยติงเขา เช่น มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่เขาเป็นกรรมาธิการงบประมาณนายพิธาลงไปรับเรื่องจากกลุ่มมวลชนที่มาร้องอะไรสักอย่างที่รัฐสภา แล้วเขาก็ไปแถลงข่าว พอเสร็จเขาขึ้นมา ประชุมต่อ ก็บอกเขาว่าแบบนี้ไม่ได้จะไปรับปากว่าจะปรับลดงบประมาณแล้วจะไปเพิ่มอะไร มันขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ซึ่งก็เตือนเขา เพราะปรับลดได้ แต่แปรญัตติเพื่อเพิ่มงบประมาณไม่ได้ จะไปรับปากมวลชนว่าจะไปใส่ตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งการจะไปแปรเพิ่มทำไม่ได้ ก็เตือนกันธรรมดา แต่ถูกใจหรือไม่ ไม่รู้ แต่พูดเรื่องถูกต้องทั้งนั้น แต่ยืนยันไม่มีอะไรกัน

“มี ส.ส.เขาเอง เคยเจอกับผม แล้วบอกว่าถ้ามีอะไรก็เว้นหัวหน้าเขาสักคน คือตอนนั้นผมกำลังดูเรื่องหุ้นของภรรยาเขาที่ไม่ได้แจ้ง ป.ป.ช. ตอนนั้นพิธา เข้ามาเป็นกรรมาธิการของสภาฯ พิธาเขาก็เป็นคนมาดดี เข้าห้องมาก็พูดจาแบบเด็กจบเมืองนอก ก็แบบได้รับการฝึกมาแต่ประสบการณ์อะไรต่างๆ ผมเห็นแล้วก็เฉยๆ ก็ทำงานด้วยกัน บางเรื่องผมก็บอก ก็แนะนำ”นายเรืองไกรกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ก้าวไกล' หนุนแก้กฎหมายสกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…)

ประธาน กกต. แจงความคืบหน้าเลือก สว. ชุดใหม่

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. กล่าวถึงความคืบหน้าของระเบียบ และประกาศกกต. เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า เสร็จไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยมี 1 ฉบับที่ส่งไปแล้ว และอยู่ระหว่างการ

'ดร.อานนท์' ชงสูตรการเมืองทำลาย 'ก้าวไกล-ธนาธร' เชื่อยอมเจ็บเถิด จะได้จบ

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า

ศาลรธน. ไม่รับคำร้องขอวินิจฉัยอำนาจสภาฯแก้รัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของประธานรัฐสภาที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256