กกต. ปล่อยผีรับรองแล้วสว.ใหม่ สอยร่วง 1 คน จากกลุ่ม 18 สื่อมวลชน เจ้าของเสียงตามสายหมู่บ้าน เหตุนั่งควบที่ปรึกษานายกอบจ.ขาดคุณสมบัติ เลื่อย “กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์” เฮ เลื่อนชั้นเสียบ เปิดสำนักงานรับหนังสือ 11-12 ก.ค.นี้ ก่อนรายงานตัววุฒิสภา
10 ก.ค.2567 - เวลา 15.40 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. แถลงภายหลังการประชุมกกต.เรื่องการรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า ตามมาตรา 40 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. พ.ศ.2561 ด้วยเงื่อนไขตามกฎหมายมาตรา 42 ระบุว่าหากกกต.เห็นว่า การเลือกเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย กกต.จึงจะประกาศรับรองผล ซึ่งจะดู 3 เงื่อนไขในการพิจารณาว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.หรือไม่ ซึ่งสำนักงานกกต.ได้รวบรวมกลุ่มความผิดที่อาจจะนำมาพิจารณาเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการประกาศผลการเลือกสว. ครั้งนี้คือ 1. คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม หมายรวมถึงการสมัครลงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งด้วย 2. กระบวนการในการดำเนินการเลือก ในวันที่ 9 วันที่ 16 และวันที่ 26 มิ.ย. 3. ความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อันเกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งสังคมจะใช้กันว่าการจัดตั้ง บล็อกโหวต หรือฮั้ว
กรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามนััน มีผู้สมัครที่สนใจมาสมัครช่วงเปิดรับสมัคร 5 วัน 48,117 คน ผอ.ระดับอำเภอได้ ตรวจสอบคุณสมบัติ และไม่รับสมัครไป 1,917 คน เมื่อรับสมัครไปแล้ว ก็ได้ลบชื่อก่อนการเลือกระดับอำเภออีก 526 คน ก่อนผ่านชั้นจังหวัดก็ได้ลบผู้มีสิทธิ์เลือกไปอีก 87 คน และผ่านมาระดับประเทศผอ.ระดับประเทศก็ลดไปอีก 5 คน รวมแล้วมีการตรวจสอบและคัดคนที่ไม่มีคุณสมบัติในลักษณะต้องห้ามออกไป 2,000 เกือบ 3,000 คน กกต. มีมติให้ใบส้มเรื่องคุณสมบัติตามมาตรา 20 วรรค 3 วรรค 4 ระงับสิทธิสมัครชั่วคราว จำนวน 89 ใบ รวมทั้งส่งให้ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย อีก 1 คน ตามมาตรา 60 เนื่องจากเขาได้เข้าสู่กระบวนการเลือกแล้ว จึงเป็นผู้มีส่วนทำให้การเลือกเป็นไปด้วยความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนระดับอำเภอที่ลบไป 500 กว่าคนไม่ได้ให้ใบส้มเพราะยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการเลือกระดับอำเภอ แต่จะไปพิจารณาว่ารู้หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิแต่ยังไปสมัครรับเลือก ซึ่งถือเป็นคดีอาญา
นายแสวง กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เรื่องร้องเรียนข้างต้นคิดเป็น 65% หรือราวๆ 600 กว่าเรื่อง จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ที่มาเข้ามาจนถึงขณะนี้ประมาณ 800 กว่าเรื่องโดยเป็นทั้งความปรากฏ ผู้สมัครมาร้องเอง และที่กกต.การลบชื่อออก ดังนั้นเหลืออยู่ราวๆ 200 เรื่อง ที่ต้องพิจารณา
ส่วนกรณีการสมัครไม่ตรงกลุ่ม ที่ถูกวิจารณ์ว่าคนแบบนี้ไปอยู่กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ได้อย่างไร สังคมอาจจะเข้าใจยังไม่ตรงมาก เพราะเวลาพูดถึงกลุ่มอาชีพ ซึ่งตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ และคำว่ากลุ่มตามมาตรา 11 ของพ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาถึงสว. ไม่มีกลุ่มอาชีพ แต่เป็น “กลุ่มของด้าน” ทั้ง 20 ด้าน ในแต่ละด้านจะมีอาชีพเป็นส่วนหนึ่งของคนประเภทหนึ่ง มีคน 6 ประเภท ที่สามารถเป็นผู้สมัครได้ ไม่ใช่แค่อาชีพอย่างเดียว 1. คือความรู้ในด้านนั้น 2. ความเชี่ยวชาญในด้านนั้น 3. อาชีพในด้านนั้น 4.ประสบการณ์ด้านนั้น 5.ลักษณะและประโยชน์ร่วมกัน และ6. ทำงานหรือเคยทำงานร่วมกัน ซึ่งกฎหมายเปิดกว้างให้คนสมัครด้านใดด้านหนึ่งได้ และมีผู้รับรอง 1 คน
นายแสวง กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มความผิดที่ 2 คือการดำเนินการในวันเลือก คือวันที่ 9 วันที่ 16 และวันที่ 26 มิ.ย. มีสำนวนมาร้อง 3 สำนวน กกต.พิจารณาเสร็จแล้ว และมีสำนวนที่ไปร้องศาลฎีกา 18 คดี ตามมาตรา 44 ศาลฎีกาได้ยกคำร้องทุกคดี แล้ว และส่วนที่ 3 การเลือกไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ตอนนี้มีอยู่ 47 เรื่อง คือ เรื่องที่สังคมเรียกว่าการจัดตั้ง การฮั้ว การบล็อกโหวต ซึ่งสำนักงานกกต.ได้รวบรวมพยานหลักฐานได้มาพอสมควร ซึ่งลักษณะที่รวบรวมมาพบว่าเป็นขบวนการที่ต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน สำนักงานกกต.จึงได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมแล้วส่งเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจสอบ 23 นาย ซึ่งประสานงานกันตลอดประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว โดยขอใช้เทคนิคอุปกรณ์มาตรวจสอบความเชื่อมโยง ของผู้สมัคร หรือคนอยู่เบื้องหลัง จะได้ถึงไหนอย่างไรเพื่อนำเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา เรื่องการกระทำที่อาจจะทำให้การเลือกไม่สุจริต
“เมื่อดำเนินการมาถึงขั้นนี้ทั้ง 3 กลุ่มความผิด กระบวนการเลือกตั้ง 3 ระดับจบหมดแล้ว ไม่มีคดีค้างที่ศาล ถือว่าการเลือกเป็นไปโดยชอบ ในส่วนของความไม่สุจริต และเที่ยงธรรม เมื่อมีคำร้อง สำนักงานกกต.ได้รับเป็นสำนวนเอาไว้แล้วขณะนี้ได้รวบรวมพยานหลักฐานข้อมูลไว้แล้ว แต่ข้อมูล ณ วันนี้ยังไม่พอเพียง ที่จะบอกว่าเขากระทำความผิด สำนักงานต้องไปรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงตามที่กฎหมายกำหนด ในชั้นนี้จึงไม่สามารถบอกได้ว่าการเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
และด้วยเหตุผลดังกล่าว กกต.จึงพิจารณาแล้วเห็นว่า การเลือกสว. เป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม จึงมีมติ ประกาศผลการเลือกสว.ของแต่ละกลุ่ม ทั้ง 20 กลุ่ม ลำดับที่ 1 ถึง 10 ของแต่ละกลุ่ม เป็นสว. ส่วนลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่มเป็นบัญชีสำรอง ยกเว้นกลุ่มที่ 18 ซึ่งกกต. ได้ระงับสิทธิชั่วคราว (ใบส้ม) ของผู้ได้รับเลือก 1 คน ซึ่งอยู่ในลำดับ ที่ 1-10 จึงต้องเลื่อนสำรองลำดับที่ 11 ขึ้นมาแทน ทำให้เหลือสำรองกลุ่มนี้แค่ 4 คน ดังนั้นกกต.รับรองครบ 200 คน และบัญชีสำรอง 99 คน เรียบร้อยเพื่อให้เปิดสภาได้”นายแสวง กล่าว และว่า สว.ทั้ง 200 คนให้มารับหนังสือรับรองการรับเลือกเป็นสว. เพื่อเป็นหลักฐานในการรายงานตัวกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาตั้งแต่วันที่ 11-12 ก.ค.เวลา 8:30 น ถึง 16:30 น.ซึ่งเตรียมสถานที่รองรับเรียบร้อยแล้วที่ขั้น 2 สำนักงานกกต.
ทั้งนี้ นายแสวง ยืนยันว่า การประกาศไปก่อนแล้วมาสอยทีหลัง เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 226 และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว.มาตรา 62 ส่วนที่ได้ให้ใบส้มไป 1 คน จนต้องเลื่อนสำรองมาแทน เพราะพบความผิดชัดเจนในเรื่องของคุณสมบัติ
เมื่อถามว่า การที่กกต.ประกาศบัญชีสำรอง 99 คน จะขัดกับกฎหมายที่ให้กกต.ต้องประกาศบัญชีสว. 200 คน และบัญชีสำรอง 100 คน หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ก็ทำไปแล้ว ซึ่งตามพ.ร.ป.การได้มาซึ่งสว.มาตรา 42 ไม่ได้เขียนกรณีดังกล่าวไว้ แต่กกต.มาออกระเบียบกกต.ว่าด้วยการเลือกสว. ฉบับที่ 3 ข้อ 154/1 ให้กกต.สามารถเลื่อนบัญชีสำรองขึ้นมาแทนได้
เมื่อถามต่อว่า ก่อนหน้านี้ศาลปกครองเคยเพิกถอนบางข้อของระเบียบดังกล่าว กังวลหรือไม่ ว่าจะถูกเพิกถอนอีก นายแสวงกล่าวว่า ตอบไม่ได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงออกมาเช่นนี้ก็ต้องดำเนินการ และทำไปแล้ว หากไม่เลื่อนจะเป็นปัญหามากกว่านี้ เพราะจะเปิดสภาไม่ได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสะท้อนว่ากกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ
เมื่อถามต่อว่า ทำไมไม่รับรองไปก่อนแล้วค่อยมาสอยทีหลัง จะได้ไม่เกิดปัญหา นายแสวง กล่าวว่า มีคำพิพากษาของศาลฎีกาวินิจฉัยวางแนวเอาไว้แล้ว เมื่อเราพบ ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ว่าจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร วันนี้จะส่งประกาศราชกิจจานุเบกษา.
รายงานข่าวแจ้งว่า บุคคลที่ถูก กกต.ระงับสิทธิชั่วคราวหรือแจก “ใบส้ม” คือ น.ส.คอดียะฮ์ ทรงงาม ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.อ่างทอง ลำดับที่ 4 กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน โดยระบุในประวัติการทำงานว่า “ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน เป็นประชาสัมพันธ์อำเภอไชโย” อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบพบว่า น.ส.คอดียะฮ์ เป็นที่ปรึกษา นายก อบจ.อ่างทอง คือ ศาลฎีกาวางแนวเอาไว้ว่า การเป็นที่ปรึกษานายกอบจ.ถือเป็นผู้บริหารท้องถิ่น จึงถูกระงับสิทธิชั่วคราว ทำให้เลื่อนว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ลำดับที่ 11 ซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองเลื่อนขึ้นมาอยู่ในบัญชีตัวจริงลำดับ 10 โดยว่าที่ พ.ต.กรพด อดีตประธานรุ่น 5 หลักสูตร “พัฒนาสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร” (พคบ.) ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาแทน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘อัลไพน์’ ยังไม่เงียบ กกต. เรียก เรืองไกร ตอกฝาโลง อังคารนี้
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ตามหนังสือที่ ลต 0020/3702 กกต. ได้เชิญไปให้ถ้อยคำตามคำร้อง 4 เรื่อง หนึ่งในนั้น คือ เรื่องร้องกรณีการถือหุ้นในบริษัท อัลไพน์กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด อยู่ด้วย
อวยทักษิณชนะนายกอบจ.
"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา
'อังกินันทน์' ชนะขาด! ประกาศผลนับคะแนนเลือกตั้ง 'นายก อบจ.เพชรบุรี'
องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี (อย่างไม่เป็นทางการ) ณ เวลา 23.59 น. โดยนับครบแล้วทั้ง 734 หน่วยเลือกตั้ง
'ทักษิณ-พท.' อย่าเพิ่งตีปีก! ชั้น 14 ป.ป.ช. ใกล้งวด คดีครอบงำยิ่งชัด รอ กกต. เคาะ
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หน้าแตกกันไปตามๆ กัน เมื่อได้ทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่รับวินิจฉัยคำร้อง
ประกาศผลนับคะแนนเลือกตั้ง 'นายก อบจ.อุดรธานี' อย่างไม่เป็นทางการ
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น