นายกฯ ถกนัดแรก “คอส.” แก้น้ำท่วม เคาะฟรีค่าน้ำค่าไฟเดือนก.ย.พื้นที่ประสบภัย เตรียมเคาะงบกลาง 3,000 ล้าน เข้า ครม.พรุ่งนี้ “ภูมิธรรม” ยันเร่งเยียวยาถึงมือผู้ประสบภัย ต้องใช้กรอบเดิมไปก่อนเพื่อความรวดเร็ว พร้อมพิจารณาเพิ่มเติมภายหลัง ชี้ 18 ก.ย.นี้ ได้ข้อสรุป
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 16 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) ว่า การตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถประสานงานกันได้ว่าตรงไหนเจอปัญหาอะไรบ้าง เพื่อให้การแก้ปัญหารวดเร็วชัดเจน
เมื่อถามว่า คณะกรรมการที่ตั้งมานี้ชั่วคราวหรือเป็นคณะกรรมการถาวร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เราตั้งไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานว่าน้ำเริ่มมาทางภาคอีสาน และปริมาณน้ำเริ่มลดลง จังหวัดไหนที่น้ำจะเข้าไปได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมสำหรับการแจ้งเตือนประชาชน ให้สามารถอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ทันเวลา ซึ่งเราแจ้งล่วงหน้าไปแล้วหลายวัน โดยจังหวัดที่น้ำท่วมไปแล้วประมาณ 3 วันทุกอย่างน่าจะจบลง และการฟื้นฟูเราพยายามทำให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด
ซักว่าการที่น้ำลดลงเกี่ยวข้องกับกรณีประเทศจีนยังไม่ปล่อยน้ำมาทางแม่น้ำโขงเพิ่มใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า จีนปล่อยน้ำปกติ ไม่ได้มีส่วนทำให้น้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น
ถามอีกว่าได้เตรียมความพร้อมในพื้นที่อีสานตอนล่างที่ต้องรับมวลน้ำหลังจากนี้ไว้อย่างไร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เราแจ้งไปหมดแล้วว่าน้ำจะมาปริมาณเท่าไหร่ และที่ประชุมได้พูดคุยกันว่าปีนี้น้ำไม่ได้จะหนักมาก แต่ก็มีน้ำผ่าน ทางกองทัพภาคที่ 2 ได้เข้าไปเตรียมพร้อมในพื้นที่แล้วไม่ต้องเห็นห่วง ขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ ความสามารถรับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีมากพอ กรุงเทพฯน้ำก็จะไม่ท่วม
ถามต่อว่ากรณีที่ น.ส.แพทองธาร ระบุว่า การเยียวยาให้ยึดความเสียหายมากกว่าจำนวนวัน ต้องปรับมาตรการอย่างไรหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เรื่องกรอบการเยียวยาเราต้องมาดูที่รายละเอียดข้างในว่าจะปรับได้อย่างไรบ้าง แต่ประเด็นตอนนี้คือความรวดเร็วในการเยียวยา ที่ประชุมหลายฝ่ายถกกันว่าความรวดเร็วต้องมาก่อน โดยจะยึดกรอบเดิมก่อน เพราะถ้าจะใช้กรอบใหม่ก็ต้องใช้เวลา และในที่ประชุมมีความเห็นว่าจะไม่เก็บน้ำค่าน้ำค่าไฟพื้นที่ประสบภัยในเดือน ก.ย. ส่วนในเดือน ต.ค. จะลดให้ 30% และหากน้ำท่วมยาวกว่านั้นเราสามารถขยายได้อีก มาตรการที่ออกมานี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับการเยียวยาที่เร่งด่วน
นายกฯ กล่าวว่า สำหรับการซ่อมแซมบ้านเรือนได้พูดคุยกับกองทัพ ซึ่งระดมกำลังอย่างเต็มที่แต่ติดปัญหากำลังพลไม่เพียงพอ ก็จะให้กระทรวงศึกษาธิการดูเรื่องทีม Fix it Center อาชีวะจิตอาสา ที่มีหลายจังหวัดให้ระดมพลมาช่วยกัน เพื่อให้ความเสียหายได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด
ซักอีกว่า เรื่องการเยียวยาจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ก.ย. หรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า งบส่วนนี้ไม่ต้องเข้าที่ประชุมครม. เพราะเราใช้มาตรการเดิม ส่วนที่จะเพิ่มก็ต้องดูว่าจะเพิ่มตรงไหนได้บ้าง เช่นที่ตนยกตัวอย่างเวลา 3 วัน แต่มีความเสียหายมากกว่านั้น จึงต้องดูว่าจะปรับอะไรได้บ้าง
ถามต่อว่า ขณะนี้กรอบเยียวยาอยู่ที่เท่าไหร่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า กรอบเยียวยากรณีบ้านเสียหายทั้งหลังยังคงยึดกรอบเดิมคือ 2.3 แสนบาท แต่จะมีการเยียวยาหลายหมวด และมีงบกลางที่เราสำรองไว้สำหรับเรื่องน้ำท่วมโดยเฉพาะแล้ว
ถามย้ำว่า การเยียวยากรณีมีผู้เสียชีวิต จะปรับเปลี่ยนหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า อันนั้นต่างหากเดี๋ยวต้องไปดูกรอบอีกที
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงมาตรการและงบเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยว่า ในส่วนของงบเยียวยายังใช้มติเดิมไปก่อน จึงไม่ต้องเข้าที่ประชุม ครม. ซึ่งการเยียวยาเราทำตามกรอบเดิมทุกอย่าง หัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาคือเรื่องความเร็ว ซึ่งทุกอย่างที่ผ่านมากว่าจะได้บางทีหลายเดือน บางทีเป็นปี ฉะนั้นตรงนี้เราจะกันไปเลย ส่วนจะเยียวยามากขึ้นกว่านี้เราจะพิจารณาตามหลัง เพราะหากรอตรงนี้ก็จะช้า ดังนั้นคณะกรรมการที่นายกฯตั้งขึ้นจะคุยกันวันพุธที่ 18 ก.ย. เป็นวันแรก โดยสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยต่างๆที่เกี่ยวข้องจะมาพิจารณาประเมินร่วมกัน และจะออกมาเป็นข้อสรุปพร้อมไทม์ไลน์
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ครั้งนี้เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งมี 2 ประเด็นคือการส่งกำลังทั้งหมดเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดอุทกภัยต่างๆโดยเร็ว ส่วนการเยียวยาจะตามหลัง และจะคลีนนิ่งทุกอย่างเข้าสู่สภาพปกติทันที ซึ่งจะต้องดำเนินการในขณะนี้จนกว่าเหตุการณ์ประมาณต้นเดือนต.ค.จะปกติ และคณะทำงานจะดูหน้างานทั้งหมดนำมาสรุปแก้ปัญหาต่อไปไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งเรื่องเหล่านี้นายกฯได้มอบหมายให้คณะกรรมการฯไปพิจารณาในรายละเอียด วันนี้เราคุยกันเพียงหลักการ ข้อห่วงใย และความรวดเร็วในการแก้ปัญหาต่างๆทั้งหมด จากนี้ไปจะคุยในรายละเอียดและเสนอนายกฯเป็นระยะ
ผู้สื่อข่าวถามถึงช่องทางการเยียวยาจะใช้ช่องทางไหน นายภูมิธรรม กล่าวว่า ช่องทางเยียวยาเดิมมีอยู่แล้ว แต่เราจะไปพิจารณาอีกว่าจะสามารถมีช่องทางไหนที่เข้าถึงได้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นโจทย์ที่นายกฯมอบให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปช.) ไปดำเนินการ
เมื่อถามว่าการเยียวยาไร่นา หรือพืชผลทางการเกษตรจะได้มากขึ้นหรือไม่ เพราะสภาพเศรษฐกิจตอนนี้เปลี่ยนไป และที่ผ่านมาค่าเยียวยาน้อยมาก นายภูมิธรรม กล่าวว่า หากเรามัวแต่ปรับตอนนี้ มันจะช้า ตอนนี้เราเอาตามเดิมไปก่อน เพราะชีวิตคนต้องรักษาต้องดำเนินการก่อน ซึ่งจริงๆมีกระบวนการอยู่แล้ว แต่ปัญหาสำคัญการทำให้รวดเร็วทันใจ ฉะนั้นวาระปกติหน่วยงานต่างๆทำได้อยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของงบกลาง ซึ่งนายกฯเปิดแล้วสามารถดำเนินการได้เลยและมาแจ้งในทีหลัง โดยให้หลักการให้กรอบไปแล้วว่าจะทำอย่างไร ในวันที่ 18 ก.ย.จะสรุปภาพให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังประชุม คอส. น.ส.แพทองธาร ได้รับฟังข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน จึงมีความเห็นจะอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเยียวยาน้ำท่วม ผ่านช่องทางกระทรวงมหาดไทย จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยจะเสนอในที่ประชุมครม.วันที่ 17 ก.ย.นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บี้ 'อิ๊งค์' ปกป้อง 'เอกนัฏ' ล่าไอ้โม่งลงขันเปลี่ยนตัว รมว.อุตสาหกรรม
24 ม.ค. 2568 - นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "ปกป้อง เอกนัฏ" โดยระบุว่า ติดตามข่าวการตอบกระทู้ถามสด ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการปิดโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี จ.อุดรธานี ถึงการเลือกปฏิบัติในการรับซื้ออ้อยเผาของ นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย รู้สึกตกใจกับคำตอบของนายเอกนัฏ ตอนหนึ่งในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่ามีการลงขันจำนวนเงิน 200- 300 ล้านบาท เพื่อย้ายนายเอกนัฎ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการเมืองไทย ที่มีกลุ่มทุนอิทธิพลเหนือการเมือง ใช้เงินลงขันด้วยเงินหลักร้อยล้านบาท เพื่อเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ถ้าหากเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ขอให้กำลังใจนายเอกนัฎ ในการต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง และควรจะเปิดเผยชื่อตัวการลงทุนย้ายนายเอกนัฎออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี หากไม่สามารถเปิดเผยชื่อต่อสังคมได้ ก็ควรนำเรื่องนี้ไปเรียนให้กับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจในการปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ทราบว่ามีกลุ่มบุคคลหนึ่ง ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือการเมือง สามารถใช้เงินทุนโยกย้ายเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ หากนางสาวแพทองธาร ยังเอาไม่อยู่ เพราะไม่มีอำนาจที่แท้จริง ก็ต้องนำเรื่องนี้ให้ถึงมือของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้มีอำนาจทางการเมืองสูงสุด เป็นเจ้าของรัฐบาลตัวจริง และสามารถสั่งการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีได้แต่เพียงผู้เดียว ถ้าหากเรื่องนี้เป็นความจริง นางสาวแพทองธาร จะต้องปกป้องนายเอกนัฎ เพราะการดำเนินนโยบายห้ามไม่ให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยเผา เป็นมาตรการป้องกันมลพิษ PM 2.5 ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร แต่ถ้าเมื่อนายเอกนัฎได้ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายของนางสาวแพทองธารแล้ว แต่ไปสะดุดต่อ นางสาวแพทองธารในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะต้องรับผิดชอบ และสืบหาตัวไอ้โม่งผู้อยู่เบื้องหลังการลงขัน เพื่อเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีอุตสาหกรรมให้ได้ ขอให้สังคมเรียกร้อง กดดันให้รัฐบาล เปิดโปงขบวนการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีออกมาให้สังคมรับรู้ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลกลุ่มทุนใดๆ ทั้งสิ้น.
'นายกฯอิ๊งค์' ขอบคุณผู้นำอาร์เมเนีย หนุนเริ่มต้นเจรจา FTA ไทย-ยูเรเชีย
'นายกฯอิ๊งค์' ขอบคุณผู้นำอาร์เมเนีย สนับสนุนเริ่มต้นเจรจา FTA ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย พร้อมเพิ่มพูนการค้า ดึงศักยภาพ ศก. ร่วมกัน
ลงนาม‘FTAไทย-EFTA’ สานสัมพันธ์เศรษฐกิจ
นายกฯ ขอบคุณประเทศในสหภาพยุโรป ก่อนร่วมเป็นสักขีพยานลงนามความตกลง FTA
อิ๊งค์-ชัชชาติสำลักฝุ่น ยกเป็นวาระแห่งชาติสั่งทุกหน่วยงานแก้ไข/สธ.หวั่นก่อมะเร็ง
"นายกฯ" ประกาศวิกฤตฝุ่น PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ สายตรงสั่ง "อนุทิน" ประสาน "ภูมิธรรม" เร่งแก้ปัญหาด่วน
'ดิเรกฤทธิ์' จี้ 'แพทองธาร' ต้องเป็นผู้พิสูจน์เรื่องป่วยทิพย์ของพ่อ
ดร.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
สภาติงพนันถูกกม.ไม่ตอบโจทย์
"นายกฯ" สวมกระโปรงผ้าปาเต๊ะภาคใต้ หารือประธานบริหาร WEF ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชูซอฟต์พาวเวอร์ไทย