
ล้านนาสะเทือน “แม้ว”ทรุด “-“สีน้ำเงิน”ผงาด ช่วยหาเสียง ขึ้นเวทีปราศรัยให้ เชียงราย-ลำพูน ยังเอาไม่อยู่ แพ้พรรคส้ม-เด็กอนุทิน “วันไชยธนวงศ์”ฝากรอยแค้นสองนัดติด ตระกูล”วงศ์วรรณ” เข้ายุคขาลง เอ็กซ์เรย์รายจังหวัด “บ้านใหญ่”ยึดเรียบตามคาด
2 ก.พ. 2568 – ผู้สื่อข่าวรายงานผลการเลือกตั้งนายกอบจ.ภาคเหนือ 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พิจิตร ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยและเครือข่ายเพื่อไทย ที่มี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำพรรค กวาดมาได้สี่จังหวัด คือเชียงใหม่ ลำปาง น่าน แพร่
ส่วนจังหวัดที่แพ้คือ เชียงราย ที่นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ หรือนายกนก อดีตนายกอบจ.เชียงราย ค่ายสีน้ำเงิน ภูมิใจไทย เอาชนะ นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช อดีตนายกอบจ.เชียงราย ภรรยา นายยงยุทธ ติยะไพรัช แกนนำเพื่อไทยภาคเหนือตอนบน
ทั้งที่ นายทักษิณ มาช่วยนายยงยุทธและภรรยาหาเสียงให้ถึงสองครั้ง คือวันที่ 5 ม.ค.และ 29 ม.ค. ขึ้นเวทีปราศรัยให้ถึงห้าเวทีเพื่อเรียกร้องให้คนเชียงราย เลือกนางสลักจฤฎดิ์ แต่ผลเลือกตั้งที่ออกมา ก็ไม่สามารถเอาชนะ นางอทิตาธร จากบ้านใหญ่เชียงรายตระกูล วันไชยธนวงศ์ ที่พบว่า แทบไม่ได้มีการเปิดเวทีปราศรัยหาเสียงใดๆ แต่เน้นการพบประชาชนแบบเข้าถึงทุกหมู่บ้านแทน
ความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งนายกอบจ.เชียงราย ครั้งนี้ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งที่สองติดต่อกัน ของพรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้งนายกอบจ.เชียงราย หลังตอนเลือกตั้งนายกอบจ.ปี 2563 ที่เพื่อไทยส่ง นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ อดีตส.ส.เชียงราย เพื่อไทย ลงสมัคร โดยทักษิณเขียนจดหมายจากแดนไกลขอให้คนเชียงรายเลือกนางสาววิสาระดี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยแพ้ให้กับนางอทิตาธร และมารอบนี้ ก็แพ้ให้กับ นางอทิตาธร ที่มีพรรคสีน้ำเงินสนับสนุน เป็นครั้งที่สองติดต่อกัน
และอีกจังหวัดหนึ่งที่ เพื่อไทย-ทักษิณแพ้ในภาคเหนือ ก็คือ ลำพูน ที่พรรคเพื่อไทยส่ง นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีตนายกอบจ.ลำพูนลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยและเมื่อช่วง 30 ม.ค.ที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร ก็ได้แวะไปช่วยนายอนุสรณ์หาเสียงที่ลำพูนด้วย ระหว่างไปหาเสียงนายกอบจ.ที่เชียงรายและเชียงใหม่ โดยผู้ชนะก็คือ นายวีระเดช ภู่พิสิฐ หมายเลข 1จากพรรคประชาชนหรือพรรคส้ม ที่กลายเป็นนายกอบจ.หนึ่งเดียวจากพรรคประชาชน
ทั้งนี้จังหวัดลำพูน ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่าโพล์ของพรรคเพื่อไทย ในช่วงโค้งสุดท้าย นายอนุสรณ์ มีคะแนนตามหลัง นายวีระเดชหลายช่วงตัว ทำให้ เพื่อไทยกับนายทักษิณ ต้องรีบปรับกลยุทธ์ โดยเพิ่มโปรแกรมหาเสียงช่วยนายอนุสรณ์ พ่วงเข้ามา จากเดิมที่จะไปหาเสียงแค่ที่เชียงราย-เชียงใหม่ ช่วง 29-30 ม.ค. หลังมีกระแสในพื้นที่ว่าคนลำพูนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง เพราะมองว่านายอนุสรณ์ เป็นทั้งส.ส.-รัฐมนตรี-นายกอบจ.ลำพูนมาแล้ว เลยอยากได้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารแทน
สำหรับนายวีระเดช ภู่พิสิฐ มีฐานเสียงสำคัญที่ อ.เมือง โดยเป็นแกนนำพรรคคนสำคัญของพรรคส้มมาตั้งแต่ตั้ง พรรคอนาคตใหม่ และเป็นหัวหน้าสำนักงานพรรคฯ จ.ลำพูน ตั้งแต่ปี 2562 โดยมีพื้นฐานการเมืองในลำพูนที่ไม่ธรรมดาเพราะเป็นลูกชายของ “ประเสริฐ ภู่พิสิฐ” อดีตนายก อบจ.ลำพูน โดยที่ผ่านมา แกนนำพรรคประชาชน ทั้งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ได้ลงพื้นที่ช่วยหาเสียง เปิดปราศรัยใหญ่อย่างต่อเนื่องที่ลำพูน จนทำให้ นายทักษิณ ต้องไปช่วยนายอนุสรณ์ เพื่อตรึงคะแนนไว้ แต่ก็ไม่สำเร็จ
ที่น่าสนใจ คือผลการเลือกตั้งส.ส.ปี 2566 เริ่มเห็นสัญญาณเสื่อมมนต์ขลังของเพื่อไทยที่ลำพูน จากเดิมที่มักจะชนะส.ส.ยกจังหวัดมาตลอด เพราะปรากฏว่า พรรคก้าวไกล เจาะส.ส.เขตไปได้หนึ่งคนจากที่มีสองคน คือ เขต 1 วิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก พรรคก้าวไกล ที่ล้ม สงวน พงษ์มณี อดีต สส.หลายสมัย พรรคเพื่อไทยที่เป็นเสื้อแดงสายฮาร์ดคอร์ของลำพูน แต่เขต 2 รังสรรค์ มณีรัตน์ จากเพื่อไทย ยังรักษาเก้าอี้ไว้ได้
แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาคือ พบว่า คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ จ.ลำพูน อันดับที่ 1 พรรคก้าวไกล 118,003 คะแนน เอาชนะอันดับที่ 2 พรรคเพื่อไทยที่ได้ 100,746 คะแนน
สำหรับอนุสรณ์ วงศ์วรรณ หรือเสี่ยโอน เป็นอดีต สส.ลำพูน 5 สมัย และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่นรมว.วัฒนธรรม รมว.พัฒนาสังคมฯฯ เป็นลูกชาย พ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ อดีต สส.แพร่ หลายสมัย
ส่วนจังหวัดที่ เพื่อไทย ส่งผู้สมัครนายกอบจ.ในนามพรรคและในฐานะสมาชิกพรรค ในภาคเหนือที่เอาชนะได้ ประกอบด้วย
จังหวัดเชียงใหม่ – นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศรหรือนายกก็อง อดีตนายกอบจ.เชียงใหม่สมัยที่ผ่านมา สายตรงเจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ที่ไม่ได้ส่งในนามพรรคแต่ลงในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย เนื่องจากป้องกันปัญหาเรื่องคดีความส่วนตัว โดยนายพิชัย ยังรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้เพราะ เอาชนะนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ อดีตผอ.สำนักงานนวัตกรรมฯจากพรรคประชาชน ที่เปิดตัวหาเสียงมาร่วมปี ซึ่งที่เชียงใหม่ นายทักษิณ ไปเดินหาเสียงและขึ้นเวทีปราศรัยให้ถึงสองรอบ เช่นเดียวกับที่จังหวัดเชียงราย
แพร่ -นายอนุวัธ วงศ์วรรณ อดีตนายกอบจ.แพร่สมัยที่ผ่านมา ที่ยังรักษาเก้าอี้เอาไว้อีกสมัย โดยเอาชนะ นายประสงค์ ชุ่มเชย หมายเลข 1ที่ก่อนหน้านี้เคยอยู่กับทีมแม่เลี้ยงติ๊ก ศิริวรรณ ปรราศจากศัตรู อดีตส.ส.แพร่ ปัจจุบันเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยนายประสงค์การเลือกตั้งส.ส.ปี 2566 ลงสมัครส.ส.แพร่ พรรครวมไทยสร้างชาติด้วย แต่แพ้แบบไม่มีลุ้น โดยจังหวัดแพร่ ถือเป็นฐานที่มั่นสำคัญของเพื่อไทยในภาคเหนือ ซึ่งเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ชนะส.ส.เขต ยกจังหวัดแบบไม่ยากเย็น กวาดมาได้สามเก้าอี้
ทั้งนี้นายอนุวัธ คือ ลูกชายคนโตของ พ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ โดยเป็นนายกอบจ.แพร่มาแล้ว 3 รอบ รวมเวลาเป็นนายกอบจ.แพร่มาร่วม 17 ปี
น่าน-นายนพรัตน์ ถาวงศ์ อดีตนายกอบจ.น่าน สายตรง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังรักษาเก้าอี้ไว้ได้ โดยทิ้งห่าง คู่แข่งอันดับสอง นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ อดีตสว.น่านปี 2543 แบบม้วนเดียวจบ
ลำปาง-น.ส.ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร อดีตนายกอบจ.ลำปางสมัยที่ผ่านมา ลูกสาว ไพโรจน์ โล่สุนทร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย อดีตส.ส.ลำปางหลายสมัย ตั้งแต่ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ยังคงรักษาเก้าอี้ไว้ได้
ส่วนว่าที่นายกอบจ.ที่ชนะเลือกตั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ในเครือข่ายสีน้ำเงิน โดยเฉพาะตระกูล วันไชยธนวงศ์ นอกจากนางอทิตาธร ที่เชียงรายแล้ว ก็ยังมีที่ แม่ฮ่องสอนที่นายอัครเดช วันไชยวงศ์ อดีตนายกอบจ.แม่ฮ่องสอน 3 สมัย ที่แม้เป็นคนเชียงราย แต่มาตั้งรกรากและทำธุรกิจที่แม่ฮ่องสอน ก็ยังรักษาเก้าอี้นายกอบจ.แม่ฮ่องสอนไว้ได้อีกหนึ่งสมัย จ่อเป็นนายกอบจ.แม่ฮ่องสอนสมัยที่ 4
และปิดท้ายที่จังหวัดพิจิตร ซึ่ง เป็นศึกสายเลือดของตระกูล”ภัทรประสิทธิ์”ที่มี เสี่ยอ็อด ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นหัวเรือใหญ่รอบนี้ ส่งหลาน แท้ๆ นายกฤษฏ์ เพ็ญสุภา ที่เป็นลูกพี่สาว เคยเป็นผู้บริหารตลาดสี่มุมเมือง ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ที่รังสิต และก่อนหน้านี้เคยส่งไปเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ ลงสมัครชิงนายกอบจ.พิจิตร โดยแข่งกับ พ.ต.อ.กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ ที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายประดิษฐ์ แต่ตอนหลังแตกคอกันเองอย่างรุนแรง ทั้งที่ตอนเลือกตั้งนายกอบจ.ปี 2563 นายประดิษฐ์สนับสนุน พ.ต.อ.กฤษฎา จนเอาชนะชาติชาย เจียมศรีพงษ์ อดีตนายกอบจ.พิจิตรหกสมัยลงได้ จึงทำให้นายประดิษฐ์ ซึ่งตอนเลือกตั้งส.ส.พิจิตร ปี 2566 เข้าไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย และทำให้ภูมิใจไทยได้ส.ส.พิจิตร ยกจังหวัดสามคน เลยดันหลานชาย ที่เป็นลูกพี่สาว ชนกับพ.ต.อ.กฤษฎา จนกลายเป็นศึกสายเลือดเมืองชาละวัน โดยจังหวัดพิจิตร พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งคนลงแต่อย่างใด
โดยที่พ.ต.อ.กฤษฎา ก็มีอดีตส.ส.พิจิตร ทั้งสายประชาธิปัตย์และเพื่อไทยจับมือกันคอยหนุนหลังให้ชนกับหลานนายประดิษฐ์ เพื่อตัดกำลังนายประดิษฐ์ไม่ให้ยึดการเมืองพิจิตรทั้งระดับชาติและท้องถิ่น แต่ก็ต้านไม่ไหว สุดท้าย นายกฤษฏ์ เพ็ญสุภา ได้เป็นนายกอบจ.พิจิตร กลางศึกสายเลือด ตระกูลภัทรประสิทธิ์
จึงทำให้เท่ากับภาคเหนือ พรรคภูมิใจไทย-เครือข่ายสีน้ำเงิน มีคนของตัวเอง เป็นนายกอบจ.ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือสามคน คือเชียงราย แม่ฮ่องสอน พิจิตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ฝ่ายค้าน’ซักฟอก‘นายกฯอิ๊งค์’ ขยายแผล ปูทาง ยื่น 'ป.ป.ช.'
เปิดฉากกันไปแล้ว ศึกซักฟอก อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายใต้คอนเซปต์ ‘ดีลแลกประเทศ’ วันแรก ไฮไลต์สำคัญ ช่วงเช้าหนีไม่พ้นการเปิดหัวของ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และการลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ชำแหละ 'อิ๊งค์' ใช้อำนาจนายกฯ ฮุบที่ดิน 'อัลไพน์' ซูเอี๋ย 'เขากระโดง'
'จุลพงศ์' ซัด 'แพทองธาร' ใช้อำนาจนายกฯ หวังฮุบที่ดินอัลไพน์ รู้เห็นเป็นใจที่ดินเขากระโดง ชี้แค่ละครแบ่งผลประโยชน์ กับ 'ภูมิใจไทย'
'ชัยชนะ' เผย ปชป. ถก 26 มี.ค. เคาะมติโหวตนายกฯ ปัดตอบแทน '3 อดีตหน.'
'ชัยชนะ' ชี้ผู้นำฝ่ายค้านพูดเรื่องเก่า แนะก้าวข้าม ย้อน ปชน. มีผู้นำจิตวิญญาณไม่ต่างจาก พท. เผย ปชป.ประชุม 26 มี.ค. เคาะมติโหวตนายกฯ ปัดตอบแทน '3 อาวุโส' ของพรรค
'เท้ง' เปิดฉากซักฟอก 'อิ๊งค์' ซัดทำไทยมีนายกฯ 2 ระบบ ตกต่ำยิ่งกว่ารัฐบาล คสช.
เปิดฉากอภิปรายไม่ไว้วางใจ 'วันนอร์' แจงกติกา เตือนระวังอภิปรายพาดพิงคนนอก 'ผู้นำฝ่ายค้าน' จั่วหัวร่ายยาว ซัด 'แพทองธาร' ปล่อยคนในครอบครัวชักใย ชี้ไทยมีนายกฯนอกระบบ-ในระบบ ดีลแลกประโยชน์เจ้าสัว
'นายกฯอิ๊งค์' ยิ้มแย้ม ลั่นหลับสบายไม่ตื่นเต้น 'พ่อแม้ว' โทรให้กำลังใจ สแตนด์บายตลอด
'อิ๊งค์' ยิ้มแย้ม เข้าสภาตอบซักฟอก บอกหลับสบาย ไม่ตื่นเต้น เผย 'ทักษิณ' ยกหูให้กำลังใจ พร้อมสแตนด์บายซัพพอร์ต หลังติวเข้มเน้นประเด็นเศรษฐกิจ