จับสัญญาณ 'แพทองธาร' อยู่ไม่ครบเทอม ทิ้งไพ่ 'ยุบสภา' รีเซตอำนาจ!

การเมืองไทยเป็นกระแสน้ำที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ความไม่แน่นอนสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้รัฐบาลภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร” จะเพิ่งเริ่มต้นบริหารประเทศได้ไม่ถึงปี แต่กลับเผชิญกับสัญญาณแห่งความไม่แน่นอนที่เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
 
แม้กระทั่ง “ทักษิณ ชินวัตร” บิดาของนายกฯแพทองธาร และผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของรัฐบาล จะออกมายืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่ครบวาระจนถึงปี 2570 
 
แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับสะท้อนให้เห็นว่า “การยุบสภา” เพื่อรีเซ็ตอำนาจก่อนครบเทอม อาจกลายเป็นทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว
 
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลนี้เผชิญแรงเสียดทานมาจากสองทิศทาง ทั้งแรงกดดันภายในจากพรรคร่วมรัฐบาลและแรงกดดันภายนอกจากประชาชน
 
ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ “พรรคเพื่อไทย” และ "พรรคภูมิใจไทย" ซึ่งแม้จะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จตั้งแต่ต้น แต่เมื่อเริ่มเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการบริหารประเทศ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์และแนวทางการเมืองก็เริ่มปะทุจนยากจะปกปิด
 
เอาเข้าจริงหากพิจารณาการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้โครงสร้างที่ “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำ แต่ต้องพึ่งพาเสียงของ “พรรคภูมิใจไทย” อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกิดภาวะ “จำใจร่วม” มากกว่าจะเป็นพันธมิตรทางอุดมการณ์ที่แท้จริง
 
การตัดสินใจทางนโยบายที่ขัดแย้งกันหลายครั้งตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้เห็นชัดว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองพรรคกำลังเดินเข้าสู่จุดแตกหัก
 
หนึ่งในสัญญาณที่สะท้อนรอยร้าวที่ชัดเจนล่าสุด คือการที่ “เนวิน ชิดชอบ” บุคคลผู้มีอิทธิพลสูงสุดของพรรคภูมิใจไทย และเป็นผู้สนับสนุนหลักของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ออกมาเคลื่อนไหวอย่างไม่ปกติ 
 
แม้ “เนวิน” จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมือง แต่คือผู้กำหนดทิศทางและอนาคตของพรรคภูมิใจไทย ดังนั้นทุกการขยับตัวของเนวิน จึงสะท้อนสัญญาณทางการเมืองที่ต้องจับตา
 
กรณีการที่รัฐบาลและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมี “สรวงค์ เทียนทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นเจ้ากระทรวง ตัดสินใจ “ไม่ต่อสัญญา MotoGP” ที่บุรีรัมย์ โครงการสำคัญที่เชื่อมโยงโดยตรงกับฐานอำนาจของเนวิน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ถือเป็นฐานที่มั่นของภูมิใจไทยแล้ว ยังสะท้อนถึงความร้าวฉานภายในพรรคร่วมรัฐบาล
 
ความขัดแย้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเรื่อง MotoGP แต่เกิดจากหลายประเด็น ทั้งปมที่ดินเขากระโดง การเปิดโปงการครอบครองที่ดินของสนามกอล์ฟในนครราชสีมา และกรณี “ฮั้วเลือก สว.” ที่พรรคเพื่อไทยพยายามเจาะฐานเครือข่ายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นฐานอำนาจของภูมิใจไทยโดยตรง
 
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนชัดว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้มองภูมิใจไทยเป็น “พรรคร่วมที่ไว้ใจได้” อีกต่อไป แต่เริ่มพิจารณาภูมิใจไทยในฐานะคู่แข่งทางการเมืองที่ต้องจัดการก่อนที่อำนาจของตนเองจะถูกสั่นคลอน
 
ในขณะเดียวกัน แรงกดดันจากประชาชนก็เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจาก “กลุ่มเกษตรกร” ที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งลดลงต่ำสุดในรอบหลายปี
 
และแม้ “พรรคเพื่อไทย” จะเป็นพรรคที่วางตัวเองว่าเป็นตัวแทนของชาวนา แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาราคาข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นชนวนให้เกิดกระแสความไม่พอใจในหลายพื้นที่
 
อีกปัจจัยที่เริ่มสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลคือกระแสต่อต้าน “กาสิโนและการพนันออนไลน์” ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป เริ่มขยายวงออกมาคัดค้านอย่างหนัก 
 
แนวคิดเรื่องกาสิโนและการพนันออนไลน์ ที่ถูกนำมาเสนอโดยรัฐบาลกำลังกลายเป็นเชื้อไฟให้เกิดการเคลื่อนไหวประท้วงครั้งใหญ่ ซึ่งอาจบานปลายเป็นการชุมนุมทางการเมือง
 
นอกจากนี้ยังมี “ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ” นายกฯแพทองธาร ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ แม้อาจผ่านด่านนี้ไปได้ แต่หาก “แพทองธาร” ไม่สามารถเคลียร์ข้อกล่าวหาให้ชัดเจนต่อสาธารณะ ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลอาจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
 
ในอดีต “การยุบสภา” เป็นเครื่องมือที่ใช้เมื่อรัฐบาลเผชิญกับภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอำนาจภายในได้ หรือเมื่อแรงกดดันจากภายนอกทวีความรุนแรงจนไม่สามารถเดินหน้าบริหารประเทศได้ต่อไป
 
หากพิจารณาประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย การยุบสภาเกิดขึ้นมาแล้วถึง 14 ครั้ง โดยเหตุผลหลักมักเกี่ยวข้องกับ 1.ความขัดแย้งภายในรัฐบาล 2.แรงกดดันจากการประท้วงของประชาชน 3.การเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมือง
 
ด้วยเหตุนี้ แม้ “ทักษิณ” บิดาของนายกฯแพทองธาร จะออกมายืนยันว่ารัฐบาลแพทองธารจะอยู่ครบวาระ แต่การที่บุคคลอย่าง “เนวิน ชิดชอบ” เริ่มส่งสัญญาณทางการเมืองเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลกำลังถึงจุดเดือด!
 
เมื่อแรงกดดันมาจากทุกทิศทาง ทั้งภายในและภายนอก ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่ “ครบเทอม” การยุบสภาอาจกลายเป็นทางออก ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้สำหรับ “ทักษิณ-แพทองธารและพรรคเพื่อไทย”
 
แม้ว่าการยุบสภาอาจไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ แต่หากสถานการณ์ปะทุรุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้ “การยุบสภา” อาจกลายเป็นการตัดสินใจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ภายในปีนี้ เพื่อรีเซ็ตอำนาจและแก้ไขสถานการณ์ก่อนที่ทุกอย่างจะบานปลายจนถึงจุดที่ไม่สามารถควบคุมได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เท้ง' ชี้กาสิโนจะเดินหน้าได้ ต้องชัดเจนเรื่องมาตรการป้องกันฟอกเงิน-ทุจริต

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่วุฒิสภาตั้งคณะทำงานศึกษาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)

ประชาชนแน่นสถานีรถไฟบุรีรัมย์ แบกข้าวสารกลับเข้ากรุงเทพฯ ช่วยลดค่าใช้จ่าย

ประชาชนที่กลับมาเยี่ยมบ้านและฉลองสงกรานต์กับครอบครัวที่บุรีรัมย์  แห่ใช้บริการรถไฟกลับกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดวันหยุดสุดท้ายเต็มทุกขบวน ขณะตั๋วรถไฟถูกจองเต็มล่วงหน้าถึง 17 เม.ย.68

‘พิชิต’ ชี้พรรคอนุรักษนิยมแตกแถว พรรคลุงป้อมมาแรง

แกนนำ คปท. ชี้ชัดหลังปรับ ครม. รัฐบาลอาจไปต่อได้ แต่ไม่ถึงเทอม ซัดพรรคร่วมที่เคยต้าน “ระบอบทักษิณ” สูญเสียจุดยืนเอง ด้าน พรรคพลังลุงป้อม กลับน่าจับตา มาแรงในกลุ่มสายอนุรักษนิยม ชี้ “ศัตรูไม่ได้เก่ง แต่ตัวเองรบไม่เป็น”

'ธนกร' เชื่อเสถียรภาพรัฐบาลยังเดินหน้าไปได้!

'ธนกร' เชื่อเสถียรภาพรัฐบาลยังไปได้แม้มีเห็นต่างร่าง กม.บางฉบับ ชี้ พรรคร่วมเดินหน้าทำงาน ลุยแก้ปัญหาให้ ปชช.ต่อเนื่อง แนะยึดประโยชน์ประเทศ-ประชาชนเป็นหลัก

บททดสอบเก้าอี้ ‘นายกฯหญิง’ 7เดือนฝ่าหลาย ‘วิกฤตประเทศ’

อีกบททดสอบผู้นำหญิงของไทย “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ที่เข้ามานำทัพบริหารประเทศกว่า 7 เดือนแล้ว ภายใต้แรงกดดันและความคาดหวังจากประชาชน