เมื่อคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) หรือ "บอร์ดคดีพิเศษ" มีมติให้คดีฮั้วเลือก สว. ปี 2567 เข้าสู่การสอบสวนในฐานะคดีพิเศษ โดยเฉพาะประเด็นการฟอกเงิน ซึ่งเป็นอำนาจของดีเอสไอ (DSI) โดยไม่ต้องขอมติจากบอร์ดคดีพิเศษอยู่แล้วนั้น
ภาพแรกที่หลายคนเห็นคือเกมไล่บี้ “กลุ่ม สว. สีน้ำเงิน” ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นฐานอำนาจสำคัญของพรรคภูมิใจไทย ทว่าหากพิจารณาลึกลงไป การเดินเกมนี้อาจไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเอาผิดถึงที่สุด หากแต่เป็นการเปิดช่องให้เกิด “ดีล” ทางการเมืองที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน
การที่คดีถูกผลักเข้าสู่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวการหารือระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร-แพทองธาร ชินวัตร กับ อนุทิน ชาญวีรกูล-เนวิน ชิดชอบ แม้จะไม่มีการยืนยันว่า ดีลนี้เกี่ยวข้องกับคดีฮั้วเลือก สว. โดยตรง แต่ให้จับตาดูท่าทีของ “สว. สีน้ำเงิน” และพรรคภูมิใจไทย จากนี้ไปจะเงียบลงอย่างผิดปกติ
การเคลื่อนไหวที่แสดงออกมาเหมือนกับว่า “บอร์ดคดีพิเศษ” โดยเฉพาะกรรมการซึ่งมาจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบเสร็จแล้ว ภาระต่อไปจึงตกอยู่ที่ DSI ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าเกมนี้ไม่ใช่การไล่ล่า แต่เป็นการต่อรองระหว่างพรรคการเมือง
แม้โทษฐานฟอกเงินจะมีความรุนแรง แต่กระบวนการสอบสวนสืบสวนจะยืดเยื้อยาวนาน และดุลอำนาจการเมืองก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โอกาสที่จะลากไปถึงตัวการใหญ่ก็ดูแทบเป็นไปไม่ได้ หากมีการลงโทษในระดับใดก็อาจจะเป็นเพียง “ปลาเล็กปลาน้อย” ที่ไม่ได้กระทบต่อโครงสร้างอำนาจของฝ่ายสีน้ำเงิน
หากดีลนี้เกิดขึ้นจริง ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย ได้ภาพลักษณ์ของการ “ตรวจสอบ” ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ก็สามารถรักษาฐานอำนาจของตัวเองไว้ได้โดยไม่ต้องเผชิญความเสียหายร้ายแรง
ยิ่งไปกว่านั้น สัญญาณที่สะท้อนว่า ฝ่ายสีน้ำเงินอาจได้รับประโยชน์จากดีลนี้ คือการที่ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร อาจไม่มีแม้แต่เสียงคัดค้าน ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยกรณี “ฮั้วเลือกสว.” ได้คลี่คลายไปแล้วใน “ทางลับ”
แม้ดีลทางการเมืองจะปิดไปแล้ว แต่คดีนี้ยังทิ้งระเบิดลูกใหญ่ไว้ให้ อธิบดี DSI ต้องรับภาระ
การที่บอร์ดคดีพิเศษผลักคดีนี้ไปที่ DSI ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า อธิบดี DSI คนปัจจุบัน “พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ” พร้อมจะเผชิญหน้ากับเครือข่ายสีน้ำเงินหรือไม่?
เพราะที่ผ่านมาตำแหน่งอธิบดี DSI ไม่ใช่เก้าอี้ที่มั่นคง โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดีการเมืองหนักๆ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อดีตอธิบดี DSI ที่เคยมีบทบาทสำคัญในคดีทางการเมืองช่วงปี 2553 แต่สุดท้ายถูกศาลตัดสินจำคุกฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ!
ชะตากรรมของ “ธาริต” เป็นบทเรียนสำคัญว่า DSI อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือชั่วคราวของฝ่ายการเมือง แต่เมื่ออำนาจเปลี่ยนขั้ว คนที่เคยดำเนินคดีกับฝ่ายตรงข้ามอาจกลายเป็นเป้าหมายเสียเอง
ดังนั้น อธิบดี DSI “พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ” จึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าจะเดินเกมอย่างไร เพราะไม่ว่าจะเลือกเดินหน้าชนเครือข่ายสีน้ำเงินหรือปล่อยให้คดีนี้เงียบหายไป ล้วนแต่มีความเสี่ยงทั้งสิ้น
โดยเฉพาะต้องไม่ลืมว่า มีข้อกังขาสงสัยจาก “บอร์ดคดีพิเศษ-เสียงข้างน้อย” ที่ไม่เห็นด้วยในการรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษในสองประเด็น
1. มูลค่าความเสียหายหรือวงเงินถึง 300 ล้านบาท หรือไม่? กรรมการ กคพ. ที่ไม่รับคดีนี้เห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานที่ชี้ชัดถึงวงเงินดังกล่าว เป็นเพียงการตั้งสมมติฐานของ DSI
2. การเสนอให้ลงมติรับเป็นคดีพิเศษ มีมูลฐานความผิดตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงินหรือไม่? และมีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่? ซึ่งดีเอสไอยังไม่ได้ให้รายละเอียดชี้แจงเพิ่มเติม
และอีกประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ ความซับซ้อนทางข้อกฎหมาย แม้ DSI มีอำนาจทำคดีฟอกเงิน แต่ความผิดในคดีเลือกตั้ง สว. ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. มาตรา 77... (1) จัด ทํา ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
...ความผิดตาม (1) ให้ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้คณะกรรมการมีอํานาจส่งเรื่องให้สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจได้
กรณีฟอกเงินจากการซื้อขายเสียง จึงตอกย้ำว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการดำเนินการตามกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและการฟอกเงิน โดย DSI ต้องยอมรับบทบาทของกกต. ในเรื่องนี้เป็นสำคัญ
ปัญหาที่อธิบดี DSI ต้องเผชิญจึงเต็มไปด้วยโจทย์ยาก!
แม้คดีฮั้วเลือก สว. จะดูเหมือนการเดินเกมทางกฎหมายของพรรคเพื่อไทยเพื่อลดอำนาจของพรรคภูมิใจไทย แต่ในความเป็นจริง ดีลทางการเมืองอาจถูกปิดไปแล้ว ทำให้คดีนี้เป็นเพียงเครื่องมือทางอ้อมที่ไม่มีใครต้องเจ็บตัว
ฝ่ายพรรคเพื่อไทยได้ภาพลักษณ์ของการตรวจสอบ ขณะที่เครือข่ายสีน้ำเงินน่าจะรอดจากผลกระทบหนัก
แต่คนที่อาจเผชิญชะตากรรมยากที่สุดในเกมนี้อาจเป็นอธิบดี DSI ที่ต้องแบกรับภาระของคดีที่มีเดิมพันสูง แต่แทบไม่มีทางไปถึงตัวการใหญ่
สุดท้ายแล้ว DSI อาจต้องปล่อยให้คดีนี้ถูกกลืนหายไปตามกระบวนการ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง คดีฮั้วเลือก สว. อาจไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่เป็นเพียงอีกหนึ่งข้อต่อรองที่จบลงในเงามืด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ดร.ณัฏฐ์’ วิเคราะห์เกมปรับ ครม. แพทองธารใช้สูตร ‘ดองเค็ม’ สั่งสอนภูมิใจไทย
นักกฎหมายมหาชนชี้ เกมการเมืองหลังสงกรานต์ร้อนแรง รัฐบาลแพทองธารอาจไม่ยุบสภาแต่เลือก ‘ปรับ ครม.’ แบบลดบทบาทภูมิใจไทย ดองเค็มไม่ให้กล้าต่อกรกลางสภา ย้ำ กระทรวงมหาดไทย คือเป้าหมายหลักในยุทธศาสตร์คืนอำนาจ ก่อนศึกเลือกตั้ง 2570
'เทพไท' ชี้ เพื่อไทย กลืนไม่เข้าคายไม่ออกดีดภูมิใจไทยพ้นครม.
นายเทพไท เสนพงษ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “เทพไท – คุยการเมือง” ระบุว่า ปรับภูมิใจไทยออก: ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก
ดีเอสไอ บุกจับ 'ชวนหลิง จาง' คาโรงแรมหรู คดีนอมินีบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ
จากกรณี พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีนอมินี หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย)
'สุทิน' มั่นใจไร้เกมล้ม พรบ.งบประมาณปี 69 ทุกคนต้องรับผิดชอบ
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) วุฒิสภา
ภูมิใจไทย มีมติตะเพิด 'เอกราช ช่างเหลา' พ้นสมาชิกพรรค
กรณีที่ศาลจังหวัดขอนแก่น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568 จำคุก นายเอกราช ช่างเหลา สส.ขอนแก่น เป็นเวลา 5 ปี 93 เดือน และให้ช
DSI เผย พร้อมสอบปากคำ 51 วิศวกร ปมมีชื่อเกี่ยวข้องคุมงานก่อสร้างตึก สตง.
โฆษกดีเอสไอ เผย พร้อมสอบปากคำ 51 วิศวกร ปมมีชื่อเกี่ยวข้องคุมงานก่อสร้างตึก สตง. หลังก่อนหน้านี้ “ชัยฤทธิ์” - “สมเกียรติ” 2 วิศวกรเข้าแสดงตนปฏิเสธไม่เกี่ยวข้อง ขณะที่สัปดาห์หน้า เชิญ “บ.อิตาเลียนไทย“ - ”พิมล เจริญยิ่ง“ วิศวกรอายุ 85 ปี เข้าให้ข้อมูล หลังเลื่อนนัดพบพนักงานสอบสวน