การอภิปรายไม่ไว้วางใจ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงกระบวนการตรวจสอบรัฐบาลตามกลไกประชาธิปไตย
แต่ยังเป็นเวทีสำคัญที่พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ “พรรคประชาชน” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “พรรคส้ม” จะใช้สร้าง “แรงส่งทางการเมือง” ภายใต้การนำของ “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” ที่พยายามเสนอตัวเป็น “รัฐบาลของประชาชน” และเป็นทางเลือกใหม่สำหรับประชาชน
แม้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้มีแนวโน้มว่า “นายกฯ แพทองธาร” จะผ่านไปได้อย่างราบรื่น เนื่องจากเสียงของพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรอย่าง “พรรคภูมิใจไทย” ยังคงเหนียวแน่น
แต่สิ่งที่น่าจับตาคือท่าทีของ “พรรคประชาชน” ที่จะส่งสัญญาณทางการเมืองอะไรออกมา โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ “3 ไม่” ที่ “ณัฐพงษ์” เพิ่งประกาศเมื่อ 15 มีนาคม ที่จังหวัดเชียงราย
ยุทธศาสตร์ “3 ไม่” ได้แก่ “ไม่รับเงินทอน - ไม่สืบทอดอำนาจทางสายเลือด - ไม่ยอมจำนน” ซึ่งพรรคประชาชนประกาศว่าจะใช้เป็นหลักเกณฑ์คัดเลือกผู้สมัคร สส.ในการเลือกตั้งปี 2570
แนวทางนี้สะท้อนความพยายามของพรรคประชาชนในการสร้างภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากพรรคการเมืองเดิมๆ ที่พัวพันกับ “ระบบอุปถัมภ์” และ “อิทธิพลบ้านใหญ่”
แต่คำถามสำคัญคือ “3 ไม่” จะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงหรือจะเป็นเพียง สโลแกน คำพูด วาทกรรมที่สวยหรู ที่พรรคประชาชนชอบใช้เพื่อดึงดูดความสนใจ
แม้การประกาศ “ไม่รับเงินทอน” จะสะท้อนถึงจุดยืนต่อต้านการทุจริตและความพยายามแยกตัวจาก “การเมืองแบบเก่า” ที่เต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แต่ในสภาพแวดล้อมทางการเมืองไทยที่ยังคงพึ่งพาทรัพยากรจำนวนมากในการแข่งขัน พรรคประชาชนจะสามารถดำเนินแนวทางนี้ได้จริงหรือไม่?
เมื่อ “กระสุน” หรือทุนจากกลุ่มธุรกิจยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่พรรคการเมืองไทย ต้องใช้เพื่อเข้าสู่อำนาจ และตอบแทนกลับเมื่อได้อำนาจมาแล้ว
และแม้ว่าพรรคประชาชนจะปฏิเสธ “เงินทอน” แต่คำถามคือ จะหลีกเลี่ยงการพึ่งพา “เงินธร” ได้หรือไม่? เมื่อ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ยังคงเป็นแหล่งทรัพยากรทางการเงินที่สำคัญ และมีบทบาทในการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ของพรรค
อีกทั้งการไม่พึ่งพา “บ้านใหญ่” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพรรคประชาชนเองก็มี “บ้านใหญ่ในจังหวัดลำพูน” ที่มีบทบาทสำคัญในการชนะเลือกตั้งนายกอบจ. ลำพูน ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาชนกับอิทธิพลท้องถิ่น และอาจต้องพึ่งพาในการขยายฐานเสียง
หากปฏิเสธบทบาทของ “บ้านใหญ่” อาจทำให้พรรคเสียเปรียบในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เครือข่ายอิทธิพลยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดผลการเลือกตั้ง พรรคการเมืองไทยจำนวนไม่น้อยพึ่งพาฐานเสียงจากเครือข่ายเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับสายสัมพันธ์ทางครอบครัว
ในขณะเดียวกัน คำประกาศ “ไม่สืบทอดอำนาจทางสายเลือด” ของพรรค เป็นความพยายาม “สร้างภาพลักษณ์” ที่แตกต่างจากพรรคที่มีการสืบทอดอำนาจภายในครอบครัว เช่น พรรคเพื่อไทยที่มีเครือข่ายอำนาจในตระกูลชินวัตร
อย่างไรก็ตาม ในบริบทที่บ้านใหญ่ยังคงเป็นกลไกสำคัญของการเมือง ความตั้งใจนี้ของพรรคประชาชน เป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการได้จริง
ส่วนแนวทาง “ไม่ยอมจำนน” ดูเหมือนจะเป็นจุดยืนที่แข็งกร้าว แต่การเมืองไทยเต็มไปด้วย “การต่อรอง” และ “ดีลอำนาจ” หากพรรคประชาชนต้องการเข้าสู่อำนาจจริง ก็อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการเจรจาทางการเมืองและสร้างแนวร่วม
คำถามคือ “ณัฐพงษ์” จะสามารถรักษาจุดยืนนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง หรือจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางเมื่อเข้าสู่เกมการเมืองจริง?
แม้การเลือกตั้งปี 2570 ยังอยู่ห่างออกไป แต่การประกาศยุทธศาสตร์ “3 ไม่” ตั้งแต่ตอนนี้ อาจเป็นการเคลื่อนไหวที่เร็วเกินไป
เพราะโดยปกติพรรคการเมืองมักเริ่มเปิดตัวนโยบายในช่วงใกล้เลือกตั้งเพื่อให้ “กระแสสดใหม่” และดึงดูดความสนใจของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง แต่พรรคประชาชนเลือกเปิดเกมเร็ว ซึ่งอาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดีคือพรรคได้สร้างจุดยืนที่ชัดเจนและดึงดูดความสนใจจากผู้สนับสนุนตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ข้อเสียคือการเมืองไทยเป็น “พลวัต” และอาจมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงทิศทางได้ตลอด หากประกาศเร็วเกินไป อาจทำให้ยุทธศาสตร์ต้องถูกปรับเปลี่ยนในภายหลัง
ที่สำคัญ การเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน แม้รัฐบาลแพทองธารจะยืนยันว่าพร้อมอยู่ครบเทอม 4 ปี แต่แรงกดดันทางการเมืองอาจทำให้การ “ยุบสภา” เกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนด หากเกิดการเลือกตั้งก่อนเวลา พรรคที่เตรียมตัวล่วงหน้าจะได้เปรียบ และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่พรรคประชาชนตัดสินใจเปิดเกมเร็ว
ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้า จะเป็นบทพิสูจน์ว่า “3 ไม่” ของพรรคประชาชนจะเป็นยุทธศาสตร์ที่อยู่รอดในสนามการเมือง หรือจะกลายเป็นเพียง “คำพูดที่ดูดีในทางทฤษฎี” แต่กลับ “ไม่สามารถเอาชนะ” ความซับซ้อนของการเมืองไทยได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ดร.ณัฏฐ์’ วิเคราะห์เกมปรับ ครม. แพทองธารใช้สูตร ‘ดองเค็ม’ สั่งสอนภูมิใจไทย
นักกฎหมายมหาชนชี้ เกมการเมืองหลังสงกรานต์ร้อนแรง รัฐบาลแพทองธารอาจไม่ยุบสภาแต่เลือก ‘ปรับ ครม.’ แบบลดบทบาทภูมิใจไทย ดองเค็มไม่ให้กล้าต่อกรกลางสภา ย้ำ กระทรวงมหาดไทย คือเป้าหมายหลักในยุทธศาสตร์คืนอำนาจ ก่อนศึกเลือกตั้ง 2570
ซูเปอร์โพลชี้ผลสำรวจคนไทยมีความทุกข์มากขึ้น แต่ยังมั่นใจฝีมือ 'อิ๊งค์'
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ในสายตาของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น 1,215 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 - 19 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา
'วราวุธ' อ้างคำพ่อบรรหาร หวังลดแรงกระแทกพรรคร่วม ย้ำ ชทพ.ไม่มีหมัดแลกใคร
หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา มองอุณหภูมิการเมืองหลังปิดสมัยประชุมสภาจะเบาลง เพราะ ส.ส.ลงพื้นที่ เร่งทำงานให้ประชาชน พร้อมหยิบคำสอน “บรรหาร ศิลปอาชา”
ลูกใครก็ใหญ่ได้ ถ้าพ่อแม่มีอำนาจ 'ระบอบเลือดผสม' ในนามประชาธิปไตย
กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชายหนุ่มวัยยี่สิบปลายๆ ขับรถหรูพุ่งปาดหน้ารถกระบะบนถนนกาญจนาภิเษก (ทล.พ.9) กม.23+400 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี ก่อนจะลงจากรถอย่างไม่สะทกสะท้าน แม้จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บ
ดร.เสรี ซัดทายาทการเมืองบางคน 'โง่ได้โล่ กร่างไร้วุฒิภาวะ' เตือนปชช.อย่าเลือกเพราะบารมีพ่อแม่
ดร.เสรี วงษ์มณฑา ฟาดแรงทายาทนักการเมือง บางคนเลี้ยงลูกให้โง่ กร่าง จองหอง แถมพ่อแม่ยังเข็นเข้าสู่อำนาจแบบไม่แคร์คุณสมบัติ เตือนประชาชนอย่าหลงเลือกเพราะบารมี ถ้าตระกูลไหน “มี DNA ความชั่ว” ควรหลุดจากการเมืองไทยเสียที
ขึงขัง!7วันฟันสตง. ‘อุ๊งอิ๊ง’ชี้ใกล้ออกหมายจับ/ดีเอสไอจ่อเรียก51วิศวกรแจง!
"นายกฯ อิ๊งค์" ถก "ตำรวจ-ดีเอสไอ" คดีตึก สตง.ถล่ม แย้มใกล้ออกหมายจับคนผิดแล้ว