ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา คดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และเพิกถอนคำสั่งยึด อายัดทรัพย์สิน รวมทั้งคำสั่งขายทอดตลาด และคำสั่งปฏิเสธคำขอกันส่วนในฐานะเจ้าของร่วม
22 พฤษภาคม 2568 - ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านผลแห่งคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่
อผ. ๑๖๓ – ๑๖๖/๒๕๖๔ หมายเลขแดงที่ อผ. ๑๖๐ – ๑๖๓/๒๕๖๘ ระหว่าง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ ๑ และนายอนุสรณ์ อมรฉัตร ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี กับนายกรัฐมนตรี ที่ ๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ ๒ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ ๓ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่ ๔ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๕ กระทรวงการคลัง ที่ ๖ กรมบังคับคดี ที่ ๗ อธิบดีกรมบังคับคดี ที่ ๘ และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร ๖ ที่ ๙ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน ๓๕,๗๑๗,๒๗๓,๐๒๘.๒๓ บาท กรณีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก กับชดใช้ค่าเสียหาย และเพิกถอนคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สิน
รวมทั้งคำสั่งการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งปฏิเสธคำขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวม และให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้มีสิทธิกันส่วนในฐานะเจ้าของรวม โดยศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพิกถอนคำสั่ง ประกาศ การดำเนินการใด ๆ ในการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อขายทอดตลาด และเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลัง เรื่อง คำร้องขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวม ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าอุทธรณ์
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกแยกพฤติการณ์การกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (ประธาน กขช.) ออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง การดำเนินการในส่วนของนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือกที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งไม่มีส่วนที่ต้องรับผิดทางละเมิดต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ (กระทรวงการคลัง) ส่วนที่สอง การดำเนินการในการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งเป็นการกระทำทางปกครองแยกออกจากการดำเนินการในส่วนนโยบาย ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ย่อมอยู่ในฐานะเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
ซึ่งศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต ๒๕๕๔/๕๕ นาปรัง ปีการผลิต ๒๕๕๕ นาปี ปีการผลิต ๒๕๕๕/๕๖ และนาปี ปีการผลิต ๒๕๕๖/๕๗ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเป็น ๔ ขั้นตอน คือ (๑) การตรวจสอบคุณสมบัติและรับรองเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ (๒) การนำข้าวเปลือกไปจำนำและเก็บรักษาข้าวเปลือก (๓) การสีแปรสภาพข้าวเปลือกและเก็บรักษาข้าวสาร และ(๔) การระบายข้าว ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และยังเป็นประธาน กขช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ และโครงการที่อนุมัติ ในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสินค้าข้าว การที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาต่อผู้ฟ้องคดีที่ ๑ สอดคล้องต้องกันโดยสรุปว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีปัญหาเกิดขึ้นก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก มีการทุจริตเชิงนโยบายเกิดขึ้นในหลายขั้นตอน ขอให้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะและข้อสังเกตต่อไปด้วย
แต่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ มิได้ดำเนินการใดๆ ทั้งที่ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว และมิได้ติดตามให้คณะอนุกรรมการรายงานผลการดำเนินการให้ทราบว่า มีปัญหาในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามที่ได้รับรายงานหรือไม่
นอกจากนี้ ระหว่างการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต ๒๕๕๕ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีการตั้งกระทู้ถามผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๕ และมีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและคณะเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เรื่อง ปัญหาโครงการรับจำนำเกี่ยวกับกรณีเกษตรกรถูกโกงความชื้น การที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นประธาน กขช. ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาลว่า มีปัญหาการทุจริตทุกขั้นตอน แต่มิได้สั่งการให้คณะอนุกรรมการที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ แต่งตั้งขึ้นเพื่อให้ทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมตรวจสอบการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกดำเนินการตรวจสอบการดำเนินการว่ามีปัญหาการทุจริตหรือไม่ และรายงานให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ สั่งการต่อไป
จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ไม่คำนึงถึงข้อทักท้วงและข้อเสนอขององค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการต่างๆ ของรัฐ แต่กลับปล่อยให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต ๒๕๕๕/๕๖ และปีการผลิต ๒๕๕๖/๕๗ ยังคงดำเนินการต่อไป จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ปล่อยปละละเลยไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการทุจริต จึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการกระทำการทุจริตได้โดยง่าย อันถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ให้ได้รับความเสียหายตามมาตรา ๔๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กรณีมีปัญหาจะต้องพิจารณาต่อไปว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ (กระทรวงการคลัง) เพียงใดนั้น
เห็นว่าความเสียหายเฉพาะในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ทราบปัญหาการทุจริตแล้ว แต่ไม่ได้มีการติดตามกำกับดูแล โดยเฉพาะในการติดตามดูแลหรือตรวจสอบการทุจริตตามสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะประธาน กขช. เข้าร่วมประชุม กขช. แค่เพียงครั้งเดียว จากพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธาน กขช. ซึ่งมีหน้าที่ติดตามกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายยังคงละเว้น เพิกเฉย ละเลยไม่ติดตามหรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานผลการดำเนินงานตรวจสอบเพื่อที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดความเสียหาย ซึ่งโดยวิสัยของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ย่อมเล็งเห็นได้ว่า ควรที่จะพิจารณาข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏตามหนังสือทักท้วงของหน่วยตรวจสอบว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นตามที่ได้รับรายงานหรือไม่ หรือติดตามดูแลการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) อย่างใส่ใจ
แต่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กลับเพิกเฉยหรือละเลย จนเกิดการทุจริตขึ้นในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ส่งผลให้มีปัญหาการระบายข้าวไม่ทันต้องเก็บรักษาข้าวในคลังเป็นเวลานานจนข้าวเสื่อมคุณภาพและสูญเสีย อีกทั้งไม่คำนึงถึงข้อทักท้วงและข้อเสนอของหน่วยงานซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด
พฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) เกิดจากการแอบอ้างทำสัญญาซื้อขายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด แล้วมีการหาประโยชน์ที่ทับซ้อนโดยทุจริตได้ข้าวส่วนต่างจากราคาข้าวตามสัญญาซื้อขาย จำนวน ๔ ฉบับ มีความเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๒๐,๐๕๗,๗๒๓,๗๖๑.๖๖ บาท
เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับทราบปัญหากรณีการทุจริตในการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือก กลับไม่ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม หรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาที่หน่วยตรวจสอบแจ้งให้ทราบ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เพียงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบและดำเนินการต่อไป แล้วรอรายงานจากเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เมื่อได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีการทุจริต ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ก็เชื่อรายงานดังกล่าว ทั้งที่แตกต่างจากผลการตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อความเสียหายจากการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายคน และเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธาน กขช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการควบคุมตรวจสอบกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือกที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ทั้งมีอำนาจตามกฎหมายในการระงับยับยั้งหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว แต่มิได้ดำเนินการดังกล่าวอันเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
จึงสมควรกำหนดสัดส่วนความรับผิดของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ตามมาตรา ๘ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยให้รับผิด ในอัตราร้อยละ ๕๐ ของความเสียหายจากการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ตามสัญญาทั้ง ๔ ฉบับ ดังกล่าว จำนวน ๒๐,๐๕๗,๗๒๓,๗๖๑.๖๖ บาท คิดเป็นเงินที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ต้องรับผิดจำนวน ๑๐,๐๒๘,๘๖๑,๘๘๐.๘๓ บาท
ดังนั้น คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เฉพาะส่วนที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน ๑๐,๐๒๘,๘๖๑,๘๘๐.๘๓ บาท จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เฉพาะส่วนที่เรียกให้
ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน ๑๐,๐๒๘,๘๖๑,๘๘๐.๘๓ บาท เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด ในส่วนที่เกินกว่าจำนวน ๑๐,๐๒๘,๘๖๑,๘๘๐.๘๓ บาท อันเป็นการใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่ใช้บังคับในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน และเมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้มาภายหลังจากการที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ฟ้องคดีที่ ๒ อยู่กินฉันสามีภริยาโดยมีเจตนาเปิดเผยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๘ อีกทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งสองยังได้มีบุตรด้วยกัน พฤติการณ์ย่อมถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองอยู่อาศัยร่วมกันตลอดมาและมีเจตนาเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ จึงย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่มีส่วนในทรัพย์สินเท่ากันกับผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ตามมาตรา ๑๓๕๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้จะไม่ปรากฏชื่อผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าวก็ตาม ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นผู้มีสิทธิขอกันส่วนในทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร ๖ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๙) การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ โดยปลัดกระทรวงการคลัง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔) ปฏิเสธการขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวมซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดมาจากผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ ๒
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็น
๑. ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะส่วนที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน ๑๐,๐๒๘,๘๖๑,๘๘๐.๘๓ บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป
๒. ให้เพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการใดๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๙ ที่มีคำสั่ง ประกาศหรือการดำเนินการใด ๆ ในการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด อันเป็นการบังคับตามมาตรการทางปกครอง ตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะในส่วนที่เกินกว่าจำนวน ๑๐,๐๒๘,๘๖๑,๘๘๐.๘๓ บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป
๓. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ดำเนินการสั่งการเกี่ยวกับการขอกันส่วนทรัพย์สินที่ถูกยึดเพื่อนำมาขายทอดตลาดตามสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ จำนวน ๓๗ รายการ และแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ จัดทำบัญชีรับ-จ่าย เพื่อกันส่วนให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะเจ้าของรวม รวมทั้งแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ทราบ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน ๖๐ วัน นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สมชาย' เตือน! ซ้ำรอย 'ยิ่งลักษณ์' เสียพระวิหาร ยุค 'อุ๊งอิ๊ง'อาจเสีย 'ตาเมือนธม' ยัน 'เกาะกูด'
นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความว่า ระวังประวัติศาสตร์ซ้ำรอย พศ2556 นายกยิ่งลักษณ์ เสียพระวิหาร รอบ2 พศ25
'พิชัย'ยังไม่ตัดสินใจเรียกค่าเสียหายยิ่งลักษณ์!
'พิชัย' ยังไม่ตัดสินใจปมเรียกค่าเสียหาย 'ยิ่งลักษณ์' ชดใช้ค่าเสียหายจำนำข้าว ขอรอฟังปลัด ก.คลัง ก่อน ไม่ทราบทนาย 'ปู' จ่อยื่นขอชะลอ
ส่อไม่จ่ายแม้แต่สตางค์เดียว!ทนายยิ่งลักษณ์เล็งยื่น 'ชะลอจ่าย-ตั้งคดีใหม่'
'นรวิชญ์' เล็งยื่นศาลปกครอง สั่ง ก.คลัง ชะลอเรียกค่าเสียหายหมื่นล้านคดีจำนำข้าว พร้อมยื่นหลักฐานขอตั้ง คดีจำนำข้าวใหม่ หลังพบตัวเลขจำหน่ายข้าว 18.5 ล้านตัน สูงกว่าตัวเลขถูกชดใช้
'หมอวรงค์' เชื่อ 'สทร.' ขบวนการทำลายความน่าเชื่อถือแพทยสภา 'สมศักดิ์' จะวีโต
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ทำลายความน่าเชื่อถือแพทยสภาหรือไม่
'ทักษิณ' พล่ามมีคนปั่นพายุ เป็นอุปสรรคยิ่งลักษณ์กลับไทย แต่เดี๋ยวก็จบแล้ว
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเรื่องคดีจำนำข้าว ว่า ศาลได้อธิบายอีกครั้งหนึ่ง ว่า เรื่องนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นโจทก์เขาไม่ได้เป็นจำเลย
เป็นไปตามแผน! 'ชูศักดิ์' ชี้ ค่าเสียหายจำนำข้าว 'ยิ่งลักษณ์' ต้องคำนวณอีกรอบ อ้างข้อเท็จจริงเปลี่ยน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังใ