พบผลวิจัยใหม่ 'สูบบุหรี่ไฟฟ้า' เสี่ยงเป็นเบาหวาน 22% แถมอันตรายเท่าสูบบุหรี่ธรรมดา

13 มีนาคม 2565 – ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยงานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ที่พบว่า “การสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความสัมพันธ์กับภาวะก่อนเบาหวาน หรือ Prediabetes” โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นการใช้ข้อมูลสำรวจสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงของประชาชนอเมริกา (Behavioral Risk Factor Surveillance System Survey : BRFSS) ซึ่งถือว่าเป็นการสำรวจที่ใหญ่ที่สุดมีกลุ่มตัวอย่างกว่า 600,000 คนทั่วประเทศ เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับภาวะก่อนเบาหวาน (การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติแต่ยังไม่เข้าเกณฑ์ของโรคเบาหวาน) ซึ่งผลการศึกษาพบว่า คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงต่อการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติหรือภาวะก่อนเบาหวานเพิ่มขึ้น 22% ส่วนในคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าโดยที่ไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อนเลย ยิ่งพบความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 54% โดยคนที่ถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะก่อนเบาหวาน มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคเบาหวานในอนาคต

ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ตรงกับผลของการสูบบุหรี่ธรรมดาที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานตามรายงานของแพทย์ใหญ่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 โดยคนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 30-40% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ ส่วนสาเหตุที่การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวานน่าจะเกิดจากสารนิโคตินที่มีในบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งโดยทั่วไปจะมีปริมาณสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา เคยมีงานวิจัยระบุว่านิโคตินทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น นอกจากนี้นิโคตินยังทำลายการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบประสาท ทำให้เกิดการอักเสบ ทำลายระบบสมดุลของกลูโคสในร่างกาย ส่งผลเสียต่อการทำงานของอินซูลิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นคำอธิบายของความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและโรคเบาหวาน

“ยังมีความเข้าใจที่ผิดเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอยู่หลายเรื่อง สิ่งหนึ่งคือกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามักจะให้ข่าวว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ทำให้เกิดเบาหวานเพราะมีสารให้ความหวานปริมาณที่ต่ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นความจริง จากผลวิจัยนี้ก็ย้ำว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัยและเพิ่มความเสี่ยงต่อเบาหวาน นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ถูกรับรองโดยเอฟดีเอสหรัฐฯ ว่าช่วยเลิกบุหรี่ได้ มีงานวิจัยหลายชิ้นให้ผลตรงกันว่า ประสิทธิภาพของบุหรี่ไฟฟ้าในการเลิกบุหรี่ต่ำกว่าการใช้ยาช่วยเลิกหรือการหักดิบ ดังนั้นการจะเลิกบุหรี่ควรปรึกษาแพทย์และใช้ผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ที่องค์การอาหารและยารับรองแล้วเท่านั้น” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวย้ำ

ดร.ชยัม บิสวาล อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า รู้สึกประหลาดใจกับผลการศึกษาครั้งนี้ เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามักจะถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า ซึ่งขณะนี้ทราบแล้วว่าความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ ความพยายามในการรณรงค์ให้คนเลิกบุหรี่ส่งผลให้การสูบบุหรี่ลดลง ด้วยข้อมูลจากงานวิจัยนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเพิ่มความพยายามด้านสาธารณสุขในการรณรงค์ให้เลิกบุหรี่ไฟฟ้าด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนอุณหฆาต! รู้ทัน 'ฮีตสโตรก' โรคที่มาจากความร้อน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ลมแดด! มันมากับความร้อน

'เปิ้ล นาคร' โวย 'ซีเซียม-137' ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ควรให้ข้อมูลประชาชนแบบกระจ่าง!

นาทีนี้สิ่งที่หลายคนเป็นห่วงนอกจากอากาศที่แย่ลงทุกวัน ล่าสุดยังมีกรณีพบสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 อยู่ในฝุ่นแดงบริเวณเหล็กหลอมในโรงงาน เคพีพี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งตอนนี้ประชาชนกำลังวิตกว่าสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ดังกล่าวที่ถูกหลอมไปแล้วนั้นจะเป็นอันตรายในวงกว้างได้ถึงพื้นที่ใดบ้าง ส่งผลอัตรายอย่างไร และต้องการทราบข้อมูลให้ได้มากที่สุด

'หมอธีระ' เปิดผลวิจัยจีน ชี้ชัดติดโควิดเสี่ยงเบาหวาน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 203,628 คน ตายเพิ่ม 373 คน รวมแล้วติดไป 643,034,979 คน เสียชีวิตรวม 6,625,861 คน

'ฝุ่นจิ๋วพิษ' น่าสะพรึง! เจอไม่นานหัวใจวาย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ฝุ่นจิ๋วพิษเจอไม่นาน…หัวใจวาย

“ปานเทพ” งัดงานวิจัย ม.ขอนแก่น เรื่องกัญชา ตอบ แพทย์จุฬาฯ พบช่วยบรรเทา เบาหวาน มะเร็ง อย่างมีนัยยะสำคัญ

นายปานเทพ พัวพงศ์พันธุ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ส่วนหนึ่งที่โพสต์ระบุว่า เรื่องงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบการเปิดกัญชาเสรีกับประชาชน