มธ. ชี้ 'สุขภาพ' คือขุมทรัพย์ประเทศไทย เปิดโอกาสบุคลากรด้านสุขภาพและกีฬา ก้าวสู่เจ้าของธุรกิจ

คณบดีสหเวชศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ชี้ ‘การดูแลสุขภาพ’ คือเทรนด์ ‘อนาคตของโลก’ ถือเป็นโอกาสทองบุคลากรด้านสุขภาพ ต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการ-เจ้าของธุรกิจ ย้ำ งานของ ‘วิชาชีพด้านสุขภาพ’ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ ‘บุคลากรในโรงพยาบาล’ อีกแล้ว

5 พ.ย.2565 - รศ.ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบุคลากรในวิชาชีพด้านสุขภาพ ไม่ได้ถูกจำกัดให้ประกอบอาชีพในโรงพยาบาลอย่างเดียวเท่านั้น เพราะทุกวันนี้ ‘การดูแลสุขภาพ’ เป็นกระแสทั้งในสังคมไทยและในระดับโลก โดยเฉพาะหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ภาคธุรกิจก็เห็นตรงกันว่าโอกาสของประเทศไทยคือ Wellness Tourism รวมถึงธุรกิจการให้บริการระดับ Medical Wellness ด้วยต้นทุนขุมทรัพย์ของประเทศไทย ทั้งศักยภาพด้านทรัพยากร การท่องเที่ยว และที่สำคัญคือ ศักยภาพด้านบุคลากรและการให้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงนโยบายระดับประเทศที่ส่งเสริมธุรกิจดังกล่าว นำไปสู่การเติบโตของโอกาสที่บุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพจะสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ประกอบการ หรือเจ้าของธุรกิจ ตั้งแต่ขนาดย่อมไปจนถึงขนาดใหญ่ได้ด้วยตนเอง หรือแม้กระทั่งปฏิบัติหน้าที่ภายในองค์กรของภาครัฐหรือภาคเอกชนที่จะมีการขยายตัวรองรับความต้องการด้านการบริการสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขณะที่ค่านิยมของการมีบุตรของคนรุ่นใหม่ลดลง ตรงนี้สะท้อนว่าในอนาคตอันใกล้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการสุขภาพจะเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและเริ่มมีมากขึ้นก็คือการเกิดธุรกิจใหม่ๆ ของภาคเอกชนที่ช่วยสนับสนุนระบบสุขภาพและหน่วยบริการของรัฐ ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงบริการที่ครอบคลุมการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วย ตัวอย่างเช่นการเปิดห้องปฏิบัติการ (Lab) ทางเทคนิคการแพทย์ การเปิดคลินิกส่งเสริมสุขภาพของทางกายภาพบำบัด ศูนย์สุขภาพ (Wellness Center) ของทางวิทยาศาสตร์การกีฬา ศูนย์รับดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง และการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้ายและครอบครัวที่มุ่งเน้นลดความทุกข์ทรมานด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ เช่นศูนย์ดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) เป็นต้น ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะเมื่อระบบด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สื่อสังคมออนไลน์ที่เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด การให้บริการด้านสุขภาพจึงไม่ได้จำกัดแค่เพียงในสถานที่หรือที่ต้องใช้ระบบที่ซับซ้อนเท่านั้น ในทางกลับกันคนรุ่นใหม่มองเห็นถึงโอกาสการสร้างอาชีพและธุรกิจทางสุขภาพในรูปแบบออนไลน์ เช่น การให้คำแนะนำ หรือเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพ หรือการออกกำลังกาย ฉะนั้นการมีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพจะยิ่งถือเป็นข้อได้เปรียบในอนาคต

คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ทางคณะสหเวชฯ ได้มีการติดตามกระแสของสังคมและโลกอยู่เสมอ รวมถึงร่วมมือทั้งกับภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน จึงเห็นถึงแนวโน้มความต้องการทางด้านสุขภาพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในหลายประเทศทั่วโลก การพัฒนาด้านจีโนมส์ทางการแพทย์ (Medical genomics) การแพทย์แม่นยำ (Precision medicine) และการแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalized medicine) รวมถึงการส่งเสริมและดูแลสุขภาพตั้งแต่ยังไม่ป่วย โดยวิสัยทัศน์เหล่านี้ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากแต่ละหลักสูตรของคณะสหเวชศาสตร์ทั้งสิ้น

รศ.ดร.ไพลวรรณ กล่าวต่อไปว่า หลักสูตรของคณะสหเวชศาสตร์ถูกพัฒนาโดยตั้งอยู่บนฐานของการตอบโจทย์ความต้องการให้กับสังคมไทย รวมทั้งปรับให้สอดคล้องกับกระแสของโลกในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะช่วยให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละหลักสูตรมีทางเลือกที่จะประกอบอาชีพได้หลากหลาย เพื่อรองรับความต้องการทั้งจากภาครัฐ และภาคธุรกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศทางปัจจุบันที่เปิดกว้างมากกว่าการทำงานเป็นบุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐ

คณะสหเวชศาสตร์ มธ. มีจุดแข็งอยู่ที่ความหลากหลายของหลักสูตรระดับปริญญาตรีซึ่งมีถึง 6 สาขา ได้แก่ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย การจัดการกีฬา การฝึกสอนกีฬา และรังสีเทคนิค รวมทั้งหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่มุ่งเน้นการวิจัยขั้นแนวหน้าแล้ว อีกทั้งยังมีกิจกรรมทั้งภายในหลักสูตรและภายนอกหลักสูตรซึ่งผ่านหน่วยงานความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงเรามีเวทีการเรียนรู้ฝึกปฏิบัติจริง ผ่านศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์ ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมทั้งในรูปแบบธุรกิจเพื่อหารายได้ และรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate social responsibility) จึงเป็นการผสมผสานทั้งความสามารถในเชิงการบริหารจัดการธุรกิจ ควบคู่ไปกับการมีจิตสาธารณะที่ทำเพื่อสังคมด้วยเช่นกัน

“เราส่งเสริมทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในปัจจุบันซึ่งมีความแตกต่างจากเมื่อก่อน เราพยายามให้นักศึกษาของเรามีทางเลือก มีทักษะที่หลากหลาย รวมถึงมี soft skills ที่สำคัญ มีความพร้อมและสามารถคว้าโอกาสที่จะมีเข้ามาได้ จึงทำให้หลักสูตรของเรามีความเข้มแข็ง และบัณฑิตที่จบออกไปมีความพร้อมเท่าทันความเปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบันและอนาคต” คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มธ. ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รองโฆษกรัฐบาล เผยประชาชนตอบรับโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่

นายคารม พลพรกลาง เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นลดความเหลือมล้ำ และสนับสนุนประชาชนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุข

ดร.นิว เฮลั่น! หยั่งเสียงเลือกอธิการบดีมธ. 'ปริญญา' ได้ที่โหล่

ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า "โชคดีของ

ดร.นิว ยันมธ.ไม่ได้ล้มเจ้าทุกคน แต่ข้องใจบางคนสาละวนกับเครือข่ายล้มล้างการปกครอง?

ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา

มธ.ผนึก IBM Thailand เปิดหลักสูตรออนไลน์ ‘Data Science -AI' สร้างความรู้-ทักษะสำคัญให้นศ.

‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ จับมือ ‘IBM Thailand’ ทำ MOU ดำเนินโครงการ “Thammasat-IBM SkillsBuild” เปิดโอกาสให้ นศ. เพิ่มความรู้ – ทักษะจำเป็นด้านเทคโนโลยี ผ่านหลักสูตรออนไลน์ 4 กลุ่มวิชาหลัก ‘Data Science – AI – Security - Cloud’ จากบริษัทชั้นนำด้าน IT ระดับโลก