'หมอมนูญ' เจอเคส 'ฝีในปอด' ติดเชื้อแบคทีเรียจากรากฟัน

2 ธ.ค. 2565 – นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โรคฝีในปอด (Lung abscess) บางรายเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เจริญได้ในภาวะที่ไม่มีออกซิเจน (anaerobic bacteria) อาศัยอยู่ในเหงือกและรากฟันที่อักเสบ ปนกับน้ำลาย ไหลลงไปในหลอดลม และทำให้เกิดฝีในปอด รักษาโดยการใส่ท่อระบายหนองจากฝีในปอด และให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อชนิดนี้

ผู้ป่วยชายไทยอายุ 46 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 เริ่มเจ็บหน้าอกข้างซ้าย หายใจลำบาก ไม่ค่อยไอ แต่เวลาไอจะเจ็บหน้าอก ไม่มีไข้ เอกซเรย์ปอดวันนั้นปกติ วันที่ 9 พฤศจิกายน ยังเจ็บหน้าอก ไปทำเอกซเรย์ปอดซ้ำ ครั้งนี้พบฝ้าขาวในปอดด้านซ้าย ได้ยาปฏิชีวนะ azithromycin กินแล้วไม่ดีขึ้น มาปรึกษาวันที่ 17 พ.ย.หลังจากเจ็บหน้าอกข้างซ้าย 20 วัน เมื่อสอบถามผู้ป่วยยอมรับว่าเจ็บฟันข้างขวาล่างเล็กน้อยก่อนเจ็บหน้าอก

ตรวจร่างกายมีไข้ต่ำๆ 37.5 องศาเซลเซียส ฟังปอดข้างซ้ายได้ยินเสียงลดลง เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวบริเวณปอดด้านซ้าย ได้ทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดพบลักษณะคล้ายฝีในปอดข้างซ้าย เจาะเลือดเม็ดเลือดขาวในเลือดสูง 12,530 ผู้ป่วยได้รับการใส่ท่อระบายหนองจากฝีในปอดข้างซ้าย พบหนองสีน้ำตาล 20 ซีซี ย้อมพบเชื้อแบคทีเรียแกรมลบรูปร่างเป็นแท่ง (gram negative bacilli) ไม่พบเชื้อวัณโรค ไม่พบเชื้อรา เพาะเชื้อขึ้นแบคทีเรียที่เจริญได้ในภาวะที่ไม่มีออกซิเจนเท่านั้น (anaerobic bacteria) Fusobacterium nucleatum และเชื้อแบคทีเรียอีก1 ตัวไม่ทราบชื่อ

ผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด ceftriaxone และ clindamycin อาการเจ็บหน้าอกค่อยๆ ดีขึ้น สามารถถอดท่อระบายหนองออกจากฝีในปอดข้างซ้ายได้ใน 2 วัน

ได้ปรึกษาทันตแพทย์ตรวจช่องปากและฟัน ส่งเอกซเรย์รากฟัน พบติดเชื้อแบคทีเรียในรากฟัน ต้องถอนฟัน 2 ซี่ ได้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด 2 สัปดาห์ เอกซเรย์ปอดดีขึ้นช้าๆ ให้ยาปฏิชีวนะไปกินต่อที่บ้านอีก 4 สัปดาห์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอมนูญ’ เผยผลติดตามสถานการณ์ 5 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่  ไรโนไวรัส (Rhinovirus) อาร์เอสวี (RSV) และ ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส Human metapneumovirus (hMPV)