'2ศิลปินแห่งชาติ'ผู้สืบทอดเกียรติคุณ 'จากรุ่นแม่สู่รุ่นลูก '

หลังจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติปี 2564 จำนวน 12คนใน 3สาขาได้แก่ สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 4 คน ได้แก่ 1.นางวรรณี ชัชวาลทิพากร (ภาพถ่าย) 2 ศ.ถาวร โกอุดมวิทย์ (ภาพพิมพ์) 3.ศ.เกียรติคุณอรศิริ ปาณินท์ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น)และ 4.นายมีชัย แต้สุจริยา (ทอผ้า)
สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 2 คน ได้แก่ 1.นางนันทพร ศานติเกษม (นามปากกา ปิยะพร ศักดิ์เกษม) และ 2.นายวิชชา ลุนาชัย (นามปากกา ประชาคม ลุนาชัย)

สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 6 คน ได้แก่ 1. ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ (โนรา) 2.นายกำปั่น นิธิวรไพบูลย์ (เพลงโคราช) 3. นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง (นาฎศิลป์ไทย-โขน ละคร) 4.ศ.ณรงฤทธิ์ ธรรมบุตร (ดนตรีสากล-ประพันธ์เพลงคลาสสิก) 5. นายสลา คุณวุฒิ (ดนตรีไทยสากล-ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) และ 6.นายนพพล โกมารชุน (ภาพยนตร์และละคร)

ในจำนวนนี้ มี 2 ราย ที่สืบทอดความเป็นศิลปินแห่งชาติจากรุ่นแม่ เรียกว่าเป็น”ลูกไม้หล่นใต้ต้น”ก็ว่าได้ 2ศิลปินแห่งชาตินี้ก็คือ นพพล โกมารชุน และมีชัย แต้สุจริยา


“นพพล” ที่รู้จักกันในวงการว่า”พี่ตู่” บอกว่าพอทราบข่าวว่าได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ทำให้รู้สึกคิดถึงแม่ หรือ ป้าจุ๊ -นางจุรี โอสิริ มากๆ เพราะแม่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติเช่นเดียวกัน นอกจากคิดถึงแม่แล้ว ยังคิดถึงพ่อ และครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ทางการแสดงให้ว่า ป่านนี้คงมาร่วมชุมนุมและส่งกำลังใจมาให้กับตน จากนี้จะตั้งใจทำหน้าที่นักแสดงและผู้กำกับการแสดงต่อไป แต่จะเพิ่มเรื่องการสอนศิลปะการแสดงและงานกำกับการแสดงให้กับนักแสดงรุ่นใหม่ เพื่อสืบสานศิลปะการแสดงให้ยั่งยืนต่อไป สำหรับผลงานที่ประทับใจนั้น ต้องบอกว่า ประทับใจทุกเรื่องที่กำกับ และทุกเรื่องที่แสดง เพราะตั้งใจทำทุกผลงานให้ดีที่สุด สำหรับหลักในการทำงาน คือ ตั้งใจและรับผิดชอบในงานที่ทำให้ดีที่สุด

อีกราย มีชัย แต้สุจริยา ที่ก่อนหน้านี้มารดาคือ คุณแม่คำปุน ศรีใส ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) ซึ่งเป็นสาขาเดียวกับรุ่นลูก โดยศิลปินแห่งชาติรายนี้ บอกว่า ตนซึมซับและเรียนรู้ประสบการณ์การทอผ้าจากคุณยายและคุณแม่คำปุน ศรีใส ฝึกฝนและออกแบบทอผ้ามัดหมี่และผ้าพื้นเมืองตั้งแต่อายุ 20 ปี และพัฒนาต่อยอดงานทอผ้ามากว่า 40 ปี การได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติรู้สึกตื้นตันและเป็นเกียรติสูงสุด
ตอนนี้ที่บ้านคำปุนมีศิลปินแห่งชาติ 2 คน บ้านคำปุนเป็นโรงงานทอผ้าและเปิดบ้านถ่ายทอดความรู้การทอผ้ากาบบัว เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนใน จ.อุบลราชธานี และทั่วอีสาน เป็นความสุขที่ได้ทำงานร่วมกับชุมชน สุขที่ได้แบ่งปันความรู้งานผ้า ได้รักษาอาชีพ รักษาผ้ากาบบัวไม่ให้สูญหาย ให้ทุนทอผ้ากาบบัวเพื่อชุมชน ช่วยจัดจำหน่ายให้ เพราะต้องการให้มีการสืบทอด สร้างความภาคภูมิใจให้ชาวบ้าน

” บ้านคำปุนเป็นโรงงานผ้าที่ได้รับใช้สมเด็จพระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 9 ผ่านการทำเสื้อผ้าให้ภาพยนตร์ไทยเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเรื่องสุริโยไท และได้รับใช้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชนัดดา ส่งเสริมผ้าลายขอพระราชทาน ช่วยชาวบ้านยามวิกฤตโควิด การได้มีโอกาสถวายงานเป็นความปีติในชีวิตและร่วมสืบสานงานผ้าไทย สนองพระราชปณิธานนำผ้าไทยสร้างรายได้ ซึ่งผมจะไม่ทอดทิ้งงานผ้า ยืนยันจะทำหน้าที่เพื่อรักษามรดกภูมิปัญญาทอผ้าให้คงอยู่ตลอดไป ” นายมีชัย กล่าว

ศิลปินแห่งชาติรายอื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้สืบทอดความเป็นศิลปินแห่งชาติจากรุ่นแม่ แต่สำหรับ นันทพร ศานติเกษม ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เจ้าของนามปากกา ปิยะพร ศักดิ์เกษม ที่นักอ่านคนไทยรู้จักมายาวนาน กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่คณะกรรมการเห็นคุณค่าของผลงาน ตนทำงานมาตั้งแต่ปี 2522 ลงตีพิมพ์เรื่องแรกในนิตยสารสกุลไทย ทั้งเรื่องสั้น บทความ สารคดี ฯลฯ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ผู้อ่านที่ยังสนับสนุนผลงานอย่างต่อเนื่อง ทุกผลงานที่ได้สร้างสรรค์ตั้งใจถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้ประโยชน์ แง่คิดในการดำรงชีวิต และได้รับความความบันเทิงใจ การได้เป็นศิลปินแห่งชาติถือเป็นกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไปเรื่อยๆ รวมถึงยินดีให้ความร่วมมือกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรมถ่ายองค์ความรู้ด้านวรรณศิลป์สู่คนรุ่นใหม่

” เชื่อมั่นว่าแม้ยุคสมัยเปลี่ยนแปลง แต่การอ่านนวนิยายของคนไทยยังคงได้รับความสนใจต่อเนื่อง เพียงแค่เปลี่ยนแพลตฟอร์มไปสู่รูปแบบออนไลน์ โดยเฉพาะนวนิยายที่มียอดการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในฐานะนักเขียนก็ปรับตัวมีการเขียนนวนืยาย บทความ ลงออนไลน์ ปรับเข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน ” นางนันทพร กล่าว

ความรู้สึกของศิลปินอีกราย ศ.ถาวร โกอุดมวิทย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) กล่าวว่า ในฐานะศิลปินที่ได้สร้างสรรค์ผลงานมาตลอด 40 ปี รางวัลนี้มีคุณค่า และเป็นกำลังใจในการที่จะทำงานศิลปะและเผยแพร่องค์ความรู้สู่ผู้อื่นต่อไป ตลอดเวลาที่ได้อยู่ในวงการศิลปะตนพยายามที่จะถ่ายทอดผ่านการเรียนการสอนศิลปะสู่นักเรียน นักศึกษาและนำผลงานภาพพิมพ์ไปเผยแพร่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ได้รับรู้ว่าศิลปินไทยมีศักยภาพด้านศิลปะ ขณะนี้สอนนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เน้นเรื่องวิชาการ และการยกระดับผลงานศิลปะเพื่อเข้าสู่เวทีโลก พยายามสอนให้เรียนรู้คุณค่างานศิลปะ บริบทศิลปะของโลก และการใช้นวัตกรรมใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อให้งานศิลปะของประเทศไทยสามารถเผยแพร่ในระดับโลกได้อย่างงดงาม

ปิดท้ายด้วยนางวรรณี ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ถ่ายภาพ) กล่าวว่า ถือเป็นรางวัลแห่งภาคภูมิใจในชีวิตของตนที่พยายามทำงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมมาตลอด 40 ปี สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุด คือ ได้ทำงานถวายในหลวง ร.9 ด้วยการถ่ายภาพ ประกอบการจัดทำหนังสือ พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระองค์ ดังนั้น รางวัลนี้ขอเทิดทูนถวายแด่ในหลวง ร.9 และขอตอบแทนด้วยการเดินหน้าทำประโยชน์เผยแพร่ความรู้ความสามารถในการถ่ายภาพสู่เด็ก เยาวชน และประชาชน เพื่อพัฒนาวงการศิลปะภาพถ่ายต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เยี่ยมบ้าน'ไพฑูรย์-ประทีป' ศิลปินแห่งชาติเมืองสุโขทัย 

สุโขทัยเมืองที่มีความเจริญทางอารยธรรมที่สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก เมืองนี้ยังรุ่มรวยศิลปิน มีโอกาสเยือนบ้านสองศิลปินแห่งชาติที่มีถิ่นพำนักที่นี่  รศ. ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2559 ผู้ที่ใช้นามปากกาว่า”  ไพฑูรย์ ธัญญา”  

นิทรรศการ 12 ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564

12 ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564 ล้วนเป็นศิลปินที่เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดในวงการศิลปวัฒนธรรมไทย  ซึ่งตอนนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดนิทรรศการแสดงประวัติ ผลงานของศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2564

'ช่องวัน31' ส่งละครฟอร์มยักษ์ 'ใต้หล้า' รวมสุดยอดฝีมือ ระเบิดความเข้มข้น

เตรียมเปิดโหมดความสนุก สุดเข้มข้น ไปกับ ละครดราม่า ฟอร์มยักษ์ “ใต้หล้า” ทาง ช่องวัน31 ละครที่จะมอบความหวังในชีวิต ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ครอบครัว ความรัก และคุณธรรม