15ปี 'คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน' กักเก็บคาร์บอนได้กว่า 8 ล้านตัน

การรักษาสภาพป่าชุน พร้อมกับพื้นที่ป่าในเวลาเดียวกัน  เป็นอีกหนึ่งทางรอดในการลดปัญหาโลกร้อน และฟื้นฟูความสมดุลทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ที่ตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะเพิ่มป่าชุมชนให้ได้ 15,000 แห่ง คิดเป็นพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่  ซึ่งปัจจุบันไทยมีป่าชุมชนกว่า 6 ล้านไร่ สามารถช่วยดูดซับคาร์บอนไดออไซด์ของประเทศให้ได้กว่า 40 ล้านตัน  และประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากป่า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สร้างงานและอาชีพที่มั่นคง สอดรับกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy:BCG) สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 15 ปี ระบตัเงแต่พ.ศ.2551 ที่บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้เห็นความสำคัญของป่าชุมชนมาโดยตลอด   ตั้งแต่ก่อนที่จะมีพ.ร.บ.ป่าชุมชน ในพ.ศ.2562   โดยเข้าไปสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ป่าชุมชนต่างๆ ดูแลอนุรักษ์ ฟื้นฟูพื้นที่ป่า  เพิ่มพื้นที่ป่าให้กับประเทศ  ขณะเดียวกันก็เป็นช่วยหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่า โดยสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามาบริหารจัดการป่าชุมชนของตนเอง พร้อมกับใช้กุศโลบายจัดการประกวดป่าชุมชน  โดยร่วมมือกับกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานโครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน”  ซึ่งต่อมาสอดคล้องกับแนวคิดรักษาพื้นที่ป่าไว้ให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน บรรเทาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ผลการดำเนินโครงการ 3 ระยะหรือ 15ปีที่ผ่านมา ได้สนับสนุนเงินรางวัลแก่ป่าชุมชน ที่ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ของความเป็นป่าชุมชนตัวอย่างรวม 1,400 แห่ง เฉลี่ยร้อยละ 11.65 ของจำนวนป่าชุมชนรวมของทั้งประเทศ ในปัจจุบัน  โดยป่าชุมชนที่ได้รับรางวัลทั้งหมดมีพื้นที่ป่ารวมกว่า 1.28 ล้าน ไร่  คิดเป็นจำนวนเงินให้การสนับสนุนทั้งสิ้น 44.4 ล้านบาท  ป่าที่อยู่ในโครงการสามารถกักเก็บและดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 8.083 ล้านตันคาร์บอน   และพร้อมดำเนินงานโครงการต่อเนื่องในระยะที่ 4 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ปี 2566-2570

สำหรับในปีสิ้นสุดการดำเนินโครงการในระยะที่ 3 ในพ.ศ.2562 ได้มีพิธีมอบรางวัลป่าชุมชน จำนวน 16 แห่ง ประกอบด้วย  รางวัลป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศ  ได้แก่ ป่าชุมชนโคกป่าซี อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มีพื้นที่ป่า  1,268 ไร่ ได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท  รางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านต้าหัวฝาย อ.ขุนตาล จ.เชียงราย และป่าชุมชนบ้านชัฎน้ำเงิน อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี  ,ป่าชุมชนบ้านนา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ เงินรางวัลแห่งละ 150,000 บาท

รางวัลป่าชุมชนชนะเลิศระดับภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ป่าชุมชนบ้านม่วงเจ็ดต้น อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ป่าชุมชนบ้านดอนกอย อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร, ภาคกลางและตะวันออก ป่าชุมชนชนบ้านเขาสามยอด อ.โคกเจริญ จ.ลพบุรี และ ภาคใต้ ป่าชุมชนบ้านบนควน อ.รัตภูมิ จ.สงขลาได้รับเงินรางวัลแห่งละ 100,000 บาท

และรางวัลป่าชุมชนรองชนะเลิศระดับภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ป่าชุมชนบ้านปางมะกล้วย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ป่าชุมชนบ้านนามาลา อ.นาแห้ว จ.เลย, ภาคกลางและตะวันออก ป่าชุมชนชนบ้านหนองประดู่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ภาคใต้ ป่าชุมชนบ้านควนออก อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช เงินรางวัลแห่งละ 50,000 บาท

รางวัลป่าชุมชนดีเด่นด้านการพัฒนา ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านห้วยขึม อ.ร้องกวาง จ.แพร่, ป่าชุมชนบ้านห้วยขมนอก อ.เมือง จ.เชียงราย, ป่าชุมชนบ้านคลองห้วยหวาย อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ และ ป่าชุมชนตำบลเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์

วราวุธ ศิลปอาชา

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ป่าชุมชน เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชุมชนประมาณ  12,017 แห่ง รวมกับที่เกิดขึ้นจากโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน โดยความร่วมมือของชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาดูแล รักษาป่า ที่จะส่งผลในการแก้ปัญทางสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วมต่างๆ ในระยะยาว  ซึ่งในระยะที่ 3 ป่าชุมชนทั้ง 16 แห่ง ได้ผ่านการคัดเลือกที่เข้มข้น เพื่อที่จะได้นำทุนสนับสนุนไปทำประโยชน์ต่อยอดได้อย่างเต็มที่ โดยในระยะที่ 4 ก็จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน 15,000 แห่ง หรืออาจจะมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ภายใน 5 ปี

ชูศรี เกียรติขจรกุล

ด้าน ชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงจากการติดตามผลหลังจากที่ป่าชุมชนทั้งหมดได้รับรางวัล ว่า ชุมชนได้นำเงินรางวัลไปต่อยอดการบริหารจัดการป่าชุมชน เช่น ปลูกต้นไม้เสริมภายในป่าชุมชน การจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันไฟป่า และทำแนวกันไฟปรับปรุงและสร้างจุดตรวจการณ์ไฟป่าเพิ่มเติม ได้มีการสนับสนุน ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ออกลาดตระเวนและเฝ้าระวังไฟป่า หรือการทำเรือนเพาะชำกล้าไม้ อนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่น และขยายพันธุ์พืช รวมไปถึงการสร้างฝายชะลอน้ำจุดต่างๆ ในป่าชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

“ทั้งนี้ป่าชุมชนบางแห่งที่ได้รับรางวัลในระยะแรก ก็ยังมีความอุดมสมบูรณ์ มีการต่อยอดให้องค์ความรู้กับชุมชนใกล้เคียง  อย่างป่าชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง จ.กระบี่ ซึ่งเคยรับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ในปี 2560 ก็ได้เข้ามาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ป่าชุมชนบ้านนา จ.กระบี่ ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศในปีนี้ ส่วนเป้าหมายในระยะที่ 4 ได้กำหนดไว้ปีละ 16 แห่ง ทั่วทุกภาคของประเทศ ยังคงเน้นการส่งเสริมศักยภาพป่าชุมชน ในการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ และขอการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตของพื้นที่ป่าที่ดำเนินโครงการ รวมถึงส่งเสริมศักยภาพของชุมชนในการดูแล รักษาป่า และใช้ประโยชน์จากป่า พร้อมกับการบริหารจัดการป่าชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ชูศรี กล่าว

พงษ์ศักดิ์ ศรีจำพลัง

พงษ์ศักดิ์ ศรีจำพลัง ประธานป่าชุมชนโคกป่าซี เล่าว่า ป่าชุมชนโคกป่าซี ภายในป่ามีไม้ซี ภาษากลางเรียกว่า  ต้นพันจำ ขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งใต้ต้นซีจะพบเห็ดขึ้นอยู่มากกว่าต้นไม้ป่าเบญจพรรณอื่นๆ ถึง 193 ชนิดเห็ดที่ขึ้นจะกระจายทั่วทั้งป่า เช่น เห็ดไค เห็ดระโงก เห็ดปลวก เห็ดเผาะ เห็ดก้ามปู ฯลฯ ซึ่งแต่ละปีชุมชนสามารถเก็บเห็ดเป็นอาหารและจำหน่ายได้เฉลี่ยถึง 2,485 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 758,915 บาท ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน เมื่อก่อนมีชาวบ้านเก็บของป่า จากเดิมที่หาแค่เฉพาะมาบริโภคในครัวเรือน กลับรุกล้ำป่า หาของป่าเพื่อนำมาเพื่อขายเป็นสินค้าแทน  ประกอบกับเกิดไฟป่าขึ้นทุกปี  ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ป่าเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ในปี พ.ศ. 2540 ชาวบ้านในชุมชนที่อยู่ติดกับป่าโคกป่าชี จึงได้รวมใจกัน ช่วยกันดูแลป่าชุมชนโคกป่าซีอย่างจริงจัง  ทำให้สภาพป่าฟื้นตัว กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม  


“ทุกวันนี้ ถือว่าป่าโคกชี ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารกับชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว และผลผลิตจากป่ายังช่วยเลี้ยงคนในชุมชนและคนที่กลับคืนถิ่นฐานในช่วงการล็อคดาวน์ป้องกันการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างมาก ทุกคนที่นี่รักและหวงแหนผืนป่าแห่งนี้ “ประธานป่าชุมชนโคกป่าชีกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง