ไทยเสนอปูทาง’ความมั่นคงอาหาร-พลังงาน’เวทีเอเปค

ใกล้เข้ามาทุกขณะแล้วกับการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council) หรือ ABAC 2022 ในระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นเวทีที่จัดคู่ขนานกับการประชุมเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation:APEC) ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 และเป็นหนึ่งในสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ

การประชุม ABAC 2022 จะประกอบด้วยการอภิปราย การนำเสนอ และการเจรจาในประเด็นต่างๆ ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม มีความพยายามขับเคลื่อนเวที้ให้เป็นประโยชน์อย่างสูงสุด 

แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่เพียง เพื่อให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังเพื่อสร้างสมดุลของโลกใบนี้ส่งต่อสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของเราในอนาคตด้วย

สำหรับบทบาทและภารกิจของภาคธุรกิจช่วงที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาณดังๆ อย่างชัดเจน ผ่านข้อเสนอแนะและความคิดเห็น 5 ด้านหลัก ได้แก่  ด้านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ที่มุ่งเน้นในการอำนวยความสะดวกการเปิดการค้าเสรี และการสนับสนุนการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกครั้ง ด้านดิจิทัลเน้นการเตรียมความพร้อมและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ด้านความยั่งยืน เน้นการพัฒนาสังคมไปสู่ Net Zero  พร้อมยังส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานและอาหารในอนาคต และด้านเศรษฐกิจและการเงิน  ทั้ง 5 ด้านภาคเอกชนมองเห็นทิศทางตรงกัน เพื่อนำไปสู่การผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด “EMBRACE. ENGAGE. ENABLE”

แม้ว่าเสียงของภาคธุรกิจที่ยื่นเสนอไปนั้นอาจไม่สามารถผลักดันออกมาเป็นรูปธรรมได้ครบทั้งหมด เนื่องจากความพร้อมและประสบการณ์ของแต่ละเขตเศรษฐกิจไม่เท่ากัน แต่สถานการณ์ปัจจุบันที่ปนไปด้วยวิกฤต โอกาส และความท้าทายจากปัจจัยภายในและภายนอก ตลอดจนความกังวลต่อสิ่งที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้จะส่งผลต่อการสร้างความยั่งยืนในอนาคต ถือเป็นแรงผลักดันให้เร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว 

สำหรับกรอบวาระเร่งด่วนที่ยื่นเสนอไปยังผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC แยกเป็น 3 มิติ ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) และการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม 

​“ภาคอาหาร” ภาคธุรกิจชูเป็นความได้เปรียบและจุดแข็งของประเทศไทย มีกรณีศึกษาให้เห็นแล้วในประเทศ อย่าง อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ทางเลือกใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคสายสุขภาพ และความยั่งยืนของโลกใบนี้ ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่จากพืชและผักผลไม้อีกต่อไป ยังมีแมลงหลายสายพันธุ์ที่เคยถูกมองว่า เป็นอาหารพื้นบ้านธรรมดา กลายเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณค่าโภชนาการสูงเข้ามากู้วิกฤติการขาดแคลนอาหาร และเป็นอาหารแห่งอนาคตของโลก

โปรตีนแมลงจัดอยู่ในกลุ่มอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม (Novel Food) ผ่านการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เป็นสินค้ามูลค่าสูงในรูปแบบโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ที่สำคัญกว่านั้น คือ การเข้ามาทดแทนการเลี้ยงวัว แม้เป็นอาหารที่มีประโยชน์ แต่กระบวนการผลิตกลับไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากกว่าแมลง  ทางเลือกที่กำลังนิยมอยู่ในขณะนี้ อย่าง จิ้งหรีด โดยมีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่นำไปแปรรูป เช่น เส้นสปาเก็ตตี เส้นพาสตา อาหารเสริม สแน็ก เป็นต้น เพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน

อย่างไรก็ตาม การสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพเพียงพอสำหรับการบริโภค รวมทั้งระบบมาตรฐานรับรองโปรตีนทางเลือก เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมอาหาร

จากรายงาน The World Population Prospects 2019 ของฝ่ายเศรษฐกิจและกิจการสังคมของสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่า ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 9.7 พันล้านคน อาหารจะไม่เพียงพอกับความต้องการของจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) 2022 และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก ด้านการส่งออกอาหาร โดยมูลค่าการส่งออกอาหารแห่งอนาคตของไทยในช่วงปี 2555-2564 ที่ผ่านมา มีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 การส่งออกอาหารมีมูลค่า 1.09 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกอาหารแห่งอนาคตถึง 123,146 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% 

ส่วนปี 2564  ช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2564) ไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารกว่า 806,430 ล้านบาท เป็นกลุ่มอาหารแห่งอนาคตกว่า 71,570 ล้านบาท หากมองในแง่มูลค่าการตลาดและทางเศรษฐกิจแล้ว มีแนวโน้มการเติบโตอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมด้านอุตสาหกรรมอาหาร และอาหารแห่งอนาคตของไทย และคาดหวังว่า ไทยจะติดอันดับ Top 10 ของโลกในอีกไม่นาน

ยิ่งไปกว่านั้น การนำพืชเศรษฐกิจไทย เช่น น้ำตาล มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย ยางพารา มาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มในภาคเกษตรกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น อาหารแห่งอนาคตในกลุ่มอาหารเสริมสุขภาพหรืออาหารฟังก์ชัน (Functional Food) พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ยา เคมีภัณฑ์ และเครื่องสำอาง เป็นต้น เป็นการตอกย้ำจุดแข็งและความพร้อมของไทยสู่ BCG Model โดยเฉพาะ Bio Economy(เศรษฐกิจชีวภาพ) และ Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) จะเป็นโอกาสสำคัญของเกษตรกรไทย และผู้ประกอบการที่จะเชื่อมโยงเป็น Supply Chain แบบครบวงจร เพื่อนำไปสู่ Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว  ทั้งนี้ ภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนโครงสร้างใหญ่ของประเทศเพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ภาพใหญ่ต่อมา “ภาคพลังงาน” ไทยจะปูทางนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตามเจตนารมณ์ของภาครัฐได้อย่างไร นายเกรียงไกร กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนเสนอออกมา คือ  การจัดทำ RE100 Roadmap เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในกระบวนการผลิตสำหรับภาคอุตสาหกรรม ลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น จนท้ายที่สุดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานที่มีความต้องการและความจำเป็นต้องใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy – RE) เพื่อรองรับมาตรการกลไกการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) โดยไม่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจ ประธาน ABAC 2022 ระบุไทยเป็นต้นแบบ BCG Model แบบครบวงจรและการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี ตั้งอยู่บนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของประเทศไทย โดยใช้วัตถุดิบจากยางธรรมชาติและปาล์มน้ำมัน เริ่มตั้งแต่การจัดการวัตถุดิบไปจนถึงการเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบ และการจัดการของเสียจากกระบวนการผลิต ที่ต้องการลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่สร้างขยะเลย (Zero Waste) ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงและเกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

“ วันนี้ทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยน การปรับฐานการผลิต และโครงสร้างการผลิต จึงให้ความสำคัญกับแนวคิด BCG Model เพื่อมุ่งเน้นสู่ความยั่งยืนไปด้วยกัน “

สำหรับการประชุม ABAC 2022 / APEC 2022 ครั้งนี้ นายเกรียงไกร มองว่า  เป็นโอกาสอันดีในการแสดงศักยภาพและความพร้อมของภาคธุรกิจไทยสู่เวทีโลก และจะพลิกวิกฤตของโลกให้เป็นโอกาสของประเทศผ่านการประชุมครั้งนี้ พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนคนไทยทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดี โดยแสดงความเป็นไทย ผ่านวัฒนธรรมอันดีงามแบบไทยเพื่อสร้างความประทับใจแก่ชาวต่างชาติ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มพช. แจงปมของบ ส.อ.ท. ทำวิจัย

ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน (มพช.) พร้อมด้วยคุณพรอรัญ สุวรรณพลาย กรรมการและเหรัญญิก มพช.

'อัลฟ่าเซค' จับมือ 'ส.อ.ท.' ทำระบบมาตรฐานความปลอดภัยสารสนเทศของงาน Made in Thailand

อัลฟ่าเซค ร่วมมอบ “ใบรับรองระบบมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ISO27001:2022” ให้กับ ส.อ.ท. ในฐานะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ MiT และเตรียมรับมือกับ ภูมิทัศน์ไซเบอร์ในปี 2567

ส.อ.ท. เสนอคุมส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก ช่วยเอกชน

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 37 ในเดือนมกราคม 2567 ภายใต้หัวข้อ “ดอกเบี้ยสูง หนี้พุ่ง อุตสาหกรรมไปต่ออย่างไร” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.

ส.อ.ท. ชงภาครัฐดูแลค่าไฟฟ้าระยะเร่งด่วน วางเป้า 3.60 บาท/หน่วย

ส.อ.ท. เตรียมชงข้อเสนอภาครัฐดูแลค่าไฟฟ้าระยะเร่งด่วนปี 67 วางเป้าหมายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกิน 3.60 บาท/หน่วย พร้อมเสนอ 5 แนวทางบริหาร ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว หวังดูแลทั้งระบบ ดึงเป้าหมายค่าไฟเฉลี่ยไม่เกิน 3 บาท/หน่วย เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เปิดตลาดไฟเสรี