กสิกรไทย เสริมศักยภาพห้องผ่าตัด ผู้ป่วยโรคหัวใจ รพ.สระบุรี

โรงพยาบาลสระบุรี เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ ระดับตติยภูมิ ขนาด 700 เตียง ในเขตสุขภาพที่ 4 สังกัดกระทรวงสาธารณสุข บนเนื้อที่ 27 ไร่ ที่เปิดให้บริการมากว่า 70 ปี  โดยมีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรค ได้แก่ โรคมะเร็ง ทารกแรกเกิด อุบัติเหตุ โรคหัวใจ และการปลูกถ่ายอวัยวะ อีกทั้งทำหน้าที่เป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนในจ.สระบุรีและใกล้เคียง

ต่อมาในปีพ.ศ. 2555 โรงพยาบาลสระบุรีได้เริ่มพัฒนาศักยภาพเพื่อเปิดบริการศูนย์โรคหัวใจดูแลผู้ป่วยใน เนื่องจากสถิติพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในทุกปี โดยมีทีมแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจที่สามารถรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเส้นเลือดหัวใจอุดตันด้วยวิธีการสวนหัวใจด้วยบอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือด โดยในปี 2561-2564 มีผู้ป่วยได้รับการสวนหัวใจประมาณ 800-1,000 รายต่อปี แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องบุคลากรทางแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจด้านผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมที่ต้องรอคิวการผ่าตัดหัวใจเป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกสิกรไทย จึงได้มอบเงินจำนวน 33.6 ล้านบาท ในการจัดทำหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก(Cardio- vascular and thoracic Intensive Care Unit: ICU CVT) ให้โรงพยาบาลสระบุรี พร้อมกับจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รองรับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด-ผ่าตัดลิ้นหัวใจ ซึ่งจะสามารถขยายการให้บริการผู้ป่วยในพื้นที่จ.สระบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง ได้อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า  นับว่าเป็นการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยให้ความสำคัญแก่การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยยกระดับบริการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะบริการด้านสุขภาพที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี มุ่งเน้นการส่งเสริมบริการในโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่ต้องรองรับการใช้บริการของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งในการสนับสนุนโรงพยาบาลสระบุรี เพื่อสร้างหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก พร้อมจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รองรับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด-ผ่าตัดลิ้นหัวใจ

  ดูงานห้อง ICU CVT

“จังหวัดสระบุรี เป็นจังหวัดทางผ่าน ในการเดินทางต่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งถือว่าจังหวัดนี้ เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ  GDP ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของภาคกลาง อีกทั้งโรงพยาบาลสระบุรีก็เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง  การสนับสนุนหอผู้ป่วยโรคหัวใจ ก็เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยโรคหัวใจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สร้างโอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขให้แก่ผู้ใช้บริการทั้งในจังหวัดสระบุรีและใกล้เคียง ในอนาคตทางธนาคารกสิกรไทย จะมีการพัฒนาโครงการเพื่อช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้บริการจากผู้ให้บริการขนาดเล็กที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการคลินิก หรือบริการผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่าเฮลท์เทคได้อย่างทั่วถึง” ขัตติยา กล่าว

นพ.อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลสระบุรีได้มีการพัฒนาด้านการแพทย์ด้านโรคหัวใจมาโดยตลอด จนสามารถให้บริการรักษาสวนหัวใจจำนวน 2 ห้อง โดยผู้ป่วยส่วนหนึ่งเมื่อได้รับการรักษายังคงต้องส่งตัว เพื่อรับการผ่าตัดในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า เนื่องจาก ทางโรงพยาบาลสระบุรีไม่มีแพทย์และสถานที่ในการรองรับทางด้านผ่าตัด จึงทำให้มีผู้ป่วยสะสมในการรอส่งตัวไปรักษามากพอสมควร  จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรอคิวการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด 60-80 รายต่อปี ระยะเวลารอคอยประมาณ 1-2 เดือน และผู้ป่วยที่รอคิวผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจประมาณ 40-50 รายต่อปี ระยะเวลารอคอยประมาณ1 ปี   สำหรับห้องปฏบัติการด้านโรคหัวใจในโรงพยาบาลมีห้องผ่าตัดหัวใจจำนวน 1 ห้อง ห้องผ่าตัดแบบผสมผสานจำนวน 1 ห้อง และเตียงในการพักหลังการผ่าตัดจำนวน 2 เตียง เพื่อเป็นแก้ไข้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ทีมผู้บริหารโรงพยาบาลจึงพยายามแก้ไขปัญหา พัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ และแพทย์จนสามารถผ่าตัดหัวใจแบบเปิดในผู้ป่วยรายแรกได้สำเร็จเมื่อปี 2565

ห้อง ICU CVT บนชั้น 6 อาคาร 100 ปี สาธารณสุขไทย

นพ.อนันต์ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันมีผู้ป่วยนอกที่มารับบริการในโรงพยาบาลสระบุรีจำนวน 3,000 รายต่อวัน และผู้ป่วยในที่รักษาอยู่จำนวน 700 เตียง ซึ่งโรงพยาบาลอยู่ในสถานการณ์ผู้ป่วยล้น โดยเฉพาะในแผนกอายุรกรรม จึงต้องมีการประสานไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง ส่งต่อรับรักษาต่อในกรณีที่ไม่รุนแรง ซึ่งด้านแผนกหัวใจทางโรงพยาบาลมีศัลยแพทย์ทรวงอกจำนวน 4 คน จึงสามารถขยายการให้บริการในการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดในได้จำนวนที่เพิ่มขึ้น นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางธนาคารกสิกรไทย ในการปรับปรุงพื้นที่บนอาคาร 100 ปี สาธารณสุขไทย ชั้น 6 เปิดบริการเป็นหอผู้ป่วยวิกฤตสำหรับดูแลผู้ป่วยหลักการผ่าตัดหัวใจ หรือ ICU CVT จำนวน 8 เตียง ด้วยพื้นที่จำกัด ซึ่งคาดว่าจะสามารถผ่าตัดผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นปีละ 100 ราย นับว่าช่วยให้การรอผ่าตัดสะสมของผู้ป่วยลดลง รวมถึงการจัดหาครุภัณฑ์ด้านการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ เช่น เครื่องช่วยการทำงานหัวใจชนิดใส่บอลลูนในหลอดเลือดแดง  เครื่องอัลตร้าซาวคลื่นระบบไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น โดยแล้วเสร็จเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา

ภายในห้อง ICU CVT มีเตียงรองรับจำนวน 8 เตียง พร้อมเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยหลักการผ่าตัด

ด้านพญ.นุชรัตน์ วัฒนาพูลทรัพย์ ศัลยแพทย์ทรวงอก โรงพยาบาลสระบุรี กล่าวเสริมว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโรคได้ระบุว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 1 หรือคิดเป็น 31% ของประชากรทั่วโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จนถึงปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2565 ทางโรงพยาบาลสระบุรีก็ได้ทำการรักษาผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจมาอย่างต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 29 ราย ได้แก่ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม 16 ราย ผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ 8 ราย ผ่าตัดบายพาสหัวใจร่วมกับเปลี่ยนลิ้นหัวใจจำนวน 2 ราย ผ่าตัดปิดรอยหัวผนังหัวใจห้องบนจำนวน 1 ราย และผ่าตัดหัวใจแบบอื่นๆ อีก จำนวน 2 ราย นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการให้บริการผู้ป่วยในการผ่าตัดและพักฟื้นหลังการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยในพื้นที่จ.สระบุรีและบริเวณใกล้เคียง ให้มีประสิทธิภาพ ลดอัตราการเสียชีวิตและการรอคอยของผู้ป่วยในอนาคต .

เครื่องมือทางการแพทย์พร้อมรองรับผู้ป่วยหลังการผ่าตัด


เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสิกรไทย-อินโนพาวเวอร์ เปิดแพลตฟอร์มขายไฟฟ้าโซลาร์ ของรายย่อย

ธนาคารกสิกรไทย ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับ อินโนพาวเวอร์ ผู้บุกเบิกนวัตกรรมด้านพลังงาน เปิดตัวแพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน

KBank ให้สินเชื่อ SLL จำนวน 10,000 ล้านบาท แก่ GC เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

ธนาคารกสิกรไทย สนับสนุนวงเงินสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan : SLL) จำนวน 10,000 ล้านบาท

ค่าเงินบาทสัปดาห์หน้ายังอ่อนวิ่งในกรอบ 35.70-36.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.70-36.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม