คิดถึง ถวัลย์ ดัชนี จาก ’ป้าอ๊อด ทิพย์ชาติ’คู่ชีวิต

“ป้าอ๊อด” ทิพย์ชาติ วรรณกุล  ภรรยาคู่ชีวิตอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี จัดนิทรรศการ “คิดถึง ถวัลย์ ดัชนี”  ชวนร่วมสัมผัสพลังจากผลงานศิลปะในมิติต่าง ๆ ที่สะท้อนชีวิตและจิตวิญญาณของอาจารย์ถวัลย์  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482-2557
จากมุมมองของป้าอ๊อดคู่ชีวิตด้วยรักและคิดถึง ในนิทรรศการยังรวมการนำเอาผลงานอาจารย์ถวัลย์มาออกแบบสร้างสรรค์เป็นแฟชั่นเครื่องแต่งกาย โดย ต้อย นคร สัมพันธารักษ์ ดีไซเนอร์ระดับตำนานแห่งแบรนด์ NAGARA

นิทรรศการ “คิดถึง ถวัลย์ ดัชนี”  ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิด  ในวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2566 เวลา 15.30 น. ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ นิทรรศการจะแสดงต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 25 เม.ย. 2566

จุดเริ่มต้นนิทรรศการมาจากความรักที่บ่มกลั่นด้วยกาลเวลากว่า 30 ปี ในบ้านนวธานี สถานที่เดียวที่เป็น “บ้าน” ของอาจารย์ถวัลย์ จริงๆ  เพราะบ้านหลังนี้มี ป้าอ๊อด ทิพย์ชาติ ซึ่งอยู่ด้วยกันตลอดมาจนลมหายใจสุดท้าย สิ่งดีงามต่าง ๆ และความทรงจำมากมายเกิดขึ้นที่นี่ คือ ช่วงเวลาแห่งความสุข ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ แต่ละวันของชีวิตทั้งคู่ล้วนดำเนินไปด้วยความเอื้ออาทร
สำหรับเนื้อหาในนิทรรศการจะเป็นการแสดงผลงานศิลปะที่สะท้อนชีวิตของอาจารย์ถวัลย์ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2482-2557 จากมุมมองของคนที่รักและคิดถึง รวมถึงการนำเอาผลงานมาออกแบบสร้างสรรค์เป็นเครื่องแต่งกาย โดย ต้อย นคร สัมพันธารักษ์ ดีไซเนอร์ระดับตำนานแห่งแบรนด์ NAGARA ซึ่งจะมีการเดินแฟชั่นโชว์ในพิธีเปิด นอกจากนี้ ในแต่ละเดือนจะมีวงเสวนาศิลปะที่ร่วมกันเติมเต็มความคิดถึงศิลปินผู้ยิ่งใหญ่

“สำหรับลุงหวันแล้ว ป้าอ๊อดเป็นเพื่อนสนิท เป็นคู่ชีวิต เป็นอะไรที่มีค่ามากกว่าสิ่งที่คนนอกมองเข้ามา และตัดสินเอาอย่างฉาบฉวย ป้าภูมิใจเสมอที่ได้ดูแลลุงหวันในทุกช่วงเวลาของชีวิต ได้เห็นความฝันหลาย ๆ อย่างของแกเป็นจริงขึ้นมา” ป้าอ๊อด เปิดเผยไว้ในเนื้อความตอนหนึ่งของสูจิบัตรงานนิทรรศการ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 เวลาตีสอง อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี จากไปอย่างสงบ ถึงตอนนี้เป็นเวลา 8 ปีแล้ว ที่วงการศิลปะสูญเสียศิลปินผู้มีผลงานเป็นที่ยกย่องทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ  ศิลปินผู้เป็นที่รักของเพื่อนมิตร ผู้คนทั้งในและนอกแวดวงศิลปะ ขณะที่ป้าอ๊อด ภรรยา ความสูญเสียในวันนั้นไม่อาจบรรยายได้

“ ในวันนี้เมื่อปัญหาต่างๆ จบลงเรียบร้อยแล้วในทางกฎหมาย ป้าอ๊อดจึงอยากจัดนิทรรศการนี้ขึ้นเพื่อแสดงความรักและความคิดถึงต่อลุงหวันเป็นครั้งสุดทาย ด้วยเงินทุนที่ป้าได้รับมรดกจากลุงหวัน และทุกสิ่งทุกอย่างที่บ้านนวธานี เพราะฉะนั้น ภาพวาดทุกภาพ ประติมากรรมทุกชิ้น จดหมายทุกฉบับที่มาประกอบขึ้นเป็นนิทรรศการนี้จึงเป็นของจริงทั้งหมด ทั้งหมดคือความจริงแท้ที่เปี่ยมไปด้วยความทรงจำจากหัวใจของป้าที่มีต่อลุงหวัน” คู่ชีวิตอาจารย์ถวัลย์เปิดใจ

ป้าอ๊อด ทิพย์ชาติ กล่าวว่า อยากให้ทุกคนที่คิดถึงลุงหวัน มาแบ่งปันประสบการณ์กัน และสัมผัสบางแง่มุมที่ไม่เคยมีใครได้เห็นในตัวของศิลปินผู้ที่มีความละเอียดอ่อนในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดหรือบทกวีที่ผสมผสานออกมาในเนื้องาน แล้วเก็บความคิดถึงนี้กลับไป นี่เป็นงานพิเศษที่ผู้หญิงคนหนึ่งจัดขึ้นเพื่อมอบให้กับทุกคนได้

 “ป้าอ๊อดกับลุงหวัน อยู่กันด้วยความรัก และความเข้าใจ ได้ยินลุงหวันพูดเสมอว่า ความรักปรากฏรูป แต่ไม่เคยเห็น ตอนนี้จะได้เห็นแล้ว และเมื่อความรักความคิดถึงได้ปรากฏรูปขึ้นมาในครั้งนี้ จึงอยากให้ทุกคนที่คิดถึงลุงหวัน มาแบ่งปันประสบการณ์กัน และสัมผัสบางแง่มุมที่ไม่เคยมีใครได้เห็นในตัวของศิลปินผู้ที่มีความละเอียดอ่อนในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดหรือบทกวีที่ผสมผสานออกมาในเนื้องาน แล้วเก็บความคิดถึงนี้กลับไป นี่เป็นงานพิเศษที่ผู้หญิงคนหนึ่งจัดขึ้นเพื่อมอบให้กับทุกคนได้”   ภรรยา อ.ถวัลย์ บอก

จากสูจิบัตรงานนิทรรศการนี้ มีเรื่องราวของจดหมายที่อาจารย์ถวัลย์เขียนถึงป้าอ๊อด ความตอนหนึ่งว่า “ ไม่ว่าจะอยู่หนแห่งใด ในสภาพสภาวะใด  ความคิดถึงที่ผมมีอยู่กับอ๊อดก็คงเป็นนิรันดร์ภาพ  แม้ตราบกาลนิรันดร์ และแตกดับไปของสังขาร  ผมก็เชื่อว่า ความคิดถึงอ๊อดนั้น  จะดำรงคงอยู่ในดวงจิตวิญญาณตลอดไป “


คนรักงานศิลป์และแฟนคลับที่รักและคิดถึงอาจารย์ถวัลย์ อยากซึมซับผลงานทรงคุณค่าและรับรู้เรื่องราวความรักความผูกพันของอ.ถวัลย์ และป้าอ๊อด  ห้ามพลาดนิทรรศการ ‘คิดถึง ถวัลย์ ดัชนี’ จัดแสดงยาว 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21ม.ค.- 25 เม.ย. ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ กรุงเทพฯ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งานรำลึก ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ที่พิพิธภัณฑ์บ้านดำ

อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ถือเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญต่อวงการจิตรกรรมของไทย สร้างสรรค์ผลงานอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนเป็นที่รู้จักและยอมรับทั่วโลก ศิลปินล้านนาผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ได้หว่านเมล็ดพันธุ์ศิลปะไว้มากมาย ด้วยการอุทิศตน มุ่งมั่น เสียสละ ถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ รวมถึงชี้แนะแนวทางให้แก่เด็ก เยาวชน ครู อาจารย์ ศิลปินรุ่นใหม่ และผู้ที่สนใจในงานศิลปะตลอดช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่

’ทายาทศิลปินแห่งชาติ’ กระตุ้นส่งต่อมรดกภูมิปัญญา

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เห็นความสำคัญของในการสืบสาน รักษาคุณค่าองค์ความรู้ ทักษะฝีมือและผลงานของศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ ซึ่งถือว่าเป็นสมบัติของชาติที่มีค่า ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน