ไหว้พระธาตุแช่แห้ง  สัมผัสศิลปะล้านนา กรุ่นกลิ่นกาแฟ

พระธาตุแช่แห้ง

น่านเป็นเมืองเนื้อหอม ใครๆก็อยากมาน่าน  แต่มาถึงแล้ว ก็ใช่ว่าจะไปแค่ชมวิวทิวทัศน์ ขุนเขา สายน้ำหรือสายหมอกเท่านั้น แต่สำหรับคนพุทธ ขาดไม่ได้ ที่จะต้องไปสักการะปูชนียสภานคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งก็คือ วัดพระธาตุแช่แห้ง อ.ภูเวียง ซึ่งในขณะนี้หากใครเดินทางไปเยือนก็จะเห็นว่าองค์พระธาตุกำลังอยู่ระหว่างการบูรณะ แต่ยังสามารถเข้าไปสักการะได้ตามปกติ ซึ่งในช่วงนี้ที่พระธาตุก็อาจจะคึกคักหน่อย เพราะเหล่าคนที่เกิดในปีนักษัตรกระต่ายเดินทางมาไหว้สักการะไม่ขาดสาย ตามความเชื่อที่ว่า พระธาตุแช่แห้งแห่งนี้ เป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดกระต่าย


ตามตำนานเก่าแก่ เล่าสู่กันว่า พระธาตุแช่แห้ง มีความสำคัญต่อบ้านเมือง ตั้งแต่ในสมัยพระยาการเมือง แห่งราชวงศ์ภูคา หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปที่วัดหลวงอภัย อาณาจักรสุโขทัย โดยพระมหาธรรมราชาลิไท ได้ถวายพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์  ให้พระยาการเมือง  เมื่อเสด็จกลับเมืองน่าน พระยาการเมือง จึงทรงนำพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์มาประดิษฐานไว้ที่เนินภูเพียงแช่แห้ง โดยให้สร้างเต้าปูนสำริดขนาดใหญ่ เพื่อบรรจุพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พร้อมปิดฝาสนิทพอกหุ้มด้วยสะดายจีน คือการนำปูนมาผสมแบบโบราณ เป็นก้อนกลมเกลี้ยงเหมือนศิลา และก่ออิฐทับครอบเป็นเจดีย์สูง 1 วา  และยกให้วัดพระธาตุแช่แห้ง มีฐานะเป็นวัดหลวงประจำราชสำนัก ต่อมาพระธาตุถูกบูรณะอยู่หลายครั้งเมื่อตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา และพม่า แต่ปัจจุบันพระธาตุมีรูปแบบศิลปะแบบล้านนา ที่มีทรงคุณค่าอย่างยิ่งต่อชาวน่าน ภายในบริเวณวัดยังวิหารพระเจ้าทันใจ วิหารพุทธไสยาศน์  วิหารพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ศาลท้าวขาก่าน อนุสาวรีย์พญากรานเมือง ที่สามารถมาสักการะได้เหมือนกัน

ไหว้พระธาตุแช่แห้งเรียบร้อย ก็มาถึงมื้อกลางวัน ที่ร้านอาหารพื้นบ้าน เฮือนภูคา ร้านนี้ อยากแนะนำ ไม่ใช่เพียงแค่บรรยากาศร้าน ที่เป็นเรือนไม้แบบล้านนาแท้ๆ พร้อมกับความร่มรื่นรอบๆร้าน  แต่อาหารของที่นี่ยังรสชาติดี อาหารพื้นถิ่น ทั้งต้มอะยิอะเยาะ ชื่อฟังดูแล้วอาจจะแปลกๆ เพราะเป็นภาษาเหนือที่หมายถึงการนำผักชนิดต่างอย่างละนิดละหน่อยมาต้มใส่รวมกัน เพิ่มปลาย่างเวลาซดร้อนๆจะได้กลิ่นของหอมของปลา รสชาติดีเลยทีเดียว อีกเมนูไม่ลองไม่ได้คือ ซี่โครงมะแขว่นทอด สมุนไพรที่คนเหนือส่วนใหญ่จะนำเป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร เพราะจะช่วยให้ได้กลิ่นที่หอมฉุน มีความเผ็ดชาๆ เพิ่มรสให้อาหารมากยิ่งขึ้น หรือ เมนูน้ำอย่างน้ำมะพร้าว หรือน้ำส้มก็คั้นสด หอมหวาน ดื่มแล้วสดชื่นใจเลย แต่…อย่าเชื่อในคำบอกเล่า หากยังไม่ได้ลองไปอร่อยด้วยตัวเอง

ต้มอะยิอะเยาะ รสเด็ด
ซี่โครงมะแขว่นทอด หอมเครื่องสมุนไพร

มาชิวๆกันต่อที่ คาเฟ่เฮือนฮังต่อ บรรยากาศของบ้านที่โล่งสบาย ตกแต่งด้วยต้นไม้ให้ความร่มรื่น ชั้นล่างทำเป็นคาเฟ่ โดยเครื่องดื่มซิกเนเจอร์ คือเมนูกาแฟ ที่เป็นเมล็ดกาแฟของเมืองน่านที่มีความโดดเด่นในแต่อำเภอ ช่วยส่งเสริมรายได้ของเกษตรกร ที่นี่ยังมี Horizon Harvest – Cafe & Coffee Roaster พื้นที่ที่แยกให้เล่าผู้ที่ชื่นกาแฟดริป หรือสนใจการทำการกาแฟได้เรียนรู้อีกด้วย

บรรยากาศร้านเฮือนฮังต่อ

ข้ามอำเภอมาที่ วัดบุญยืน พระอารามหลวงวัดแรกและวัดเดียวในอ.เวียงสา ที่อยู่นอกเขตอ.เมือง และเป็น 1 ใน 6 วัดที่สร้างโดยเจ้าผู้ครองนครน่าน คือ เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 57 เดิมชื่อวัดบุญนะและสถานที่ตั้งก็อยู่ที่ตลาดสด เป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็กๆ ทรงเห็นว่าที่ตั้งของวัดมีเนื้อที่แคบ ไม่อาจจะขยายต่อได้ จึงได้ทรงให้ย้ายวัดไปสร้างใหม่ห่างจากที่เดิมประมาณ 120 เมตร ซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางติดกับแม่น้ำสา ตรงปากน้ำไหลบรรจบกับแม่น้ำน่าน ประกอบกับในบริเวณนั้นมีป่าสักที่อุดมสมบูรณ์ จึงได้มีการนำมาสร้างพระวิหาร กุฏิสงฆ์ และศาสนวัตถุอื่นๆ และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดป่าสักงาม ต่อมาอีก 10 ปี และต่อในปี 2343 ได้เปลี่ยนนามวัดใหม่ว่า วัดบุญยืนซึ่งใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

วัดบุญยืนการผสมผสานของวัฒนธรรมหลากหลาย

วัดแห่งนี้จะมีความสวยงามแปลกตา ด้วยสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานเหมือนกับศิลปะนาอีฟ ที่มีทั้งล้านนา พม่า และรัตนโกสินทร์ได้อย่างลงตัว รูปแบบของวัดจึงมีลักษณะทรงแจ้เตี้ย แบบล้านนาที่มีความละมายคล้ายกับวัดเชียงทอง ที่หลวงพระบาง ประเทศลาว  โดยเฉพาะพระอุโบสถที่งามสะดุดตามาก หลังคาทำจากไม้สักเป็นทรงล้านนา มีการลดหลั่นกัน เรียกว่า ทรงม้าต่างไหม ด้านหน้ามีหลังคาลดหลั่น 4 ชั้น ด้านหลังหลังจะลดหลั่น 3 ชั้น ซึ่งเป็นคติความเชื่อว่ากษัตริย์สร้างที่อยู่อาศัยหลังคาจะต้องมี 3-4 ชั้น หากไม่ใช่กษัตริย์จะมีเพียง 2 ชั้น ซึ่งต่อมาก็มีการบูรณะเพราะชำรุด คันทวยก็มีการแกะสลักรูปสัตว์ประจำแต่ละปีนักษัตรอยู่ด้วย ส่วนหน้าบันพระอุโบสถ แกะสลักพญาครุฑ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงถึงการยอมรับอำนาจของสยาม ที่อยู่ภายใต้การปกครองในสมัยรัชกาลที่ 1  

เจดีย์แบบศิลปะล้านนา ด้านหลังพระอุโบสถ วัดบุญยืน

มีความเชื่อกันว่า  หากได้เปิดบานประตูใหญ่ของพระอุโบสถ เปรียบเสมือนการเปิดประตูสู่น่าน ซึ่งประตูบานนี้เจ้าราชวงศ์เชียงของ ได้ให้ช่างแกะสลัก  ลวดลายจึงมีความงดงามตามความสร้างสรรค์ของช่าง คือบานซ้ายเป็นเทวดา (พระอินทร์) พระหัตถ์ถือตาลปัตร ประทับบนดอกบัว บานขวาเป็นรูปเทวดา พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ ประทับบนช้างเจ็ดเศียร ลวดลายประดับตกแต่งรอบมีความวิจิตรพิศดาร เป็นการแกะสลักถึง 3 ชั้น และมีเรื่องเล่าว่าเมื่อช่างแกะสลักเสร็จแล้วได้นำเครื่องมือไปทิ้งลงแม่น้ำน่านทั้งหมด เป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่าจะไม่ทำการแกะสลักอีกแล้ว และประตูเล็กซ้ายขวาของประตูใหญ่ จะแกะสลักลวดลายกินรีและลวดลายเทวดาประทับสิงห์ เป็นการแกะสลักใหม่โดยช่างนวล จากจ.แพร่

เสาปูนปั้น ศิลปะแบบล้านนา

บันไดด้านข้างจะเป็นสิงห์หน้าเทวา ที่มีทรวงทรงอ่อนช้อย แม้ร่างจะเป็นสิงค์ แต่ใบหน้านั้นผ่องใส่ ใบหน้างดงามดั่งเทวดา หากสังเกตไปรอบวัดจะเห็นว่ามีพระแม่ธรณีแบบมวยผม หรือตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ อยู่ตรงผนังบันไดวัดนั้น ก็สันนิษฐานว่าช่างได้รับอิทธิพลจากวัดที่เมืองพุกาม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่จิตรกรรมฝาผนังนั้นหายไปเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วม

บานประตูใหญ่ของพระอุโบสถ ฝีมือเจ้าราชวงศ์เชียงของ

เข้ามาที่ด้านในพระอุโบสถ ที่ประดิษฐานพระประธานปางประทับยืนหรือปางเปิดโลก ห้อยพระหัตถ์ทั้งสองข้างชิดลำตัว  ขนาดสูง 8 ศอก ซึ่งหากสังเกตเทียบกับพระพุทธรูปที่วัดอนันดา เมืองพุดาม ประเทศพม่า จะเห็นว่ามีความเหมือนกัน จึงได้สันนิษฐานช่างที่สร้างในขณะนั้นได้รับอิทธิพลจากพม่าที่อยู่ในเมืองน่าน และเป็นพระพุทธรูปองค์ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดด้วย ด้านหน้าพระประธานมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่สันนิษฐานว่าสร้างสมัยรัตนโกสินทร์ ด้วยการก่ออิฐถือปูน ซึ่งเสาพระอุโบสถ ลักษณะกลมใหญ่ขนาดสองคนโอบ มีทั้งหมด 12 ต้น ซึ่งเป็นเสาปูนปั้น ศิลปะแบบล้านนา ของช่างสกุลน่าน โดยปูนปั้นทำมาจากปูนขาวที่เผาสุกใหม่ นำมาตำและผสมกับน้ำตาล ไขหรือหนังสัตว์ เปลือกไม้ ที่จะช่วยเชื่อมประสาน ผสมผสานกับทรายจากน้ำว้าและนำมาปั้น ซึ่งด้านในจะเป็นไม้สัก รอบเสามีลวดลายของกินรีวิงดงาม ด้านข้างยังเป็นที่ตั้งของบุษบก(ธรรมมาสน์เอก) สร้างด้วยอิฐถือปูน ประดับด้วยลวดลายนกซึ่งแฝงด้วยคติธรรม

พญาครุฑ สัญลักษณ์การเข้ามาปกครองโดยสยาม

ทั้งนี้ในช่วงที่พระสมุห์หะ เจ้าอาวาสในสมัยนั้นได้มีการบูรณะหลังคาจากเดิมที่มุงด้วยกระเบื้องดินเผา เปลี่ยนเป็นกระเบื้องซีเมนต์ชนิดสี่เหลี่ยม และทำช่อฟ้า ใบระกาใหม่ โดยนายช่างพ่อเลี้ยงวงศ์ บ้านป่ากล้วย ทั้งนี้เจดีย์ด้านหลังพระอุโบสถก็ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก จากเดิมเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ มีลักษณะครึ่งทรงกลมหรือโอคว่ำแบบลังกา จึงได้มีการสร้างขึ้นใหม่เป็น เจดีย์ทรงปราสาทหรือทรงเรือนธาตุ แบบศิลปะล้านนา ภายในบรรจุดินจากสังเวชนียสถาน และทรายจากแม่น้ำเนรัยชรา การมาวัดครั้งนี้นอกจากจะสบายใจแล้ว ยังได้รื่นรมณ์ชมงานศิลปะที่ทรงคณค่ามากอีกด้วย

เครื่องดื่มสดชื่นๆที่ร้านบ้านนาก๋างโต้ง

เก็บความประจำทับใจส่งท้าย ที่คาเฟ่บ้านนาก๋างโต้ง แค่ก้าวเดินเข้าไปก็สัมผัสได้ถึงความร่มรื่นที่เขียวขจีของเหล่ามวลดอกไม้ดอกเล็กดอกน้อยที่ปลูกอยู่รายล้อม ส่วนของคาเฟ่สร้างด้วยไม้รู้สึกได้ถึงความผ่อนคลาย มีการตกแต่งที่นั่งไว้ทั้งอินดอร์ ด้วยการตกแต่งแบบมินิมอล และเอาท์ดอร์ ที่ยืนเป็นชานออกมาให้ได้รับลม ชมวิวทุ่งหญ้า ที่นี่ยังเป็ดบริการในส่วนของที่พักด้วยนะ แยกเป็นหลักให้ความเป็นส่วนตัว แต่ละหลังก็มีดีไซน์ที่โด่ดเด่น เน้นให้ความผ่อนคลาย คราวหน้าต้องลองมาเอนกายสักครั้งแล้ว

บรรยากาศรอบร้าน มีที่พักสไตล์เก๋ๆ

การเดินทางมาน่านเมืองที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง ที่มีทั้งกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ ความน่ารักของผู้คน แหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ว่าแล้วก็หาวันว่างๆมาเยือนที่นี่อีกสักครั้ง.

บรรยากาศรอบร้าน มีที่พักสไตล์เก๋ๆ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. สานพลังเทศบาลเมืองน่าน UDC ม.แม้โจ้ หนุน 'จ.น่าน' เป็นจังหวัดแรก ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้นโยบาย 'เมืองสุขภาพดี' หรือ blue zone ของกระทรวงสาธารณสุข ชู 'ชุมชนน้ำล้อม เทศบาลเมืองน่าน' ต้นแบบเมืองที่เป็นมิตรเพื่อผู้สูงอายุและทุกคน จัดทีมช่างชุมชนออกแบบ ปรับปรุงบ้านคนสูงอายุ คนพิการ ที่อยู่เพียงลำพัง

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ และผศ.ดร.วุฒิกานต์ ปุระพรหม หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (UDC) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การออกแบบและปรับปรุงบ้านพักของผู้สูงอายุตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน ในพื้นที่ที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุและทุกคน

นายกฯ จ่อลงพื้นที่ตรวจราชการจ.น่าน ติดตามการเจรจาแก้หนี้นอกระบบ 23 ธ.ค. นี้

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดน่าน

พลิกโฉมพิพิธภัณฑ์น่าน เพิ่มความทันสมัย

ล่าสุด กรมศิลปากรชวนไปยลโฉมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน เพื่อชมห้องจัดแสดงนิทรรศการโฉมใหม่ หลังดำเนินโครงการปรับปรุงการจัดแสดงและพื้นที่ภายในอาคาร เพื่อพัฒนาให้มีความทันสมัยรองรับการใช้บริการ และส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญ

'น่าน' เปิดศูนย์การเรียนรู้ภูเพียงโมเดล - รักษ์ป่าน่าน

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์การเรียนรู้ภูเพียงโมเดล – รักษ์ป่าน่าน วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน คณะกรรมการศูนย์การเรียนรู้ภูเพียงโมเดล – รักษ์ป่าน่าน