เดือนมิถุนายนปีนี้ แม้จะเป็นหน้าฝน แต่อากาศยังร้อนแบบร้ายกาจ แต่ถึงอย่างนั้น เราก็”บ่ยัน”ในการไปดูชม งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ประจำปี 2566 ที่วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย จ.เลย ที่มีขึ้นในวันที่ 23-25 มิถุนายนที่ผ่านมา นับเป็นอีกหนึ่งงานประเพณีระดับชาติที่มีเหล่ากองทัพผีตาโขนหลายร้อยตัวมาร่วมกัน โดยงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานบุญหลวงงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่น โดยรวมเอางานบุญผะเหวด (ฮีตเดือนสี่) และงานบุญบั้งไฟ(ฮีตเดือนหก) เข้าไว้เป็นงานบุญเดียวกัน
ในงานบุญหลวง ซึ่งถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ของชาวด่านซ้าย หนึ่งในไฮไลท์ของงานคือการละเล่นผีตาโขน ซึ่งเป็นการละเล่นท้องถิ่นมีที่มีมาแต่โบราณแล้ว และพบเห็นได้เฉพาะที่อ.ด่านซ้ายเท่านั้น โดยสันนิษฐานว่า การแห่ผีตาโขน ที่มีทั้งผีตาโขนเล็ก และผีตาโขนใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมือง บรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรักจึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตนมากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง จึงมีชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ผีตามคน หรือ ผีตาขน และกลายมาเป็น ผีตาโขน ที่รู้จักกันในปัจจุบัน
อีกความโดดเด่นซึ่งถือเป็นศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น คือ การทำชุดผีตาโขน โดยผีตาโขนแบ่งเป็น ผีตาโขนใหญ่ และผีตาโขนเล็ก โดยผีตาโขนใหญ่ จะลักษณะเป็นหุ่นที่ขึ้นรูปจากโครงไม้ไผ่สานที่มีขนาดใหญ่แล้วห่อคลุมด้วยผ้าหรือกระดาษมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ 2 เท่า ประดับตกแต่ง รูปร่างเป็นเพศชายและหญิงด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น
ส่วนผีตาโขนเล็ก เดิมแล้วจะใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่น อย่าง หน้ากาก ก็ใช้ไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้งิ้ว ใช้ทำส่วนจมูก ก้านมะพร้าวแก่ ใช้ทำส่วนหน้าตา และส่วนหัวก็จะใช้หวดนึ่งข้างเหนียวที่ชำรุดแล้ว ชุดที่สวมใส่ก็จะใช้ผ้าเก่า หรือจีจวรพระที่ขาด นำมาตัดเย็บเป็นชุดหลวมๆ มีขนพะรุงพะรัง เครื่องประดับสำคัญห้อยไว้ที่เอว ก็จะใช้กระดิ่งควาย หรือกระป๋องนมเก่า กระป๋องสีเก่า เพื่อส่งเสียง เป็นสัญญาณว่าผีตาโขนกำลังจะมาแล้ว พร้อมอาวุธคู่กายดาบแกะสลักเป็นรูปอวัยวะเพศชายแถมทาสีแดงให้เห็นอย่างเด่นชัด ซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องหยาบหรือลามก เพราะเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมา และเชื่อกันว่า มีความหมายสื่อถึงพืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์
แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปแฟชั่นของผีตาโขนก็มีวิวัฒนาการไปตามช่วงเวลา ซึ่งก็ยังมีเอกลักษณ์ดั่งเดิมคงไว้ เพียงแต่ชุดที่สวมใส่อาจจะมีสีสันที่ฉูดฉาดขึ้นตามความชอบของผู้รังสรรค์ หน้ากากผีตาโขนจากที่ใช้สีเรียบงาย ก็เพิ่มความวิจิตรด้วยงานฝีมือการวาดลวดลายที่สวยงาม ใช้สีที่โดดเด่น ให้ความรู้สึกทันสมัย ส่วนอาวุธคู่กาย นอกจากดาบแกะสลักเป็นรูปอวัยวะเพศชายแล้ว ยังมีการถืออาวุธอื่นๆ ที่เป็นของเล่น เช่น ปืน ดาบ เป็นต้น
ประสบการณ์ที่ได้ไปงานบุญหลวง ที่ต้องบอกว่า “ม่วนคักๆ” สนุกสนานครื้นเครงทั้ง 3 วันที่ผ่านมา เรียกได้ว่าแม้อากาศจะร้อนสักแค่ไหน ก็ย่อมแพ้ความตั้งใจของเหล่าผีตาโขน และผู้คนจากทั่วสารทิศที่เดินทางมาร่วมงานที่วัดโพนชัย ซึ่งสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นพร้อมกับพระธาตุศรีสองรัก เป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 400 ปี โดยงานวันแรก จะเริ่มเริ่มพิธีตั้งแต่เช้ามืด คณะแสนหรือข้าทาสบริวารของเจ้าพ่อกวนผู้นำทางจิตวิญญาณคนสำคัญในการดำเนินงานประเพณีบุญหลวง จะนำอุปกรณ์ มีด ดาบ หอก ฉัตร พานดอกไม้ ธูปเทียน ขันห้าขันแปด ถือเดินนำขบวนไปที่ริมแม่น้ำหมัน เพื่อนิมนต์พระอุปคุตต์ ซึ่งช่วงเวลานั้นบรรดาผีตาโขนที่นอนหลับหรืออยู่ตามที่ต่างๆก็จะมาร่วมขบวนด้วย ความยินดีปรีดา เต้นรำ เข้าจังหวะกับเสียงหมากกระแร่ง ซึ่งเป็นกระดิ่งผูกคอวัวหรือกระดิ่งให้เสียงดัง
ช่วงบ่ายๆ หลังจากที่เสร็จพิธีวันแรก เราได้เดินเที่ยวชมวัดโพนชัย ซึ่งภายในวัดมีหากพิพิธภัณฑ์ผีตาโขน ให้เราได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของการละเล่นนี้ด้วย และได้ถือโอกาสเข้ากราบหลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ฝีมือช่างท้องถิ่น ซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านในวิหาร ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะล้านช้างเช่นกัน
ในส่วนของวันที่สอง คณะของเรามาที่จุดเริ่มต้นขบวนที่ลานตรงที่ว่าการอ.ด่านซ้าย ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนมากมายเดินทางมารอชมผีตาโขน คนที่เคยมางานนี้ปีที่แล้วยังบอกว่า คนปีนี้เยอะมากๆ อาจจะเพราะเป็นวันที่มีขบวนแห่พระเวสสันดร ซึ่งเป็นไฮไลท์ของงาน และนักท่องเที่ยวก็จะได้ถ่ายรูปรูปกับผีตาโขนอย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่าเป็นดาราดาวเด่นของงานเลยทีเดียว
โดยในขบวนแห่ประกอบด้วย ขบวนแห่อัญเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง ขบวนแห่เจ้าพ่อกวน-เจ้าแม่นางเทียม จะประทับนั่งบนม้า คณะพ่อแสน และขบวนแห่ผีตาโขนใหญ่ และขบวนผีตาโขนเล็กจากกลุ่มต่างๆของชาวด่านซ้ายที่จัดตั้งขึ้น พร้อมกับการจัดตกแต่งรถแห่ที่จัดเต็มแต่ละคันงัดเอาความสร้างสรรค์มาประชันกันสุดอลังการ พ่วงมาด้วยรถเครื่องเสียงแน่นๆ สร้างจังหวะโยกย้ายให้ทั้งผีและคนสนุกสนานตลอดขบวนแห่ ถึงแดดจะร้อนขนาดไหนแต่ละคนก็ออกวาดลวดวายสู้แดดไม่ถอยเลย
หลังจากที่ขบวนเคลื่อนไปอย่างช้าๆ จนถึงวัดโพนชัย สถานที่ประกอบพิธีพิธีจุดบั้งไฟบูชาพญาแถน โดยเจ้าพ่อกวนจะนั่งบนบั้งไฟและแห่รอบวิหาร 3 รอบ ซึ่งในพิธีทิ้งหน้ากากผีตาโขน สำหรับคนที่เล่นเป็นผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออก ให้หมดและนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป รอจนปีหน้าฟ้าใหม่ แล้วค่อยทำเล่นกันใหม่
และวันที่สาม เป็นการรวมเอางานบุญประเพณีประจำเดือนต่างๆ ของปีมารวมกันจัดในงานบุญหลวง ประชาชนจะมานั่งฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ ที่วัดโพนชัยเพื่อเป็นการสร้างกุศลและเป็นมงคลแก่ชีวิตแก่ชีวิต
ถึงแม้งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน จะจบลงแล้ว แต่ในภาคอีสานยังมีงานประเพณีสำคัญตาม ฮีต 12 คอง 14 ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้ตลอดทั้งปี ซึ่งทั้งได้บุญและกระตุ้นการท่องเที่ยวอีกด้วย .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ห่วงปชช. 7 จ. ริมน้ำโขง หลังสารเคมีรั่ว สั่ง สทนช. เฝ้าระวังถึง 12 เม.ย.
'สมศักดิ์' ห่วงชาวไทย-ลาว หลังสารเคมีรั่วลงแม่น้ำโขง สั่ง สทนช. เกาะติดใกล้ชิด แจงตรวจคุณภาพน้ำ จ.เลย ใช้ได้ปกติ แต่ยังเฝ้าระวังถึง 12 เม.ย.
'พาณิชย์'ลุยต่อ จัดธงฟ้าราคาประหยัด ลดภาระค่าครองชีพพี่น้องประชาชน จ.เลย
“พาณิชย์” เดินหน้าลดค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน จัดงานธงฟ้าราคาประหยัด จ.เลย นำสินค้าจากผู้ประกอบการ ห้าง เกษตรกร SMEs วิสาหกิจชุมชน รวม 10 หมวดสินค้า กว่า 1,000 รายการ ลดสูงสุด 60%
'พวงเพ็ชร' อ้างเศรษฐกิจตกต่ำต้องสร้างกระเช้าภูกระดึงให้เป็นจุดดึงดูด!
'พวงเพ็ชร' บอกเศรษฐกิจตกต่ำ ยอดคนขึ้นภูกระดึงน้อย เลยอยากผลักดันกระเช้า พร้อมให้จังหวัดติดตาม เรื่องบบประมาณ
'มอส-แบงค์' นำทีมเปิดตัว 'ตาโขน' (TA KHON) เผยแพร่ประเพณีไทยสู่ชาวโลก
แถลงข่าวเปิดตัวไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับ “ตาโขน” (TA KOHN) ภาพยนตร์แนวระทึกขวัญ สร้างโดย บริษัท สตาร์ ฮันเตอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท) สำนักงานจังหวัดเลย
‘Mask Festival’ เทศกาลหน้ากากนานาชาติที่โด่งดัง
ในปีนี้เทศกาลหน้ากากนานาชาติสุดยิ่งใหญ่กลับมาอีกครั้งอย่างเต็มรูปแบบที่เมืองเลย มีผู้ชมเดินทางมาร่วมงานที่เต็มไปด้วยสีสันทางวัฒนธรรม เพื่อชมการแสดงหน้ากากของไทยและนักแสดงหน้ากากจาก 6 ชาติ