ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราชฯ เผย ต่อยอดสู่การบริการตรวจมะเร็งเต้านมให้ทุกคน ด้านนักวิจัยชี้ เทคโนโลยีการแพทย์รุดหน้าทั่วโลก แต่คำถามสำคัญ ‘ช่วยให้คนเข้าถึงได้แค่ไหน’
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า บริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม (BRCA1/BRCA2) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บรรจุเข้าสู่สิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ซึ่งคนไทยทุกคนทุกสิทธิ์การรักษา สามารถรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายนั้น ถือว่ามีประโยชน์ต่อผู้หญิงไทยที่มีความเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าว และระบบบริการสุขภาพอย่างมาก
เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์ หรือเป็นญาติสายตรงที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งมาก่อน โดยทำให้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งตามไปด้วยถึง 50% แต่หากได้รับการตรวจคัดกรอง จะทำให้พบว่ายีนตัวใดที่มาจากพันธุกรรมและจะเกิดการกลายพันธุ์ไปสู่ยีนมะเร็ง เพื่อยับยั้งเอาไว้ก่อน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมของคนไทยได้
“อีกทั้งหากพบว่ามีข้อมูลจากการถอดรหัสพันธุกรรม อาจทำให้เห็นถึงการป้องกันเพื่อไม่ให้กลุ่มเสี่ยงต้องเป็นมะเร็งได้ตั้งแต่เกิดได้อีกด้วย ซึ่งข้อมูล DNA ทั้ง 5 หมื่นคนของโครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์ สำคัญอย่างมากต่อการรักษาทางการแพทย์ในอนาคต ที่จะมุ่งเป้าไปหาการแพทย์แม่นยำ” หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราชฯ กล่าว
ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า บริการดังกล่าวที่เกิดขึ้นนี้ มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการถอดรหัสพันธุกรรมของคนไทยที่เป็นผู้ป่วยใน 5 กลุ่มโรคสำคัญ ประกอบด้วย โรคมะเร็ง โรคหายาก โรคติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โรคติดเชื้อ และเภสัชพันธุศาสตร์ ภายใต้แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563-2567 (Genomics Thailand) ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในการแพทย์พันธุกรรม (Genomics Medicine) อันเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ของประเทศ ส่งผลต่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีบริการด้านการแพทย์จีโนมิกส์ที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่ 2 ที่เริ่มโครงการด้านการแพทย์โนมิกส์ถัดจากประเทศสิงคโปร์ก็ตาม แต่จะเห็นได้ว่าการพัฒนาและต่อยอดจากเทคโนโลยีการแพทย์มาสู่การบริการสุขภาพที่ทั่วถึง ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก
นอกจากนี้ แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความรุดหน้าไปอย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนาไปสู่การแพทย์แม่นยำ หรือการแพทย์จีโนมิกส์ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วที่ลงทุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ประเด็นที่สำคัญคือ ประชาชนสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยนั้นได้หรือไม่ เพราะหากเป็นเทคโนโลยีการแพทย์ที่ดี ทันสมัย แต่ถูกจำกัดการใช้เฉพาะกลุ่มผู้ป่วยบางกลุ่มที่เข้าถึงได้ ก็ทำให้เทคโนโลยีนั้นหมดความหมาย และไม่มีประโยชน์ต่อระบบสุขภาพของประเทศในภาพรวม
“เมื่อเทียบความก้าวหน้ากับต่างประเทศที่มีโครงการการแพทย์จีโนมิกส์เหมือนกัน ถือว่าเรามีการต่อยอดทำให้เห็นความก้าวหน้าอย่างมาก แม้ว่าจะเริ่มเรื่องจีโนมิกส์ไทยแลนด์ช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อได้ข้อมูลจากการแพทย์จีโนมิกส์ เราสามารถต่อยอดและผลักดันเชิงนโยบาย ไปสู่ชุดสิทธิประโยชน์ด้านการบริการสุขภาพให้กับคนทั้งประเทศได้” ศ.นพ.มานพ กล่าวย้ำ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในกลุ่มเสี่ยง แม้จะเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ครอบคลุมประชากรทุกคน แต่การเข้าถึงการบริการยังไม่ทั่วถึงนัก เพราะการตรวจคัดกรองยังจำกัดอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ในโรงเรียนแพทย์ รวมถึงโรงพยาบาลศูนย์มะเร็ง แต่ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลขนาดเล็กในบางจังหวัดแบ่งแห่งก็มีศักยภาพในการตรวจคัดกรอง หรือเก็บสิ่งตรวจเพื่อส่งตรวจได้เช่นกัน ทว่า ขณะนี้ยังไม่มีระบบ หรือกระบวนการอย่างชัดเจนมารองรับ ซึ่งก็ส่งผลให้ขาดการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ที่เชื่อได้ว่ามีผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยงอยู่ทั่วประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอเหรียญทอง' แจกแจงแนวคิดจ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง ชี้ช่วยลดความแออัดผู้ป่วยรพ.รัฐ
พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า โครงการ 'จ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง แอดมิตไม่ต้องเสียเงิน ทุกเขตทั่วราชอาณาจักรไม่ต้องใช้ใบส่งตัว'
ตีปี๊บ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของไทย
รัฐบาล ประกาศ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ด้วยโอกาสของคนไทยนับจากนี้ ต้องมีชีวิตดี สุขภาพดี เริ่มแล้วครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของประเทศไทย