
13 ก.ย.2566- นพ.สินชัย ต่อวัฒนกิจกุล รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 4 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยมี รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอแผนและวงเงินการจัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จําเป็นตามโครงการพิเศษ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567 ภายในวงเงิน 10,781.15 ล้านบาท โดยให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประสานกับโรงพยาบาลราชวิถีและองค์การเภสัชกรรม เร่งรัดเตรียมการเพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดหา เพื่อให้มียา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เพียงพอต่อการใช้และไม่กระทบกับการให้บริการเมื่อเข้าสู่ปีงบประมาณ 2567 ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค. 2566 นี้ โดยในระหว่างรอ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ให้ใช้เงินงบประมาณของปี 2566 ไปพลางก่อน
ขณะเดียวกัน บอร์ด สปสช. ยังมอบหมายให้ สปสช. ประสานกับโรงพยาบาลราชวิถีและองค์การเภสัชกรรม ในการจัดทำข้อเสนอวิธีการจัดหาและบริหารจัดการคลังกลาง แบบ real VMI สำหรับปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป เพื่อสํารองยาให้เหมาะสม และลดอัตราการสูญเสียยาจากกรณีการหมดอายุ เสื่อมสภาพอีกด้วย
นพ.สินชัย ต่อวัฒนกิจกุล รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า แผนและวงเงินการจัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จําเป็นตามโครงการพิเศษ วงเงิน 10,781.15 ล้านบาท จะมีทั้งหมด 149 รายการ ประกอบด้วย
4 ส่วนหลักๆ คือ 1.งบเหมาจ่ายรายหัว เช่น ยาจําเป็น (ยา จ.2 / ยากําพร้า และยาต้านพิษ) ยาวัณโรค สายสวนหัวใจ ชุดประสาทหูเทียม รากฟันเทียมและถุงทวารเทียม 2.งบบริการผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์ ทั้งในส่วนของยา ถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่น
3.งบบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เช่น น้ำยาล้างไตผ่านทางช่องท้อง สาย TK สำหรับการล้างไตผ่านทางช่องท้อง ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง และตัวกรองเลือดสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และ 4.งบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค อาทิ วัคซีนชนิดต่างๆ ยายุติการตั้งครรภ์ ถุงยางอนามัยรวมถึงสารหล่อลื่น
ทั้งนี้ แม้ บอร์ด สปสช. จะเห็นชอบแผนงานและวงเงินงบประมาณข้างต้นแล้ว แต่ก็ได้มีข้อเสนอแนะให้ สปสช. พิจารณารายละเอียดแผนการใช้เงินปีงบประมาณ 2567 ให้ดี โดยเฉพาะในช่วงที่ยังรอการออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 โดยให้ใช้เงินในงบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อนนั้น ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ซึ่งให้ใช้เงินได้ไม่เกิน 66.6% หรือ 2 ใน 3 ของแผนงบประมาณทั้งหมด ดังนั้นเมื่อมีแผนในการใช้จัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จําเป็นตามวงเงิน 10,781.15 ล้านบาทแล้ว สปสช. อาจต้องปรับเกลี่ยวงเงินงบประมาณในโครงการอื่นๆ เพื่อให้ยอดรวมการใช้เงินไม่เกิน 2 ใน 3 ของวงเงินงบประมาณรวมตามที่ได้รับจากสำนักงบประมาณเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สิทธิบัตรทองเฮ! ทะเบียนบ้านอยู่ตจว. มาทำงาน-เรียนในกทม. ย้ายสิทธิได้
รบ. แนะ ผู้มีสิทธิบัตรทอง อาศัยทำงาน-เรียนหนังสือใน กทม. แต่ทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัด สามารถย้ายสิทธิมาเมืองกรุงได้ ทำง่ายผ่าน 4 ช่องทาง 'สปสช.-กทม.' จับมือโรงพยาบาลเอกชนขยายศักยภาพรับการส่งต่อผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเร็ว
สธ. ลุยปฏิบัติการลดแออัด รพ. บัตรทองตรวจแล็บใกล้บ้านปีนี้
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้มีนโยบายให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข
รัฐบาลชวนประชาชนใช้สิทธิบัตรทอง รับยาคุมกำเนิดไม่เกิน 3 แผงต่อครั้ง
รัฐบาลส่งเสริมการตั้งครรภ์เมื่อพร้อม ประชาชนใช้สิทธิ บัตรทอง รับยาคุมกำเนิดไม่เกิน 3 แผงต่อครั้ง คนละไม่เกิน 13 แผงต่อปี
แนะปชช.ใช้สิทธิบัตรทอง แล้วได้รับความเสียหาย มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น
รองโฆษกรัฐบาล แนะปชช.ใช้สิทธิบัตรทอง แล้วได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น