เที่ยวอินเทรนด์ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ มรดกโลก

หากใครที่ชอบการเดินทางท่องประวัติศาสตร์ผ่านโบราณสถานเก่าแก่ เมืองโบราณศรีเทพ ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ฮอตมาก ถูกจัดไว้ในลิสต์ต้นๆ ไม่ไปถือว่าตกเทรนด์ เพราะได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม หมาดๆ กลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของคนไทยและต่างประเทศ  

เขาคลังนอก ศาสนสถานขนาดใหญ่สะท้อนความรุ่งเรืองในอดีต

เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย นับว่าเป็นแหล่งโบราณสถานที่ทิ้งร่องรอยอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์อีกแห่งสำคัญของไทยที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เนื่องจากการสำรวจค้นพบร่องรอยหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก เมื่อประมาณ 1,700-1,500 ปีมาแล้ว และร่องรอยของสถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมสมัยทวารวดีและเขมรโบราณอันรุ่งเรืองเมื่อ 800 ปีก่อน 

สำหรับชื่อเรียก “ศรีเทพ”  นั้น เป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ.2447 

ปัจจุบันบริเวณเมืองโบราณศรีเทพ มีพื้นที่ทั้งหมด  2,889 ไร่ อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ  สภาพพื้นที่โดยรวมมีลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี ที่ยังคงสามารถรักษารูปแบบแต่เดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุดโดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแห่งหนึ่งของประเทศไทย แบ่งพื้นที่เป็นเมืองในและเมืองนอก นับได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะที่พบไม่มากนักในเมืองร่วมสมัยเดียวกัน อย่าง เมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี  เมืองโบราณคูบัว จ.ราชบุรี เมืองนครปฐมโบราณ จ.นครปฐม 

นั่งรถรางชมมรดกโลกแห่งใหม่

สำหรับการเที่ยวชมเมืองโบราณศรีเทพครั้งนี้ เราจะพาไปเยือนจุดไฮไลท์สำคัญ โดยใช้บริการรถราง เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการเข้าขมพื้นที่ด้านใน พร้อมกับมีวิทยากรคอยให้ความรู้ตามจุดต่างๆ เมื่อคณะพร้อมแล้ว จุดหมายแรกที่รถรางจะพาไปคือ เมืองใน ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ ประกอบด้วยกลุ่มโบราณสถานสำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ ปรางค์สองพี่น้อง เขาคลังใน และปรางค์ศรีเทพ บรรยากาศด้านในร่มรื่นไปด้วยต้นไม้เขียวขจี มีสระน้ำและหนองน้ำขนาดใหญ่ขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วเมืองกว่า 70  สระ สะท้อนให้เห็นถึงการเลือกทำเลตั้งเมืองที่ต้องมีคูคลองแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชุมชนในอดีต 

ชมโครงกระดูกมนุษย์โบราณและพิธีฝังศพ

ก่อนไปชมโบราณสถาน รถรางจอดจุดแรกที่  อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ภายในจะจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้าง ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. 2531  โดยโครงกระดูกมนุษย์และสิ่งของเครื่องใช้ที่พบร่วมกันนี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในระยะแรกเริ่มสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภายในเมืองโบราณศรีเทพที่มีมากว่า 2,000  ปี  ก่อนที่จะมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นสังคมเมืองโดยการรับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรเข้ามาตามลำดับ ส่วนโครงกระดูกช้าง  ในลักษณะนอนตะแคงซ้าย โดยรอบตัวมีภาชนะดินเผาสภาพเกือบสมบูรณ์ ที่บ่งชี้ถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้สอยโบราณสถานเนื่องใน  วัฒนธรรมทวารวดีสืบเนื่องมาถึงวัฒนธรรมเขมร

ปรางค์สองพี่น้องโดดเด่นสถาปัตยกรรมเขมร

ห่างออกไปไม่ไกลจะเป็นกลุ่มของเมืองใน ได้แก่  ปรางค์สองพี่น้อง สถาปัตยกรรมวัฒนธรรมเขมรโบราณที่มีอายุกว่า 900 ปี  มีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐสององค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน  แต่ส่วนยอดทั้งสององค์ได้พังทลายไปจนหมดสิ้นแล้ว หลงเหลือเพียงปรางค์องค์เล็ก จุดไฮไลท์ของปรางค์องค์นี้ คือ ทับหลังศิลาทรายสภาพสมบูรณ์ที่สุดที่พบในเมืองโบราณศรีเทพ ประดับอยู่จำหลักเป็นรูปอุมามเหศวร คือ พระอิศวรอุ้มนางอุมา ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราชหรือนนทิ ส่วนด้านล่างคือ หน้ากาล บริวารของพระศิวะ ที่มีความวิจิตรงดงาม นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมด้านในปรางค์องค์เล็กเพียงจุดเดียวเท่านั้น 

เดินเที่ยวชมเขาคลังใน

เดินตามแนวศิลาแลงขึ้นไปอีกฝั่งเป็นที่ตั้งของ เขาคลังใน เดิมบริเวณนี้ปกคลุมไปด้วยเนินดินที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย หลังจากกรมศิลปากรทำการขุดศึกษา ทำให้พบหินศิลาแลงที่เป็นฐานลักษณะสี่เหลี่ยมพื้นผ้า มีบันไดทางขึ้นทางฝั่งทิศตะวันออก มีฐานเจดีย์เล็กๆบริวาร ตั้งอยู่โดยรอบ สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานสำคัญประจำเมืองที่มีขนาดใหญ่ในวัฒนธรรมทวารวดี ที่สร้างขึ้นพร้อมกับสมัยแรกสร้างเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ 12 จนกระทั่งเมืองถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณฐานยังหลงเหลือประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระที่มีหน้าคน หรือสัตว์ อาทิ สิงโต ลิง ในท่าแบกประกอบลายพันธ์พฤกษาประดับอยู่ที่ฐานโบราณสถาน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทวารวดีเพียงแห่งเดียวในไทยปัจจุบัน และเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงเมืองโบราณศรีเทพ  ลวดลายคนแคระไปปรากฎบนไอศกรีมหลายรสชาติ สร้างสีสันให้มรดกโลกแห่งนี้ มีจุดจำหน่ายภายในอุทยานฯ

ไอติมโบราณลวดลายคนแคระสีสันมรดกโลก

เดินต่อมายังจุดสุดท้ายของเมืองในที่ ปรางค์ศรีเทพ   เป็นสถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมเขมรมีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ ลักษณะทางสถาปัตยกรรม และโบราณวัตถุที่พบ โดยเฉพาะทับหลัง ทำให้อนุมานได้ว่า สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู ต่อมามีการพยายามซ่อมแซมดัดแปลง แต่ไม่แล้วเสร็จ เพื่อใช้เป็นศาสนสถานในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7  เช่นเดียวกันกับปรางค์สองพี่น้อง มีการพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่เป็นเพียงโกลนอยู่เป็นจำนวนมาก 

จากทัวร์รถรางต่อรถส่วนตัวจากเมืองในมุ่งหน้าสู่เมืองนอกราวๆ  2 กิโลเมตร ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,589 ไร่ เป็นที่ตั้งของโบราณสถาน เขาคลังนอก เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ในวัฒนธรรมทวารวดี  สันนิษฐานว่ามีลักษณะเป็นมหาสถูป มีฐานขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ก่อด้วยศิลาแลงที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์  ประดับตกแต่งฐานด้วยอาคารจำลองขนาดต่างๆอยู่โดยรอบ  ภายในทึบตัน มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4  ด้าน มีสถูปก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ด้านบนล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและซุ้มประตู  สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุร่วมสมัยกับโบราณสถานเขาคลังใน  ถือเป็นศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์มากที่สุดในบรรดาศาสนสถานที่ร่วมสมัยเดียวกัน 

สักการะเจ้าพ่อศรีเทพ ศูนย์รวมใจชาวบ้าน

ก่อนหน้านี้ชาวบ้านบริเวณเขาคลังนอกใช้เป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา และเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมด้านบนได้ แต่กระแสเที่ยวมรดกโลก มีนักท่องเที่ยวแห่เดินทางไปชมความงดงามทางด้านบนของโบราณสถาน ปัจจุบันกรมศิลปากรประกาศหยุดให้บริการเดินชมด้านบนชั่วคราว เพื่อทำการก่อสร้างจุดอำนวยความสะดวกในการรับชมที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน ปลอดภัยทั้งตัวโบราณสถานและนักท่องเที่ยว 

ทับหลังศิลาทรายสภาพสมบูรณ์รูปอุมามเหศวร

นอกจากจุดไฮไลท์ที่ได้พาชมแล้ว บริเวณเมืองนอกยังมีโบราณสถานสำคัญ อย่าง ถ้ำเขาถมอรัตน์ ด้านในพบกับภาพสลักบนผนังถ้ำเป็นรูปพระพุทธรูป และพระโพธิ์สัตว์ ที่สร้างขึ้นตามความเชื่อของพุทธศาสนาลัทธิมหายานในวัฒนธรรมทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 14  อันมีความเกี่ยวพันที่ใกล้ชิดกับคติความเชื่อของผู้คนในเมืองโบราณศรีเทพในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย ก่อนกลับก็อย่าลืมแวะศาลเจ้าพ่อศรีเทพที่ประดิษฐานของเจ้าพ่อศรีเทพ ซึ่งเป็นที่เคารพเชื่อถือของชาวอำเภอศรีเทพและบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก

หากนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชมเมืองโบราณศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์เปิดให้บริการทุกวัน  เวลา  08.30 -16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ สำหรับค่าธรรมเนียมเข้าชม ชาวไทยคนละ 20  บาท  ชาวต่างประเทศ คนละ 100 บาท

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศรีเทพมรดกโลกฉลองใหญ่ ผู้ชมทะลุล้าน

เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานในสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง จ.เพชรบูรณ์ มีชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าชมโบราณสถานอันทรงคุณค่าระดับโลกมากกว่า 1 ล้านคนแล้ว นับตั้งแต่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองยอดผู้เข้าชมทะลุหลักล้าน กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม 

'2 นครา มรดกโลก' กระตุ้นเที่ยวโบราณสถาน

หลังจากเปิดโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืน ชูมนต์เสน่ห์ศิลปะสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของโบราณสถานที่สาดด้วยแสงสีจูงใจนักท่องเที่ยวและผู้หลงไหลในศิลปวัฒนธรรมให้มาตื่นตาตื่นใจกับความเป็นที่สุดของประวัติศาสตร์ จนประสบผลสำเร็จมีประชาชนจำนวนมากสนใจ

ประเพณีโบราณ'กำฟ้าไทยพวน-บุญกระธูป' โกอินเตอร์

เดินหน้าส่งเสริมเทศกาลประเพณีที่มีความโดดเด่นทั่วไทยให้เป็นเทศกาลประเพณีระดับชาติและนานาชาติ ปี 2567 นี้ ล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ประกาศผลการคัดเลือกเทศกาลประเพณี  6 เทศกาล/ประเพณี ประกอบด้วย เทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง จ.เชียงใหม่

จัดการพื้นที่'ศรีเทพ' รับมือท่องเที่ยวปีใหม่

ในเวลาไม่ถึง 2 เดือนที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ขึ้นชั้นมรดกโลกทางวัฒนธรรม มีนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศสนใจเดินทางมาเที่ยวชมเป็นจำนวนมากขึ้นอย่างชัดเจน  โดยเฉพาะในวันหยุด จากสถิติเดือนกันยายน-ตุลาคม 2566

ช่างสิบหมู่ช่วยชุมชนพัฒนาของที่ระลึก'ศรีเทพ'มรดกโลก

7 พ.ย.2566 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า หลังจากที่ยูเนสโกประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกแล้ว ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็นจำนวนมาก จึงได้มอบหมาย