รื้อฟื้นกระจกเกรียบสู่นวัตกรรม'แก้วอังวะ'

งานศิลปกรรมรูปแบบศิลปะพม่าประดับด้วย’แก้วอังวะ’ที่ทุบให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ ตกแต่งลงบนชิ้นงานฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแต่งแต้มแก้วกระจกด้วยพระองค์เองในโอกาสทรงเปิดงาน”วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 และพระราชทานเกียรติบัตรรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานขึ้นเป็นครั้งที่ 25 ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม นำประเทศ” โดย’แก้วอังวะ’ เป็นแบบอย่างของสิ่งประดิษฐ์วัสดุศาสตร์นวัตกรรมเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญต่อวงการบูรณะศิลปกรรมไทยจนคว้ารางวัลมาครอง

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงประดับแก้วอังวะบนงานศิลปกรรม

สิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่นนี้คิดค้น โดย ดร.รัชพล เต๋จ๊ะยา  ครูช่างศิลปหัตถกรรมกระจกเกรียบโบราณ  ปัจจุบันเป็นครูโรงเรียนสตรีวิทยา ใช้ชื่อผลงาน “แก้วอังวะ : การผสมผสานทางวัฒนธรรมของกระจกแก้วกลมสู่การผลิตอย่างโบราณ เพื่อการบูรณะและต่อยอดงานศิลปกรรม “ ซึ่งครูช่างผู้นี้น้อมนำคำแนะนำพระราชทานจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สืบสานกระจกเกรียบสู่งานใหม่ เป็นนวัตกรรมแห่งความภาคภูมิใจในการสืบสานรักษาความงดงามของอารยธรรมให้คงอยู่คู่ชาติงคา

ดร.รัชพล เต๋จ๊ะยา   กล่าวว่า ผลงานแก้วอังวะเป็นวัสดุศาสตร์สำหรับการบูรณะอนุรักษ์งานศิลปกรรม ควบคู่การต่อยอดเพิ่มมูลค่างานหัตถศิลป์ไทย สิ่งประดิษฐ์นี้เป็นวัสดุเชิงวัฒนธรรม เกิดจากการที่ต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้การหุงกระจกเกรียบโบราณของไทย ตามที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแนะนำให้ศึกษาต่อยอด องค์ความรู้การหุงกระจกที่ปรากฏในสมุดไทยดำ หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งช่วงปลายรัชกาลที่ 4-ต้นรัชกาลที่ 5 ในอดีตไทยกรมหุงกระจกสำหรับผลิตแก้วกระจกขึ้นมาใช้ในราชการแผ่นดิน เพื่อฟื้นฟูและสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาของไทยที่สูญหายไป มีการศึกษาข้อมูลและประดิษฐ์เป็นวัสดุศาสตร์นวัตกรรมเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญต่อวงการบูรณะงานศิลปกรรมไทยที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางเชิงวัสดุศาสตร์ที่ช่างไทยได้สร้างสรรค์ไว้ในอดีตให้กลับมางดงามอีกครั้งในยุคปัจจุบัน

‘แก้วอังวะ’ สิ่งประดิษฐ์ต่อยอดจากกระจกเกรียบ

จุดเด่นนวัตกรรมรางวัลนี้เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางศิลปกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ร่วมกัน ดร.รัชพล กล่าวว่า จากการศึกษารูปแบบทางศิลปกรรม พบว่า สำหรับประเทศไทยพบในงานศิลปกรรมรูปแบบศิลปะพม่า สมัยรัชกาลที่ 5 ผู้วิจัยได้ทดลองผลิต”แก้วอังวะ” (Kaew Ang-wa) หรือแก้วกลม (Kugel) สำหรับ Kugel ภาษาเยอรมันแปลงว่า”ลูกกลม” เป็นชื่อของเครื่องตกแต่งคริสต์มาสที่ทำจากแก้วหนักที่ผลิตในเยอรมนีตั้งแต่ปี 1840 ถึงต้นทศวรรษ 1900

“ กระบวนการประดิษฐ์เกิดจากการฟื้นฟูองค์ความรู้ดั้งเดิมที่ผลิตขึ้นนี้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากแนวคิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมของกระจกแก้วกลม ฟื้นฟูองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมในอดีต โดยวิธีเป่าแก้วแบบโบราณ ผสมผสานการให้สีและการเคลือบตะกั่วพื้นผิวภายในลูกบอลแก้วเช่นเดียวกับการผลิตกระจกเกรียบโบราณของไทย จนเกิดเป็นลูกบอลกระจกสีต่างๆ ที่พบในวัฒนธรรมยุโรป ใช้ตกแต่งต้นคริสต์มาส ทั้งนี้ ยังพบการผลิตในประเทศอินเดียใช้เป็นวัสดุตกแต่งงานศิลปกรรมและงานฝีมือในท้องถิ่น “ ดร.รัชพล กล่าว

วัสดุศาสตร์ใช้งานหัตถศิลป์สร้างสรรค์

สำหรับวัฒนธรรมการใช้ลูกแก้วบอลสีในงานศิลปกรรมในประเทศไทย ครูช่างศิลปกรรมกล่าวว่า  พบเห็นได้จากศิลปะการประดับแก้วสีงานศิลปกรรมศิลปะพม่าในวัดเขตภาคเหนือ เช่น วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง แก้วอังวะที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นวัสดุศาสตร์เพื่อการบูรณะและต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทยได้จริง โดยผู้ประกอบการสามารถรังสรรค์แปลงทุนทางวัฒนธรรมที่มีพัฒนาเป็นสินค้าหัตถศิลป์เชิงสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่า

แก้วอังวะนำไปประดับผ้าทิพย์พุทธบัลลังก์พระพุทธเทวปฏิมากร   

จากงานวิจัยกระจกแก้วกลมนำไปบูรณะงานศิลปกรรมสำคัญของชาติ เช่น ประดับผ้าทิพย์พุทธบัลลังก์พระพุทธเทวปฏิมากร บริเวณที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารขององค์รัชกาลที่ 1  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์   ซึ่งกระจกแก้วกลมที่ประดิษฐ์ขึ้นมาสำหรับการบูรณะอนุรักษ์ในครั้งนี้เทียบได้กับวัสดุศาสตร์เชิงช่างที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3-4 เกิดขึ้นภายใต้หลักการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด”  ตามพระปฐมบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“ เราคงคุณค่ารักษากระจกของเดิมไว้ บูรณาการกระบวนการทางวิทยาศาสตร์วิเคราะห์องค์ประกอบ ถอดสูตรและผลิตด้วยกรรมวิธีโบราณ ให้เหมือนทั้งองค์ประกอบภายในและให้มิติที่กลมกลืนทางกายภาพ ใช้แร่ธาตุตามธรรมชาติ หล่อหลอมด้วยมือตามอย่างโบราณ ทำให้เกิดสีที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น เขียวปีกแมลงทับ เขียวหยก มีความกลมกลืน งดงานเป็นสุนทรีย์เช่นอดีต  “ ดร.รัชพล กล่าว

นักวิจัยซ่อมบูรณะพุทธบัลลังก์พระพุทธเทวปฏิมากรด้วยแก้วอังวะ

นักประดิษฐ์ผู้นี้ได้เข้าเฝ้าฯ จัดแสดงผลงานแก้วอังวะให้ทอดพระเนตร เปิดใจด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณว่า ทรงมีรับสั่งว่า ดีใจที่ได้เห็นวัสดุเชิงวัฒนธรรมที่นำมาใช้ในการบูรณะอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการอนุรักษ์งานศิลปกรรมประดับกระจกเกรียบตามอย่างงานช่างโบราณในสถานที่สำคัญซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ อันเป็นการบูรณะอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ที่สำคัญ คือ การธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์แห่งรัตนโกสินทร์ให้คงอยู่อย่างงดงามดังชื่อบ้านนามเมือง สิ่งประดิษฐ์แก้วอังวะนี้ได้นำไปใช้บูรณะปฎิสังขรณ์สถาปัตยกรรมภายในวัดพระเชตุพนฯ และยังได้รับสั่งถึงพระศรีรัตนเจดีย์ที่อยู่ภายในวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง ซึ่งประดับตกแต่งด้วยแก้วผสานกับทองคำแท้ ที่นำเข้ามาจากเมืองเวนิช ประเทศอิตาลี ในครั้งรัชกาลที่ 5 ซึ่งตนจะได้น้อมนำไปค้นคว้าวิจัยและศึกษาต่อไปให้สำเร็จ เพื่อให้นักวิจัยไทยสามารถผลิตโมเสกแก้วดังกล่าวนำมาใช้เป็นวัสดุเชิงวัฒนธรรมในการบูรณะอนุรักษ์งานศิลปกรรมของชาติให้งดงามต่อไป

สนใจชมผลงานแวะไปงานวันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 ผู้ร่วมงานจะพบนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมมากกว่า 1,000 ผลงาน ตั้งแต่วันที่ 2-6 ก.พ. นี้ ที่ ณ Event Hall 100 – 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประกวดการแสดงดนตรีพื้นบ้านไทย 4 ภาค เทิดพระเกียรติกรมสมเด็จพระเทพฯ องค์วิศิษฏศิลปิน

กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) จัดการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพ

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติปี 65

21 เม.ย.2567 - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกแทนพระองค์ ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร

กรมสมเด็จพระเทพพระราชทานพระราชวโรกาสให้ รมว.ต่างประเทศเวียดนาม เฝ้าฯ

11 เม.ย.2567 - สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายบุ่ย แทงห์ เซิน (Mr. Bui Thanh Son) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เฝ้า ฯ

รวมพลังศิลปินวาดภาพ'กรมสมเด็จพระเทพฯ'

ศิลปินทั่วฟ้าเมืองไทยรวมพลังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เพื่อเทิดพระเกียรติองค์’วิศิษฎศิลปิน’  ด้วยความน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา