'Young Designer' พัฒนาดินเผาบ้านเชียง

เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ร่วมออกแบบและนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ มาผลิตของที่ระลึกโดยไม่ลืมอัตลักษณ์โดดเด่นของชุมชน เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ชุนชนบ้านเชียงให้ทันสมัยและตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีสไตล์ ผ่านโครงการ Creative Young Designer Season 4 ปีนี้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จับมือโครงการชุมชนดีมีรอยยิ้ม และสถาบันการศึกษา คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้  ณ ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มปั้นหม้อเขียนสีชุมชนบ้านเชียง ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ชมของเก่าล้ำค่าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงมรดกโลก   

เรียกได้ว่าพยายามให้คนรุ่นใหม่เข้าใจถึงแก่นแท้ความเป็น “บ้านเชียง” แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุราว 5,600-1,800 ปี ซึ่งขุดค้นพบเครื่องปั้นดินเผาที่มีรูปแบบและลวดลายงดงามอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น รูปทรงการปั้นหลายแบบและมีการเขียนลายเป็นเส้นโค้ง  ลายเชือกทาบ ลวดลายสีแดง ลายก้านขด ลายก้นหอย แล้วยังพบเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับโลหะสำริดและเหล็ก คุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลส่งให้บ้านเชียงขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยองค์กรศึกษาวิทยาศตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) 

ขณะเดียวกันน้องๆ ได้สัมผัสเสน่ห์ชุมชนไทพวนบ้านเชียง ซึ่งสืบเชื้อสายลาวพวนที่อพยพจากแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว มาตั้งถิ่นฐาน 200 ปีมาแล้ว ชาวบ้านเชียงภูมิใจนำเสนอวิถีและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งภาษาไทพวน รำฟ้อนไทยพวน อาหารพื้นถิ่นไทพวน การแต่งกายด้วยชุดผ้าฝ้ายย้อมครามลวดลายไอเดียหม้อไหบ้านเชียง นอกจากนี้ ชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี กลุ่มฟ้อนรำ กลุ่มอาหารแปรรูป กลุ่มทอผ้าย้อมคราม กลุ่มจักสาน กลุ่มมัคคุเทศก์ กลุ่มทำเกษตรผสมผสาน กลุ่มโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม นำองค์ความรู้จากต้นทุนทางวัฒนธรรมของแหล่งมรดกโลกมาพัฒนาบุคลากรและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง

นายชาตรี ตะโจประรัง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปั้นหม้อเขียนสี กล่าวว่า เมื่อบ้านเชียงเป็นมรดกโลกมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากมาย หลังเสร็จจากทำนา ชาวบ้านมารวมกลุ่มทำเครื่องปั้นดินเผาเพื่อจำหน่ายให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นของที่ระลึกและของฝาก  พัฒนาจนตั้งศูนย์การเรียนรู้กลุ่มปั้นหม้อเขียนสีชุมชนบ้านเชียง  โดยนำดินมาจากแหล่งดินดำที่ห้วยดินดำ บ้านดงเย็น หมู่ที่ 4  ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผามีหลายรูปแบบทั้งเครื่องประดับ สร้อย กำไล และโคมไฟ เป็นต้น  ศูนย์ฯ ต้องการให้คณะนักศึกษาและอาจารย์นำความรู้มาต่อยอดให้กับชุมชน การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาคุณภาพวัสดุให้ดีขึ้นเช่น ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาใส่น้ำแล้วไม่รั่วไม่ซึม แตกง่าย หรือออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้เป็นที่โดดเด่น ตลาดต้องการ แต่คงความเป็นเอกลักษณ์ที่มีรูปทรง สีสัน ลวดลายลักษณะเฉพาะถิ่นบ้านเชียง โดยเฉพาะเส้นโค้งสีแดง ไม่ว่าจะอยู่ในไหในผ้าทอหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ 

นายชุมพร สุทธิบุญ ประธานท่องเที่ยวโดยชุมชนและประธานวิสาหกิจโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมกล่าวว่า  ชุมชนอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์บ้านเชียงหลากหลายรูปแบบ แต่รักษาความเป็นรากเหง้าและตัวตนของบ้านเชียง รวมถึงมีมาตรฐานส่งไปจำหน่ายยังสถานที่ต่างๆ ได้ ตอนนี้จัดทำการตลาดออนไลน์ อยากให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเชียงเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีรายได้เข้าสู่ชุมชนเป็นเศรษฐกิจฐานรากอย่างมั่นคงและยั่งยืน

โครงการนี้ยังเป็นจุดเชื่อมโยงมุมมองการออกแบบของคนรุ่นใหม่กับเรื่องราวความเป็นไทยและพื้นถิ่นในสายตาพวกเขา ดร.สมใจ มะหมีน หน.สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเซรามิก ภาควิชาเทคโนโลยีศึกษาอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มจพ.  กล่าวว่า นักศึกษาลงพื้นที่ครั้งนี้เกิดการเรียนรู้จริงเรื่องศิลปะวัฒนธรรมมรดกโลก ทั้งรูปทรง ลวดลายเอกลักษณ์ของชาติที่มีเพียงแห่งเดียวในโลก อีกทั้งได้ซึมซับวิถีชีวิตชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เข้าใจถึงคุณค่าผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา ได้เข้าพบและได้ฟังปัญหาจากปราชญ์ชาวบ้าน อยากช่วยแก้ปัญหาชุมชน  โดยนักศึกษาจะนำองค์ความรู้ที่มีร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มปั้นหม้อเขียนสีให้แก่ชุมชน ทั้งความรู้ด้านวัสดุ เครื่องมือที่ทันสมัยทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน กรรมวิธีการเผาที่ให้เครื่องปั้นดินเผาได้มาตรฐาน

“ น้องๆ ช่วยพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ต่อยอดไปกลุ่มอื่นๆ ด้วย ทั้งกลุ่มผ้าทอ กลุ่มอาหาร กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น โดยกำหนดกลุ่มผู้ซื้อให้ชัดเจน ก่อนพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผู้ซื้อ เอกลักษณ์ชาติควรอนุรักษ์ ขณะเดียวกันพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่ดียิ่งขึ้น “ ดร.สมใจบอก ซึ่งสอดรับกับโครงการ Creative Young Designer Season 4  เน้นการสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต เป็นรากฐานสำคัญพัฒนาชุมชนยั่งยืน สู่เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยอวด'วิญญาณข้ามสมุทร' งานเวนิส เบียนนาเล่

เริ่มแล้วนิทรรศการ “The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร” ผลงานศิลปะที่จะแสดงศักยภาพศิลปินไทยและอาเซียนบนเวทีระดับโลก งานนี้ มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญจากภาครัฐ

เทศกาลสร้างสรรค์'3 ศิลป์ 3 ศาสน์ ย่านกะดีจีน'

งานเฟสติวัลในย่านเก่าเป็นอีกกิจกรรมสร้างสรรค์ สร้างแรงกระเพื่อมให้มหานครมีมิติร่วมสมัยควบคู่ไปกับการดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม สีสันความสนุกที่เคลือบด้วยสาระและคุณค่าของย่านกะดีจีนจะเกิดขึ้นในงานเทศกาล ” 3 ศิลป์ 3 ศาสน์ ย่านกะดีจีน”

ปักหมุด The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร โชว์ไกลถึง นครเวนิช

มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญจากภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายพันธมิตร ทุกภาคส่วน

สงกรานต์ริมคลองรอบกรุง 'คลองโอ่งอ่าง-สะพานหัน-วัดบพิตรพิมุข'

สงกรานต์นี้เปิดเส้นทาง “คลองโอ่งอ่าง-สะพานหัน- วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร” เลาะเลียบคลอง ชมสตรีทอาร์ต เรียนรู้ประวัติศาสตร์พหุวัฒนธรรมให้เย็นฉ่ำชื่นใจ ถือเป็นพื้นที่น้องใหม่งาน Water Festival 2024 พร้อมเชิญร่วมกิจกรรมมงคล ย้อนวันวานตักบาตรริมคลองยามเช้า

'ชีวิตนี้ชะตาลิขิต'บันทึก 7 รอบนักษัตร'สุเมธ ตันติเวชกุล'

ครั้งแรกของการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  รวบรวมไว้ในหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ”

ผลงาน 15 ศิลปินอาเซียนในเวนิส เบียนนาเล่

ศิลปินอาเซียนจะได้เข้าร่วมในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส  เบียนนาเล่ หรือ International Art Exhibition La Biennale di Venizia ครั้งที่ 60 แสดงศักยภาพผ่านนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร และจะมีการฉายภาพยนตร์สั้นเรื่องใหม่