ย้อนเวลาเรียนรู้อดีต ผ่านพิพิธภัณฑ์ฯ  จ.อยุธยา

พระแสงขรรค์ชัยศรี

ในช่วงที่มีการออนแอร์ละครบุพเพสันนิวาส และพรหมลิขิต ซึ่งเป็นการเจาะเวลา ไปสมัยกรุงศรัอยุธยา  และฉายภาพพระนครศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงเก่าของคนไทย ก่อนจะย้ายไปตั้งกรุงรัตนโกสินทร์   เรื่องราวความเป็นไปทางการเมือง การปกครอง ความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนทางการค้าและวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติ ซึ่งละครร้อยเรียงโดยอิงเหตุการณ์ทางประวัติศาสรตร์ ได้จุดกระแสให้ใครๆ ก็อยากไปเที่ยวอยุธยา  หรือแต่งชุดไทยเช็กอินตามอุทยานประวัติศาสตร์

แต่จริงๆแล้ว ถ้าอยากรู้จักประว้ติศาสตร์อยุธยาให้ดีขึ้น ควรต้องปักหมุดไปเยือนพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา อาคารเครื่องทองอยุธยา วัดแม่นางปลื้ม พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจันทรเกษม ในอ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งใช้เวลาเพียงครึ่งวันก็คุ้มค่าเต็มไปด้วยความรู้  ดื่มด่ำไปกับเหตุการณ์ในอดีต

เครื่องต้นสำหรับพระมหากษัตริย์ในงานพระราชพิธี

เริ่มต้นที่ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเจ้าสามพระยา ตั้งอยู่ในต.ประตูชัย ใกล้กับศาลากลางจังหวัดหลังเก่า เยื้องม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเจ้าสามพระยานับว่าเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีรูปแบบการจัดแสดงแผนใหม่ คือ นำโบราณวัตถุมาจัดแสดงได้อย่างน่าสนใจ โดยแบ่งอาคารหารจัดแสดง 3 อาคาร ได้แก่ 1. หมู่อาคารเรือนไทย 2. อาคารศิลปะในประเทศไทย  3. อาคารตึกเจ้าสามพระยา โดยเมื่อปีพ.ศ.2565 ได้มีการเปิดให้เข้าชมอาคารเครื่องทองอยุธยาหลังใหม่ พื้นที่สำหรับจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทเครื่องทองอยุธยาที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดีในอยุธยาโดยเฉพาะ จากกรุวัดราชบูรณะ และพระบรมสารีริกธาตุพร้อมเครื่องพุทธบูชาจากวัดสำคัญ ได้แก่ วัดมหาธาตุ(กรุหลวงพระงั่ว) วัดพระราม(กรุพระราเมศวร) วัดพระศรีสรรเพชญ์  และเจดีย์ศรีสุริโยทัย จำนวนมากกว่า 2,200รายการ  

บรรยากาศการชมเครื่องทอง

โดยอาคารเครื่องทองอยุธยามีลักษณะเป็นอาคารไทยประยุกต์ 2 ชั้น ซึ่งชั้นที่ 2 เป็นการจัดแสดงเครื่องทองอยุธยาโดยแบ่งเนื้อหาการจัดแสดง ออกเป็น 3 ห้อง แต่ละส่วนก็จะมีการจัดลำดับประเภทความสำคัญของแต่ละกรุ ซึ่งในการจัดแสดงเครื่องทองภายในอาคารบางชิ้นเป็นเครื่องทองที่นำมาจัดแสดงที่นี่เป็นครั้งแรกอีกด้วย ต้อนรับสู่ความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของอยุธยาด้วยห้องจัดแสดงห้องที่ 1 สีทองเรืองรองแวววาวไปทั่วห้องของเครื่องทองจากวัดราชบูรณะ ประเภทเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องสูง เครื่องราชูปโภคและเครื่องถนิมพิมพาภรณ์

พระพิมพ์ทอง

ชิ้นไฮไลท์ของห้องนี้ตั้งโดดเด่นอยู่กลางห้องคือ พระแสงขรรค์ชัยศรี ศิลปะอยุธยาตอนต้น ช่วงพุทธศตวรรษที่ 20  ที่พบในกรุพระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ เป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ทำมาจากเหล็ก หินเขี้ยวหนุมาน และทองคำประดับแก้วสี ประดับด้วยลวดลายศิลปะเปอร์เซีย-อิสลาม ได้แก่ ลายดอกไม้สามกลีบ และลายใบไม้ประดิษฐ์ หรือลายใบไม้สามเหลี่ยม ซึ่งเป็นลวดลายที่พบได้ในงานเครื่องปั้นดินเผาและงานประดับขอบที่วางคัมภีร์กุรอานสลักไม้

ถัดมาที่พระคชาธารจำลอง เป็นอีกชิ้นที่งดงามทำจากทองคำประดับแก้วสี มีลักษะเป็นช้างหมอบประกอบเครื่องพระคชาธาร ชมความงดงามของเครื่องต้นสำหรับพระมหากษัตริย์ในงานพระราชพิธี อาทิ จุลมงกุฎ เครื่องประดับศีรษะ สำหรับสวมครอบมุ่นพระเมาลีหรือมวยผม ทำด้วยทองคำประดับแก้วสีเขียวและใส ยอดตกแต่งลายดอกจัน  ภายในห้องนี้ยังจัดแสดงเครื่องประดับ ชิ้นส่วนฉัตรทองคำ และเครื่องเครื่องราชูปโภคทองคำ ทุกชิ้นฝีมือการออกแบบและการตกแต่วบนทองงดงามปราณีตอย่างมาก

กรุจำลองวัดราชบูรณะ
เจดีย์แก้วผลึกพร้อมเครื่องสูง จากกรุพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย

เดินเชื่อมมายังห้องที่ 2 จัดแสดงเครื่องทอง ประเภทเครื่องพุทธบูชา พระพิมพ์ ต้นไม้ทอง พระเครื่อง พระพุทธรูป การจำลองภาพจิตรกรรมจากกรุวัดราชบูรณะมาไว้ที่ด้านบน หากสังเกตจะเห็นว่าเป็นศิลปะแบบจีน เครื่องอุทิศ พระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงกรุจำลองวัดราชบูรณะ มาถึงห้องที่ 3 โดยเนื้อหาหลักจะเกี่ยวกับคติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากวัด 4 แห่งในอยุธยา ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุ พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย พระบรมสารีริกธาตุ วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระบรมสารีริกธาตุ วัดพระราม และพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องทอง วัดมหาธาตุ ซึ่งชิ้งที่สะดุดตาและงดงามจนต้องเข้าไปดูใกล้ๆ คือ สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ทำจากทองคำประดับอัญมณี พบในกรุประธาน บรรจุอยู่ภายในสถูปชั้นที่ 5 ของพระปรางค์ประธาน  เรียกได้เพลิดเพลินกับเดินชมเครื่องทองที่ไม่เพียงแค่สวย ทุกชิ้นล้วนมีคุณค่าให้คนรุ่นหลังได้รับชมและเรียนรู้ความเป็นของประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากกรุวัดมหาธาตุ

แวะเติมพลังมื้อเที่ยง ต้องไม่พลาดมาลิ้มรสก๋วยเตี๋ยวเรือ เราเลือกร้านกรุงเก่าเตี๋ยวเรือ (วัดตูม) เจ้าดังในอยุธยา มีทั้งหมู และเนื้อ  รสชาติเข้มข้นแบบไม่ต้องปรุงรสเพิ่มเลย ทานคู่กับกากหมูกรอบคือเลิศ  นอกจากเมนูก๋วยเตี๋ยวยังมี ผัดไทยกุ้งสด ทรงเครื่อง ตำเส้นกรุงเก่า น้ำปลาร้านัวๆ หมูสะเต๊ะ อิ่มจนพุงกาง

หลวงพ่อขาว พระประธานในวิหาร

มาต่อกันที่วัดแม่นางปลื้ม ต.หัวรอ นาทีนี้ต้องบอกว่าไม่มีใครไม่รู้จักวัดแห่งนี้ เพราะลิซ่า BLACKPINK ศิลปินชื่อดังได้มาเยือนพร้อมกับเพื่อนๆ ด้วยพลังของตัวบุคคลทำให้มีผู้คนหลังไหลมาเยือนวัดนี้จำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในแง่ของความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตามการสันนิษฐาน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า วัดแม่นางปลื้มสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 1920 สมัยขุนหลวงพะงั่ว กษัตริย์พระองค์ที่ 3 ของกรุงศรีอยุธยา ความเป็นมาของวัดยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงบูรณะขึ้นหลังจากที่เป็นวัดร้าง อุทิศส่วนกุศลให้หญิงชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง นามว่า แม่ปลื้ม โดยกรมศิลปากรได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ มาตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2538

วิหารหลวงพ่อขาว

เมื่อมาถึงด้านหน้าตรงทางเข้าจะต้องผ่านซุ้มประตูวัด ซึ่งจากจุดนี้เราสามารถที่จะมองเห็นหลวงพ่อขาวได้อย่างชัดเจน เดินเข้ามาด้านจะพบกับวิหารหลวงพ่อขาว มีการสันนิษฐานว่าวิหารได้รับการบูรณะในช่วงรัชกาลที่ 3 สังเกตได้จากหน้าบรรณที่มีการประดับด้วยเครื่องถ้วยชามลายเครือเถา ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธนิมิตรมงคลศรีรัตนไตร ชาวบ้านมักเรียกว่า หลวงพ่อขาว พระประธานองค์สีขาวบริสุทธิ์ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ด้านข้างจะเป็นพระอุโบสถหลังใหม่ หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นลวดลายวิจิตร และทางด้านหลังวิหารคือ เจดีย์ทรงกลมฐานสิงห์ล้อม ซึ่งเป็นศิลปะสมัยอยุธยาที่ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมรมีรูปทรงที่งดงามเป็นอย่างมาก

 ซุ้มประตูวัดแม่นางปลื้ม

ช่วงเย็นๆ มาเดินเล่นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม หรือวังจันทรเกษม เป็นพระราชวังเดิมตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2120 เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีการใช้งานกันเรื่อยมาทั้งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และที่ทำการมณฑลเทศาภิบาล จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงได้มีการซ่อมแซมและบูรณะอาคารต่าง ๆ ขึ้นมาอีกครั้ง

เจดีย์ทรงกลมฐานสิงห์ล้อม

พระที่นั่งภายในวังแห่งนี้ปัจจุบันได้มีการจัดแสดง นิทรรศการถาวร เราเริ่มเข้าชมที่พลับพลาจัตุรมุข ซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาลักษณะเป็นอาคารจตุรมุขแฝดใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกงานว่าราชการ และที่ประทับในเวลาเดียวกัน ด้านในมีการจัดแสดงที่ประทับว่าราชการจำลอง เครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่มีอยู่เดิมภายในพระราชวังนี้ อาทิ พระแท่นบรรทมจำหลักไม้ พระเสลี่ยง เครื่องทรงเสวย ส่วนโถงกลางในพระที่นั่งมีการจัดแสดงพระพิฆเณศรูปแบบศิลปะสมัยโบราณ

พลับพลาจัตุรมุข

ถัดมาคือพระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นหมู่ตึกกลางพระราชวัง ประกอบด้วย อาคารปรัศว์ซ้าย อาคารปรัศว์ขวา โดยมีการออกแบบพระนั่งสไตล์ยุโรป แต่หน้าต่างจะค่อนข้างเยอะเพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศเมืองไทย  โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานกลุ่มอาคารพระที่นั่งพิมานรัตยานี้ให้เป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า ซึ่งตอนนี้ด้านในมีจัดแสดงพระพุทธรูปที่พบบริเวณไหล่ซ้ายของหลวงพ่อมงคลบพิตรที่มีจำนวนกว่า 100 องค์ ซึ่งมีทั้งขนาดองค์เล็กและองค์ใหญ่บรรจุอยู่ในไหล่ซ้ายของพลวงพ่อ นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมที่สลักจากศิลา เป็นเทวรูปและพระพุทธรูปนาคปรก ศิลปสมัยลพบุรี พระพุทธรูปสำริดสมัยอยุธยา พระพิมพ์ และเครื่องไม้แกะสลัก  

พระที่นั่งพิมานรัตยา

ส่วนด้านหลังพระที่นั่งพิมานรัตยา จะเป็นอาคารสโมสรเสือป่า ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เดินมาถึงตึกที่ทำการภาค หรืออาคารมหาดไทย สร้างขึ้นเมื่อครั้งพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลกรุงเก่า มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว สร้างขนานไปกับแนวกำแพงวัง ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการสำนักงาน และห้องต่างๆจะมีการจัดนิทรรศการถาวร 5 เรื่อง คือ เรื่องศิลปะสถาปัตยกรรมอยุธยา เครื่องปั้นดินเผาสินค้านำเข้าและส่งออกที่สำคัญของอยุธยา อาวุธยุทธภัณฑ์ ศิลปวัตถุพุทธบูชาและวิถีชีวิตริมน้ำชาวกรุงเก่า

พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ หรือ หอส่องกล้อง

มาถึงพระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ หรือ หอส่องกล้องซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามแนวรากฐานเดิม ที่มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ฃเพื่อทรงใช้เป็นที่ศึกษาดาราศาสตร์ มีความสูง 4 ชั้น ด้านในจะมีบันไดเดินขึ้นไปสู่ชั้นดาดฟ้าซึ่งมีความสูงชันและทางค่อนข้างแคบ โดยชั้นดาดทำให้เราเห็นวิวเมืองอยุธยาได้แบบ 360 องศาเลยทีเดียว โดยปกติจะไม่ได้เปิดให้เข้าชม แต่ในช่วงนี้หากใครไปเยือนจะพบกับกิจกรรมสุดพิเศษ “Night at The Palace ย้อนเวลา ชมวัง 4 ศตวรรษ พระราชวังจันทรเกษม” โดยจะมีการประดับตกแต่งโคมไฟรอบพระที่นั่งสำคัญ สว่างไสวไปทั่วบริเวณวัง และมีการเปิดให้เข้าชมพระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ในช่วงเย็นด้วย  โดยไฟจะเริ่มเปิดทุกวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ เวลา 16.30 – 21.00 น. ตั้งแต่วันนี้ – 30 เมษายน 2567 อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท (ผู้พิการ และชาวไทยผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี เข้าชมฟรี) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 0-3525-1586

ด้านในพลับพลาจัตุรมุข

หมู่พระพุทธรูปที่พบในไหล่ซ้ายของหลวงพ่อมงคลบพิตร

วิวเมืองอยุธยา บนดาดฟ้าพระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถอดรหัส Soft Power 'พรหมลิขิต' ผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงไทย

สร้างกระแสทั่วบ้านทั่วเมืองกับความสำเร็จของละครแนวโรแมนติกคอมเมดี้อิงประวัติศาสตร์ “พรหมลิขิต” ถือเป็นอีกรูปธรรมยืนยันถึงศักยภาพในการสร้างซอฟต์เพาเวอร์ของผู้สร้างละครชาวไทย รวมถึงศักยภาพของซอฟต์เพาเวอร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

9 วัดเมืองกรุงเก่าต้องไป ต่อยอด’ลิซ่า’

อยุธยาสุดคึกคักด้วยบรรยากาศนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาชื่นชมโบราณสถานที่มากมายด้วยเรื่องราวและบันทึกประวัติศาสตร์แห่งอโยธยา  ความเป็นเมืองเก่ามีเรื่องเล่าขานมานานยังเป็นมนต์เสน่ห์ของเมืองอยุธยา  ยิ่งตอนนี้ท่องเที่ยวอยุธยามีสีสันมากขึ้น

ปลุกสีสันท่องเที่ยวมิติศาสนา หลัง'ลิซ่า'ไหว้พระ 3 วัดดังอยุธยา

7 มิ.ย.2566 - นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า  ตามที่นางสาวลลิษา มโนบาล หรือ“ลิซ่า” ศิลปินน้องร้องชื่อดังระดับโลก แห่งวง BLACKPINK เดินทางไปท่องเที่ยว จ.พระนครศรีอยุธยา โดยโพสต์ภาพสวมชุดไทยไหว้พระ กราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดหน้าพระเมรุ

ชมความอลังการสุดยอด'เครื่องทองอยุธยา'

อยุธยาเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมระดับโลก ถือเป็นจุดหมายปลายทางที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อยู่มากมาย ทั้งอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา วัดวาอารามเก่าแก่ รวมถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา