บทสนทนาทรงพลัง'อินสนธิ์ วงค์สาม-ทวี รัชนีกร'

2 ศิลปินระดับชาติวัย 90 ปี สร้างผลงานชั้นเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอมาตลอดชีวิต ปัจจุบันยังทำงานศิลปะอย่างจริงจัง แต่ละผลงานสะท้อนถึงวิธีคิด​ที่ชัดเจนและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจผ่านการสร้างงานศิลป์รูปแบบใหม่ๆ ​ด้วยการค้นหาสิ่งใหม่ ดัดแปลงสิ่งเก่า​ ค้นหาแก่นแท้ในผลงานของตัวเอง​  ตลอดจนเป็นตัวแทนการตกผลึกในการทำงานและประสบการณ์ใช้ชีวิตมาอย่างเคี่ยวกรำ เป็นวิถีของอินสนธิ์ วงค์สาม และทวี รัชนีกร  2 ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์  ลูกศิษย์เอกของ​ ศ.ศิลป์​ พีระศรี​ ที่นำคำสอนของอาจารย์มาใช้บนเส้นทางศิลปกรรมอย่างสม่ำเสมอ

ศิลปินทั้งคู่จัดแสดงผลงานร่วมกันครั้งยิ่งใหญ่ใน นิทรรศการจากวงโคจรสู่บทสนทนา ( From Orbit to Conversation ) ​ ในโอกาส​เชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ​ 90​ ปี​  โดยมี ผศ.วุฒิกร คงคา รับหน้าที่ภัณฑารักษ์ รวบรวมผลงานล้ำค่ากว่า 100 ชิ้น ทั้งผลงานชุดใหม่ในรอบ 10 ปีที่ไม่เคยโชว์ที่ไหนมาก่อน และผลงานระดับมาสเตอร์พีซที่ทุกคนคุ้นเคย นำมาจัดแสดงภายใน 13 ห้องนิทรรศการ แสดงถึงไฟของศิลปินชั้นครูที่ไม่เคยมอดไหม้  ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เจ้าฟ้า ถือเป็นงานที่ไม่ควรพลาดแห่งนี้ โดยเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2567 วันพุธ – อาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์ – อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) สนับสนุนโดยกรมศิลปากร สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย  และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

ผศ.วุฒิกร คงคา ภัณฑารักษ์นิทรรศการ บอกว่า นิทรรศการรวมงานใหม่ในช่วง​ 10​ ปี​ของศิลปินระดับปรมาจารย์ทั้งคู่ และมีการรวมงานเก่าเข้าไปด้วย​ แต่จะทำยังไงให้งานเก่าที่คุ้นตาเหล่านั้นสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ได้มากที่สุด​ เกิดแนวคิดในการหวนกลับไปคิดถึง​ความเป็นคู่หูเพื่อนรัก​ที่ทั้งคู่ถูกบ่มเพาะมาจากอาจารย์ศิลป์​ในตอนเรียน ก่อนที่ต่างคนต่างแยกกันไปมีชีวิตที่โลดโผนของตัวเอง​ และแนวทางงานศิลปะที่คล้ายว่า จะเดินกันไปในทางตรงกันข้าม​ แต่กลับมีจุดร่วมที่เชื่อมติดกันได้อย่างน่าพิศวง นำมาสู่ชื่อนิทรรศการ​ “From Orbit​ to​ Conversation”​ ตนต้องการให้ “ลุงอินสนธิ์” นั่งคุยกับ “ลุงทวี”อย่างเป็นกันเอง ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ​ ถกเถียงความเห็นที่แตกต่าง​ด้วยสาระหรือหัวเราะด้วยกัน  ผลัดกันชม​ ให้กำลังใจกัน​ หรือต่างก็วิพากษ์กันเอง​ด้วยผลงาน​ที่อาจเลยไปถึงการวิพากษ์สังคม​ บ้านเมือง​ ที่มาพร้อมกับการกระตุกต่อมเตือนสติตัวเองและคนอื่นๆ​ ผลงานทั้งคู่คลุกเคล้า​ เชื่อมโยง​ เผชิญหน้า​ ด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัย​ดั่งกัลยาณมิตร

ภายในนิทรรศการครั้งนี้ผลงานนับร้อยชิ้นติดตั้งอยู่ใน 2 อาคารใหญ่​  อาคารด้านหน้า​ ​ 9 ห้อง ​ที่มีผนังห้องสีต่างกัน เต็มไปด้วยงานจิตรกรรมขนาดใหญ่​ในธีม “บทสนทนาของแสงดาว”  อีกอาคารหนึ่ง​ คือ​ อาคารขาว​ 4 ห้อง จัดแสดงงานประติมากรรม, ภาพพิมพ์, กระดาษ​ ที่คุมโทนไปด้วยสีน้ำตาล, ดำ​ ในธีม”บทสนทนาของแผ่นดิน” สองอาคาร​เป็นขั้วตรงกันข้าม​ระหว่างแผ่นดิน​ของโลกและ​แสงของหมู่ดาว​ในจักรวาล ​ทุกชิ้นมีชื่อผลงานยึดโยงบทสนทนา​ให้เกิดกรอบในการตีความ​ ขึ้นอยู่กับผู้ชมที่จะต้องอ่านและดูไปพร้อมกับการตีความ

ภัณฑารักษ์ระบุวงโคจรของ​ อินสนธิ์​ เคลื่อนคล้อยด้วยการใช้รูปทรง​นามธรรม​  อธิบายผ่านวิธีการสร้างคล้ายเซอร์เรียล บางทีก็เลื่อนไหลอย่างอิสระ​​ ทุกรูปทรงมีความหมาย​ ไม่ว่าจะวิธีเพ้นต์ด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบ​หรือแกะสลักไม้​ ​ เราจะเห็นความอิ่มเอม​ เบิกบาน​ สง่างาม​ แข็งแรง​ สงบนิ่ง​ ส่วนชื่อผลงาน​จะเห็นประโยคการปลอบประโลม  วิธีการดำเนินชีวิต ความสุข ทุกข์​ ที่บางครั้งคล้ายแฝงปรัชญา​ แต่บางทีก็ตรงไปตรงมา​ ​ ชวนให้ผู้ชมตีความรูปทรงไปตามความรู้สึกที่ไร้ขอบเขต​ได้อย่างไม่สิ้นสุด

ขณะที่วงโคจรของ​ ทวี​  รัชนีกร ที่ใช้รูปทรงในการดำเนินเรื่องเช่นกันแต่​ต่างออกไปแบบขั้วตรงกันข้าม​ คือ รูปทรงจะใช้ figurative ของคน, สัตว์, สิ่งของ​ ที่แสดงพลังทางอารมณ์อย่างรุนแรง​ ทั้งความเจ็บปวด, กระแทกกระทั้น, ความขันสุดแสบ, การก่อกวนด้วยการเสียดสีแดกดัน, รูปทรงชัดเจนบิดเบี้ยว บอกเล่าเนื้อหาตรงไปตรงมา ถึงแม้จะใช้รูปทรงนามธรรมหลายครั้ง​ แต่มักจะมีที่มาอยู่เสมอ​

“ ถ้าอินสนธิ์​คือการเข้ามามองภายในของตัวเอง​ เพื่อจะเปิดประตูออกไปสื่อสาร​ ทวี​จะเปิดประตูรับ​เรื่องราว​ ความรู้สึกจากเหตุการณ์บ้านเมืองหรือสังคมภายนอก ตลอดจนเรื่องราวของผู้คนรอบข้างให้ไหลเข้ามาคลุกเคล้าภายในใจ​ ก่อนจะสำแดงความรู้สึกเหล่านั้นออกไปอีกครั้ง ด้วยวิธีการของตัวเอง​และขั้วตรงกันข้าม อีกอย่างในผลงานทั้งคู่มองเห็นได้จากลายมือและลักษณะนิสัยในการมอง​วัสดุผ่านการใช้เครื่องมือ​ต่างๆ ขณะที่​ทวี​โชว์ร่องรอย​ของทั้งฝีแปรงและการสร้างพื้นผิว​หรือใช้พื้นผิวดั้งเดิม ทำให้ประติมากรรมแสดงคุณลักษณะความดิบ​ หยาบ​ ผ่านวิธีคล้ายเอ็กเพรสชั่นนิส  เพื่อให้ผลงานกระชากอารมณ์อย่างรุนแรง​ แต่อินสนธิ์​ใช้วิธีเกลี่ยสีนุ่มนวล​ในงานจิตรกรรมมากกว่าคล้ายการเกลาไม้กลมกลึงเนียนเรียบในงานประติมากรรมนั่นเอง จักรวาลแห่งความต่าง​ เดินทางด้วยวงโคจรของตัวเองมาซ้อนทับ ก่อเกิดขึ้น​ และกลายเป็นวงสนทนาอันเงียบเชียบ​ที่กู่ตะโกนยินดีอยู่ภายในใจอันสงบของศิลปินทั้งคู่  “ ผศ.วุฒิกร ชวนมาชมนิทรรการครั้งประวัติศาสตร์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูพระบาท'คุณค่าโดดเด่น ไทยลุ้นมรดกโลก

เวลานี้คนไทยร่วมส่งแรงใจสนับสนุนการขึ้นบัญชีอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ล่าสุดของประเทศไทยต่อจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ วาระการพิจารณาภูพระบาทคาดว่าจะเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่  46

วธ.มอบรางวัลยกย่องผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ชื่นชมศิลปินเพชรในเพลง รณรงค์เห็นคุณค่าภาษาไทย

วันที่ 25 ก.ค.2567 ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดงานพิธีมอบรางวัลเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2567 โดย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

ลุ้น'ภูพระบาท'เป็นมรดกโลกแห่งใหม่

24 ก.ค.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ได้มอบกรมศิลปากร ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ซึ่ง

Soft Power ไทยสู่สากลผ่านคอสเพลย์

ถือเป็นสนามทดสอบไอเดียสร้างสรรค์ของเหล่าเลเยอร์ ผู้เล่นคอสเพลย์ (cosplay)  ที่หลงไหลตัวละครที่ชื่นชอบจากเกม ภาพยนตร์  อนิเมะ  การ์ตูนมังงะ  และใช้เป็นแรงบันดาลใจในการแต่งตัว แต่งหน้า ทำผมเลียนแบบ  ไม่ใช่แค่เหมือน ดูดี แต่ต้องผสมผสานวัฒนธรรมไทยได้อย่างลงตัวผ่านการประกวดคอสเพลย์

รมว. ปุ๋ง ชวนเที่ยวงาน‘อาหารไทยถิ่น กินด้วยภูมิปัญญา’ ครั้งแรกเปิดตัวโลโก้-เพลง Thailand Best Local Food

2 ก.ค.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)

สวธ.จัดมหกรรมขับร้องประสานเสียงเฉลิมพระเกียรติ ‘ร่มพระบารมี’ อย่างยิ่งใหญ่ 17-19 ก.ค.นี้

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานคอนเสิร์ต Thailand Choral Festival 2567 มหกรรมขับร้องประสานเสียงเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา "ร่มพระบารมี"