ไทยเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาติดอันดับท็อปเท็นของโลกที่มีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศในระยะยาว EM-DAT รายงานข้อมูล 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2565 ประเทศไทยเผชิญกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว 146 ครั้ง สร้างความสูญเสียต่อชีวิต 0.21 ต่อประชากร 1 แสนคน และสร้างความเสียหาย 7,719.15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 0.82% ของ GDP
การคาดการณ์อนาคตโดยใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศระบุว่า เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 องศาเซลเซียส จำนวนวันแห้งแล้งในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 และความรุนแรงจากอุทกภัยจะเพิ่มร้อยละ 3 แต่เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3 องศาเซลเซียส จำนวนวันแห้งแล้งจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และความรุนแรงจากอุทกภัยจะเพิ่มร้อยละ 13 แม้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยคิดเป็นประมาณ 1% ของทั้งโลก แต่จากรายงาน Carbon Majors ชี้ให้เห็นว่า บริษัทอุตสาหกรรมฟอสซิลของไทยจัดอยู่ในอันดับ 96 จากจำนวนกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ก๊าซฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุด 122 แห่งของโลก
ก่อนการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสมัยที่ 16 (CBD COP16) ณ ประเทศโคลอมเบีย ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 ต.ค.-1 พ.ย. 2567 และการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 29 (COP29) ณ สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน วันที่ 11-22 พ.ย. 2567 มีเสียงเรียกร้องรัฐบาลแพทองธารให้แสดงท่าทีให้ชัดเจน โดยเครือข่ายประชาชนเสริมสร้างความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและหยุดคาร์บอนเครดิตรวมตัวกันกว่า 200 คน บริเวณหน้าอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก และส่งตัวแทนยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการบริหารกรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC Executive Secretary) ระบุการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ต้องยึดหลักความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ในการก่อโลกเดือดของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมร่ำรวย โดยการชําระคืนหนี้นิเวศให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและยากจนในซีกโลกใต้
วันเดียวกันเครือข่ายโลกร้อนและกรีนพีซเคลื่อนขบวนไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทย กางป้ายผ้า ข้อความ “People Before Profit – หยุดฟอกเขียวยักษ์ใหญ่คาร์บอน ” ที่อาคารสำนักงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกร้องรัฐบาลยุติการฟอกเขียวให้กับยักษ์ใหญ่คาร์บอน
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า เป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลไทยจะแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อผู้คนในประเทศและประชาคมโลก เพื่อสอดประสานอนุสัญญา 2 ฉบับนี้เข้าด้วยกันว่าจะเลือกความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศที่รับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีสุขภาวะของประชาชน หรือการล่มสลายทางนิเวศวิทยาจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมอาหาร/เนื้อสัตว์ และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติที่ปัดภาระรับผิดต่อผลกระทบจากโลกเดือดและมลพิษในระดับพื้นที่ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งในอดีตและปัจจุบัน
“แทนการเปิดประตูให้กลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิล อุตสาหกรรมเกษตร/เนื้อสัตว์รายใหญ่ และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติทำการฟอกเขียวผ่านกลไกตลาดคาร์บอน รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ต้องสร้างบทบาทนำในอาเซียนและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเสี่ยงสูงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงกองทุนความสูญเสียและความเสียหาย(loss and damage) เพื่อฟื้นฟูวิถีการดำรงชีวิตจากวิกฤตโลกเดือด“ ผอ.กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าว
กรณีกลไกคาร์บอน ฟอกเขียวทุนผูกขาด เป็นใบอนุญาตเพิ่มอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้น ดร.สุรินทร์ อ้นพรหม นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ปี 2566 ทส. ได้ทำ MOU กับบริษัทผลิตและจำหน่ายน้ำมันรายใหญ่ เพื่อหาพื้นที่ป่า 3 ล้านไร่ เพื่อให้บริษัทนี้ปลูกป่า จากข้อมูลของบริษัทปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 40 ล้านตัน จาก 7 บริษัทในเครือ การจัดหาป่าป้อนให้เอกชนเป็นการอุ้มทุนเพื่อให้สามารถปล่อยก๊าซต่อไปได้ เพราะใช้กลไกชดเชยคาร์บอนเครดิตโดยไม่ต้องลดที่แหล่งกำเนิด มีคำถามถึงความเป็นธรรมต่อประชาชน พื้นที่ป่ามาจากป่าธรรมชาติ อีกส่วนมาจากพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ประชาชน ทส.สั่งการให้ออกระเบียบการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต เท่ากับสร้างความชอบธรรมให้เอกชนนำคาร์บอนเครดิตจากป่ามาชดเชยการปล่อยก๊าซของตัวเอง
นักวิชาการอิสระย้ำกลไกลักษณะนี้หลอกลวงระบบนิเวศ กระทบป่าบก ป่าชายเลน ซึ่งกลไกเหล่านี้รวมอยู่ในกฎหมายโลกร้อนที่กำลังจะเกิดขึ้น ต้องมีการทบทวนร่างกฎหมายและหยุดกลไกดังกล่าว เพราะผลกระทบและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตกกับชาวบ้าน เราต้องไม่ติดกับดักค่าตอบแทนจากการซื้อขายคาร์บอน เพราะโครงการคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นได้จากบริษัทจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาป่าชุมชน ก่อนไปจดทะเบียน T VER นี่คือ สิ่งล่อ หากดูดีๆ ดูเหมือนเงินเยอะที่เข้าชุมชน แต่ควรเป็นหน้าที่รัฐสนับสนุนให้ชุมขนสามารถจัดการป่าได้หลังจัดตั้งหรือส่งเสริมกลุ่มบริหารจัดการ แต่กลไกคาร์บอนที่เอาเงินของนายทุน สามารถนำไปค้ากำไร ขายต่อในอนาคตได้อีกด้วย
“ เราไม่ควรประนีประนอมกับกลุ่มทุนให้แย่งยึดที่ดิน ตักตวงผลประโยชน์ในนาม คาร์บอนเครดิต ฝากถึงพรรคการเมืองและภาคนโยบายในการสร้างกลไกตลาดแบบมีเงื่อนไข เช่น กำหนดระยะเวลา 10 ปี ให้ชดเชยได้ หลังจากนั้นไม่อนุญาตให้ชดเชย ซึ่งกลุ่มทุนสามารถสร้างกำไรมหาศาล สามารถหาแหล่งคาร์บอนราคาถูก หรือย้ายไปประเทศเพื่อนบ้านก็ยังได้ เราจำเป็นต้องยืนยันหลักการไม่ยินยอมกลไกซื้อขายคาร์บอน หนทางเดียวรัฐต้องออกกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทุน ไม่ใช่อนุญาตให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เราขอส่งเสียงไปยังกลุ่มคนที่ยังนิ่งเฉยกับการฟอกเขียวของทุน อยากให้ตระหนักว่า คาร์บอรเครดิตที่ได้จากการชดเชยแลกกับความทุกข์ยากของประชาชนในพื้นที่ “ ดร.สุรินทร์ กล่าว
ปิยะดา เด็นเก ตัวแทนเครือข่ายอันดามัน กล่าวว่าภาคใต้มีป่าชายเลน10 ปีที่ผ่านมา มีการทวงคืนผืนป่าจากนากุ้ง ช่วยกันฟื้นฟูดูแลป่าชายเลน รวมถึงมีการปลูกเสริม โดยชุมชนและเยาวชน แต่สุดท้ายอยู่ๆ กลับนำป่าชายเลนมาหนุนเสริมกลไกคาร์บอนเครดิต จะสร้างความแตกแยกในชุมชน เกิดผลกระทบใหญ่หลวง ป่าชายเลนที่ชาวบ้านร่วมดูแล กลุ่มทุนกลับได้รับอนุญาตใช้พื้นที่ปลูกป่า ทั้งที่เป็นต้นเหตุทำให้โลกเดือด ไม่อยากให้ปัดความรับผิดชอบ ประชาชนคนตาดำๆ เดือดร้อน แม้สัญญาไม่ห้ามชาวบ้านเก็บหาของป่า แต่ห้ามทำกิจกรรมกระทบคาร์บอนเครดิตในป่า ชุมชนไม่มีหลักประกันจะพึ่งพาป่าตามวิถีชีวิตได้เหมือนเดิมหรือไม่ ชาวบ้านกังวล
“ ข้อเสนอจากชุมชน เราตระหนักกระบวนการคาร์บอนเครดิตไม่สามารถลดโลกร้อนได้ แต่เพิ่มปัญหาและสร้างความไม่เป็นธรรมแก่สังคม ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบโดยตรง กระบวนการของรัฐไม่มีธรรมาภิบาลแก่สังคม ต้องคืนป่าให้ชุมชน ขอให้ยกเลิกกฎหมายโลกร้อนทุกฉบับ ยกเลิกคาร์บอนเครดิต และควรสนับสนุนชุมชนรักษาป่าดีกว่าซื้อขายคาร์บอนเครดิต รับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร และสร้างกระบวนการเรียนรู้ภาคประชาชนเรื่องคาร์บอนเครดิตและตลาดคาร์บอน จะได้รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อกลุ่มทุน เวลาคนคัดค้านกลับถูกด่าว่า โง่ บอกให้รับเงินไปก่อน “ ปิยะดา กล่าว
ด้าน ณัฐวุฒิ กรมภักดี ตัวแทนขบวนสภาชุมชนริมรางเมืองขอนแก่น กล่าวว่า วิกฤตโลกเดือด คือ การก่อมลพิษของบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งเป็นคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของโลกใบนี้ แต่กลุ่มคนที่ต้องแบกรับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุดคือคนจน มีปัจจัยซับซ้อนที่ทำให้โลกเดือดมีความรุนแรง ตั้งแต่ผังเมือง นโยบายการจัดการเมืองที่ไม่มีคนจนอยู่ในนั้นด้วย สิ่งที่รัฐบาลต้องปรับตัวคือ ยกเลิกกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่สั่งให้คนตัวเล็กต้องปรับตัวโดยที่บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ไม่ต้องรับผิดชอบ คาร์บอนเครดิตสัมพันธ์โดยตรงกับการแย่งยึดพื้นที่ของคนจน รัฐบาลต้องหยุดส่งเสริมคาร์บอนเครดิต และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ส่งเสริมสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองของชุมชนท้องถิ่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นักวิชาการ' ย้อนถาม การแบ่งปันคาร์บอนจากป่า กลุ่มทุนได้คาร์บอนด์เสริม ชาวประชาได้อะไร
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง การแบ่งปันคาร์บอนจากป่า กลุ่มทุนได้คาร์บอนด์เสริม รัฐได้เพิ่มป่า ชาวประชาได้อะไร?... มีเนื้อหาดังนี้
ไทยออยล์ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินโครงการปลูกป่า เพื่อประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิต จ.แพร่
เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมงานแผนกกิจการเพื่อสังคม บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ รศ. ดร. แหลมไทย อาษานอก ที่ปรึกษาด้านการปลูกและบำรุงรักษาป่า นายวิณัฐ คำหม่อม
พปชร. เดินหน้าเสนอร่างพรบ.ลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต เข้าสภาฯ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เตรียมที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิตพ
'พัชรวาท' เข้าสภาแล้ว! ตอบกระทู้ถาม สว.
'พัชรวาท' มาตอบกระทู้ สว. ปมเปิดเอกชนปลูกป่าชายเลน แจงส่งเสริมระบบนิเวศน์ ได้คาร์บอนเครดิต เอื้อประโยชน์ชุมชน ยันเดินหน้าต่อตามนโยบายรัฐบาล
'คำป่าหลายโมเดล' ตีแผ่ 'นโยบายฟอกเขียว' ขยายวงกว้างแย่งยึดที่ดินทำกินชาวบ้าน
ยกขบวนชี้หลุมพรางใหญ่ BCG นโยบายฟอกเขียว – คาร์บอนเครดิต นำไปสู่ปัญหาการแย่งยึดที่ดินในวงกว้าง ผลักประชาชนให้ตกสู่ภาวะความยากจนเรื้อรัง หนุนรัฐบาลให้อำนาจประชาชนในการจัดการทรัพยากร