การเสียชีวิตของพะยูนไทยที่ปรากฎอย่างต่อเนื่องตามสื่อต่างๆ ในรอบปี 2567 มีตัวเลขการตายพุ่งสูงกว่าทุกปี หากนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ พะยูนตายไปแล้วเกือบ 40 ตัว รวมปี 2566 ไทยสูญเสียพะยูนรวมกันเกือบ 80 ตัว ถือเป็นสัญญาณอันตรายของพะยูน สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งขึ้นบัญชีสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพราะหากไม่สามารถหยุดยั้งอัตราการสูญเสียประชากรพะยูนได้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับการสูญพันธุ์ของพะยูน ส่วนสาเหตุพะยูนตายถี่ในปีนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุมาจากแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมหนักในพื้นที่จังหวัดตรัง กระบี่ สตูล พังงา เมื่อขาดอาหาร ทำให้เกิดพะยูนผอมและเจ็บป่วยจากการขาดอาหารอย่างรุนแรง และเกยตื้นตายในที่สุด
ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอันดามัน (Save Andaman Network- SAN) ซึ่งติดตามสถานการณ์พะยูนอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า พื้นที่หญ้าทะเลใน จ.ตรัง มีกว่า 30,000 ไร่ จำนวน 6-7 แปลง ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของพะยูนฝูงใหญ่ แต่แหล่งหญ้าทะเลตรังเสื่อมโทรมมาจากโครงการขุดลอกร่องแม่น้ำตรังเพื่อการเดินเรือผ่านหน้าเกาะลิบง ช่วงปี 2559 – 2562 โดยไม่มีมาตรการป้องกันหรือใช้ม่านกันตะกอน ส่งผลกระทบเกิดตะกอนทรายจำนวนมหาศาลทับถมบริเวณเกาะลิบง ปากแม่น้ำตรัง ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลใหญ่ที่สุด ชาวบ้านสังเกตุเห็นตะกอนทรายตั้งแต่ปี 2560 ปีต่อมาชั้นตะกอนหนาขึ้น จนกระทั่งปี 2562 เกิดภาวะวิกฤตชั้นตะกอนทรายทับถมหญ้าทะเลสูง 10-15 เซนติเมตร ทำให้หญ้าทะเลต้นเตี้ยตาย หญ้าใบยาวแม้พยายามต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอด แต่สุดท้ายก็ตายหมดในปี 2565 เราสูญเสียแหล่งหญ้าทะเลไปกว่า 10,000 ไร่ ขณะที่แหล่งหญ้าทะเลที่เหลือทยอยเสื่อมโทรมลง ตั้งแต่หน้าทะเลหน้าเกาะมุกราว 9,000 ไร่ ตามด้วยอ่าวขาม บ้านปากคลอง และหญ้าทะเลบ้านแหลมไทรเริ่มเสื่อมโทรมปี 2566 หญ้าทะเลจะมีสภาพใบขาดสั้น เจอคลื่นลมมรสุมก็หลุดลอย เสื่อมโทรมทั้งระบบ รวมทั้งปัจจัยจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น
“ หญ้าทะเลตรัง 2 หมื่นไร่ที่เหลือ ปริมาณไม่สมดุลกับสัตว์ที่กินหญ้าทะเล ไม่เพียงพอต่อการกิน เพราะมีทั้งพะยูน เต่าตะนุ และกลุ่มปลาสลิดหินที่กิน ตั้งแต่ปี 62 พะยูนร่างกายผอม จนปี 2566 พบพะยูนเกยตื้นตาย 40 ตัว ปี 2567 ตาย 40 ตัว สาเหตุการตายพะยูนเปลี่ยนไปจากการชันสูตรเดิมพบในท้องที่มีซากหญ้าทะเลและชั้นไขมันหนา ร่างกายสมบูรณ์ สันนิษฐานตายจากเครื่องมือประมง ช่วง 5 ปีนี้ พบพะยูนป่วยเป็นหลัก มาจากไม่มีอาหารกิน ผอม ผ่ากะเพาะออกมาไม่มีหญ้าทะเลหรือมีน้อยมาก นอกจากนี้ ตายจากกินขยะพลาสติก ส่วนกรณีพะยูนที่ตายแล้ว ถูกตัดหัวเพื่อเอาเขี้ยวและกระดูกด้วยความเชื่อทำเครื่องรางของขลังด้านเมตตามหานิยมต้องเฝ้าระวัง ปราบปราม และใช้กฎหมายจัดการการค้าขายผ่านออนไลน์และตลาดมืดต่างๆ อย่างจริงจัง “ ภาคภูมิ กล่าว
ในขณะเดียวกัน ภาคภูมิ กล่าวว่า พะยูนหนีตาย ย้ายถิ่นเพื่อหาแหล่งอาหารหญ้าทะเล จึงพบการตายของพะยูนระหว่างทางอพยพ บางตัวไปสตูล พบซากพะยูน 3-4 ตัว ซึ่งในกะเพาะไม่มีหญ้าทะเลเลย เพราะแหล่งหญ้าทะเลสตูลมีน้อย อีกกลุ่มอพยพขึ้นเหนือจากตรัง กระบี่ ไปบริเวณอ่าวพังงา ภูเก็ต ซึ่งมีพะยูนอาศัยอยู่เดิม การที่พะยูนย้ายถิ่นต้องเผชิญกับภัยคุกคามเรื่องประมงเพราะชาวประมงไม่คุ้นชินกับฝูงพะยูนอพยพย้ายถิ่น
“ หากดูสถิติการตายพะยูนช่วง 5 ปี จำนวน 156 ตัว ถือว่าสูงมาก ในสถานการณ์ปกติพะยูนอาศัยอยู่ฝั่งทะเลอันดามัน 200 กว่าตัว แต่การตายระดับนี้ส่งผลให้พะยูนไทยใกล้สูญพันธุ์ คาดการณ์ในอันดามันมี 50-60 ตัว ส่วนในตรังน้อยมาก ชาวบ้านพบไม่ถึง 5 ตัว “
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) มีแนวทางปกป้องคุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเล โดยประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเลที่ภูเก็ต และเขตพื้นที่คุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเล บริเวณอ่าวบางขวัญ จังหวัดพังงา มาตรการเหล่านี้ตรังจัดทำแล้ว และลดอัตราตายได้ แต่มาเผชิญวิกฤตหญ้าทะเล ทำให้กอบกู้ไม่ได้ ต้องรอธรรมชาติฟื้นตัว เป็นบทเรียนสำคัญมาก ต้องร่วมมือแก้ไข อย่าให้เกิดปัญหาซ้ำ ขณะนี้จะมีโครงการขุดลอกเส้นทางเดินเรือบริเวณหน้าแหลมจูโหย เกาะลิบง ต้องทบทวนและพิจารณาโครงการอย่างเหมาะสม ไม่กระทบระบบนิเวศ
การแก้ปัญหาพะยูนเกยตื้นและหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ภาคภูมิ กล่าวว่า ทุกภาคส่วนต้องเร่งเพิ่มอาหารให้กับพะยูนโดยธรรมชาติด้วยการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลโดยเร็ว เมื่อปี 2566 มูลนิธิอันดามัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ร่วมกับชุมชนชายฝั่ง ทดลองล้อมคอกหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรมเพื่อป้องกันสัตว์ในแนวหญ้าเข้าไปกินหญ้าทะเล พบว่าหญ้าทะเลเจริญเติบโตได้ดี ใบยาว และสภาพสมบูรณ์เหมือนเดิม จากนั้นขยายผลกั้นเขตพิ่มคอก ชักชวนนักวิชาการ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไปเยี่ยมชม ขณะนี้เห็นพ้องร่วมกันว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูหญ้าทะเล เราล้อมแปลงหญ้าทะเลขนาดเล็กๆ เน้นเพื่อเป็นแปลงต้นพันธุ์ ซึ่งปีนี้ทางจังหวัดตรัง ทช. จะจัดสรรงบประมาณลงมาทำเรื่องนี้ด้วย รวมถึงทดลองนำหญ้าใบมะกรูดอาหารพะยูนในธรรมชาติมาเพาะขยายพันธุ์ จากนั้นนำไปปลูกในแปลงหญ้าทะเลธรรมชาติหากขยายผลจะบรรเทาภาวะขาดอาหารของพะยูน อีกแนวทางทดลองเพาะพันธุ์หญ้าทะเลในบ่อกุ้งร้าง โดยใช้เหง้าหญ้าทะเลมาปลูก แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ มีตัวแปรหลายด้าน
ส่วน ทช.ดำเนินการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ปลูกหญ้าทะเลในพื้นที่ที่กำหนด รวมถึงทดลองทำแปลงเสริมอาหารพะยูน บริเวณท่าเทียบเรือราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ซึ่งใช้สาหร่ายผมนาง ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง นำมาเป็นอาหารเลียนแบบธรรมชาติให้กับพะยูน ต้องติตตามผลว่าเหมาะกับพฤติกรรมการกินของพะยูนหรือไม่ เพราะพะยูนดุนอาหารกินตามพื้นทราย
ส่วนมาตรการเพื่อปกป้องคุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเล ผอ.มูลนิธิอันดามัน กล่าวว่า ต้องเร่งจัดทำข้อตกลงหรือกติกากับชุมชนในพื้นที่ติดแหล่งหญ้าทะเล เพราะชุมชนชายฝั่งใกล้ชิดกับทรัพยากร ทำงานร่วมกับกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเล สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับชุมชนในพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลอีกด้วย รวมถึงผู้ประกอบการเดินเรือ กลุ่มนักท่องเที่ยวเรือเจ็ทสกีให้ช่วยกันระมัดระวังขณะเดินเรือ หรือทำกิจกรรมทางทะเล ให้ชะลอความเร็วหากเข้าใกล้ฝั่ง รวมถึงเขตพื้นที่คุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเล
อีกทั้งเน้นย้ำชาวประมงช่วยดูแลและเฝ้าระวัง หมั่นตรวจเช็คเครื่องมือประมงขณะทำประมงอย่างต่อเนื่อง งดใช้เครื่องมืออวนขนาดใหญ่ และหลีกเลี่ยงการทำประมงบริเวณแหล่งหญ้าทะเลหรือพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูน ป้องกันไม่ให้พะยูนติดอวนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตลอดจนงดเว้นการเดินเรือผ่านแหล่งหญ้าทะเล หรือหากจำเป็นต้องใช้เส้นทาง ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 3 น๊อต แต่ละพื้นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาตรการให้ครอบคลุม ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างจัดทำมาตรการให้ครอบคลุมบริเวณอ่าวพังงา รวมถึงมาตรการควบคุมกิจกรรมท่องเที่ยวไม่ให้กระทบพะยูน
“ ขณะนี้พะยูนลดจำนวนลง อาจจะเพียงพอกับแหล่งหญ้าทะเลที่มีอยู่ สุดท้ายเราต้องทำใจ ประชากรพะยูนจะลดลง โดยเราเร่งฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลให้สำเร็จ หากทำได้ พะยูน 50-60 ตัวที่เหลืออยู่ มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ประชากรจะเพิ่มขึ้นในธรรมชาติ ซึ่งต้องทำควบคู่มาตรการปกป้องคุ้มครองพะยูนด้านอื่นๆ อาจจะมีความหวังว่าฝูงพะยูนจะกลับมา เมื่อก่อนเรามีปัญหาเครื่องมือประมง เรือชน เมื่อแก้ได้ ประชากรพะยูนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อัตราตายลดลงต่อเนื่อง แต่จากวิกฤตหญ้าทะเล ทำให้เหลือพะยูนฝูงสุดท้าย เราต้องระดมพลังช่วยกันกอบกู้สถานการณ์จากทุกภาคส่วน “ ภาคภูมิกล่าวถึงทางรอดและอนาคตของพะยูนไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ ติดตามศูนย์เฝ้าระวังพะยูน ตรวจอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ผลงานยุคทักษิณ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แวะจังหวัดพังงา ติดตามศูนย์เฝ้าระวังพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ที่หาดบางขวัญ ตำบลโคกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งในพื้นที่นี้ยังมีพะยูนอยู่โดยมีชื่อว่า
'หลุยส์' ดำเนินรายการเต็มตัว 'Kids พิทักษ์โลก' หนุนเด็กรักษ์สิ่งแวดล้อม
ช่อง 7HD รุกเปิดพื้นที่เพื่อเด็กและเยาวชน ส่งช่วงใหม่ "Kids พิทักษ์โลก" ดึง "หลุยส์ เฮส" ที่เพิ่งขึ้นแท่น Brand Ambassador ของมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม พลิกบทบาทมาเป็นผู้ดำเนินรายการเต็มตัวครั้งแรก ลงจอทุกวันจันทร์ ทางรายการ สนามข่าว 7 สี ตั้งแต่เวลา 07.30 น.
สถานการณ์ทางทะเลที่ต้องจับตา ขยับเศรษฐกิจสีน้ำเงินลดทำลาย
สถานการณ์ทางทะเลของประเทศไทยขณะนี้หลายปัญหามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทั้งสัตว์ทะเลหายากเสี่ยงสูญพันธุ์จากกิจกรรมมนุษย์และสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ล่าสุดกรณีพะยูนตายมากถึง 5 ตัวภายในเดือนพฤศจิกายนนี้เพียงเดือนเดียว
ดร.ธรณ์ ชี้โลกร้อนฆ่าพะยูน ตายเฉลี่ยเดือนละ 3.75 ตัว แนะไทยควรพูดใน COP29
ในอดีตพะยูนตายเฉลี่ยเดือนละ 1 ตัว ปัจจุบัน (2566-67) พะยูนตายเฉลี่ยเดือนละ 3.75 ตัว
เก็บขยะศึกษาแหล่งที่มาในทะเล ปลุกความรับผิดชอบผู้ผลิต
กรม ทช. เก็บตัวอย่างขยะทะเลและศึกษาปริมาณขยะบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อตรวจสอบบาร์โค้ดเป้าหมายเพื่อให้ผู้ผลิตตระหนักถึงพลาสติกและขยะที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม และหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือย่อยสลายได้
พบพะยูนตายกลางทะเล มีร่องรอยโดนทำร้าย ถอดเขี้ยวออก
เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ตรัง) และชาวบ้านช่วยกันนำซากพะยูนขึ้นฝั่ง ที่บริเวณ