เด็กเล็กต่ำกว่า 5 ขวบในเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก โดนมลพิษอากาศคร่าชีวิต 100 คน/วัน

 

ในขณะที่กรุงเทพฯ กำลังเผชิญกับมลพิษทางอากาศในระดับที่เป็นอันตราย ส่งผลให้โรงเรียนหลายแห่งต้องหยุดและเกิดความกังวลด้านสุขภาพเป็นวงกว้าง การวิเคราะห์ล่าสุดของยูนิเซฟเผยให้เห็นถึงผลกระทบอันเลวร้ายของมลพิษทางอากาศต่อเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งมักรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง หรือตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนเมษายน โดยมีความเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 100 คนในแต่ละวัน

การวิเคราะห์เผยให้เห็นว่าเด็กทุกคนในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก หรือประมาณ 500 ล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศที่มลพิษทางอากาศอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มีความเชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศในครัวเรือนจากการใช้เชื้อเพลิงแข็งในการหุงต้มและให้ความร้อน

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มีเด็ก 325 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยต่อปีสูงกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง 5 เท่า และเด็ก 373 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่มีระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ในระดับที่เป็นอันตราย นอกจากนี้ เด็กร้อยละ 91 หรือประมาณ 453 ล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศที่มลพิษจากโอโซนเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

ในประเทศที่มีระดับฝุ่น PM2.5 สูงสุด มักเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เชื้อเพลิงชีวมวล และของเสียทางการเกษตร ซึ่งไม่เพียงก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศเท่านั้น แต่ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

จูน คุนูกิ ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า ทุกลมหายใจคือชีวิต แต่สำหรับเด็กจำนวนมาก ลมหายใจอาจนำมาซึ่งอันตราย ในช่วงเวลาที่ร่างกายและสมองของเด็กกำลังพัฒนา อากาศที่พวกเขาหายใจเข้าไปกลับเต็มไปด้วยมลพิษในระดับที่เป็นอันตราย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ทำลายปอด และบั่นทอนพัฒนาการทางสติปัญญา

ผอ.ยูนิเซฟ เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฯ กล่าวว่า เด็กเกือบ 1 ใน 4 ของอายุต่ำกว่าห้าปีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ โดยมลพิษทางอากาศสามารถส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักแรกเกิดต่ำ เมื่อเติบโตขึ้น เด็กยังมีโอกาสเป็นโรคหอบหืด ปอดถูกทำลาย และมีพัฒนาการล่าช้า  ในขณะเดียวกัน เด็กจากครอบครัวยากจนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงานหรือทางหลวง ซึ่งมีระดับมลพิษสูง ยิ่งเสี่ยงต่ออันตรายนี้มากขึ้น นอกจากนี้ การสัมผัสมลพิษทางอากาศเป็นเวลานานยังเพิ่มโอกาสเกิดโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและอนาคตของเด็กในระยะยาว

"มลพิษทางอากาศไม่ได้กระทบต่อสุขภาพของเด็กเท่านั้น แต่ยังเพิ่มภาระให้ระบบสาธารณสุขที่มีภาระหนักอยู่แล้ว เพิ่มค่าใช้จ่าย และส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และศักยภาพของเด็ก การขาดเรียนเนื่องจากการเจ็บป่วย การพัฒนาสมองที่ไม่เต็มที่ และความเสี่ยงต่อการปิดโรงเรียนล้วนจำกัดศักยภาพของเด็ก ในขณะที่ผู้ปกครองที่ต้องดูแลบุตรที่เจ็บป่วยอาจต้องสูญเสียรายได้"

ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจ คาดการณ์ว่ามีก็รุนแรงด้วยเช่นกัน โดยธนาคารโลกประมาณการว่าในปี 2562 มลพิษจากฝุ่น PM2.5 ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและความเจ็บป่วย คิดเป็นความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกถึงร้อยละ 9.3 ของ GDP หรือมากกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด ยูนิเซฟเรียกร้องให้รัฐบาล ภาคธุรกิจ ภาคสาธารณสุข ผู้ปกครอง และนักการศึกษา ลงมืออย่างเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อเด็กในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยเฉพาะในด้านต่อไปนี้

รัฐบาล ต้องเป็นผู้นำในการเสริมสร้างนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ เปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศให้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกเพื่อปกป้องสุขภาพของเด็ก 

ขณะที่ ภาคธุรกิจ ควรนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ ลดการปล่อยมลพิษ และดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสวัสดิภาพของเด็กเป็นลำดับแรก ภาคสาธารณสุข ควรดำเนินมาตรการเพื่อปรับปรุงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผู้ปกครองและนักการศึกษา มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ สนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สะอาดขึ้น และส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

ในปัญหาดังกล่าว  บทบาทยูนิเซฟขณะนี้ ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาล ภาคธุรกิจ ระบบสาธารณสุข และชุมชนทั่วเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เพื่อปกป้องเด็กจากผลกระทบที่ร้ายแรงของมลพิษทางอากาศ โดยมีโครงการสำคัญ คือ   ผลักดันนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างโลกที่สะอาดและยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับเด็ก ดำเนินโครงการลดมลพิษทางอากาศในครัวเรือน เช่น ระบบระบายอากาศแบบปล่องควันและระบบทำความร้อนที่สะอาดขึ้น,ปรับปรุงการติดตามคุณภาพอากาศและการรายงานผล ด้วยโครงการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดมลพิษที่มีต้นทุนต่ำ, เสริมสร้างระบบสาธารณสุข เพื่อรับมือกับโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ และลงทุนในระบบจัดการขยะทางการแพทย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม,ทำงานร่วมกับชุมชนและส่งเสริมบทบาทของเยาวชนในฐานะนักรณรงค์เพื่ออากาศสะอาด โดยช่วยสร้างความตระหนัก ตรวจสอบคุณภาพอากาศ และผลักดันนโยบายที่เข้มแข็งขึ้น

“การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจะช่วยยกระดับสุขภาพ การศึกษา และคุณภาพชีวิตของเด็กอย่างมหาศาล และจะส่งผลดีต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม” ผอ.ยูนิเซฟฯ กล่าวย้ำพร้อมกับบอกอีกว่า “เรามีแนวทางแก้ไขอยู่แล้ว และอนาคตร่วมกันของเราขึ้นอยู่กับการนำแนวทางเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“สมศักดิ์” มอบ สสส.ให้ความรู้วงกว้าง ห่วงคนไทยเป็นโรคร้ายจากค่าฝุ่น PM 2.5 เผยตัวเลขป่วยด้วยมลพิษทางอากาศสูง 12 ล้านคน เฉพาะเด็กรักษารายวันเฉลี่ย 2,760 ราย

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 1/2568 ว่า ที่ประชุมรับทราบแผนการดำเนินงานการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ของ สสส.

'หมอยง' เปิดข้อมูลไข้หวัด hMPV ระบาดในไทย เทียบกับปีก่อน

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

หมอยง เตือนการระบาดโรคทางเดินหายใจ ไวรัส hMPV ในเด็ก แนะวิธีดูแล

อาการของไวรัสนี้ไม่แตกต่างกับไวรัสตัวอื่น ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจพบได้ ตั้งแต่ ไม่มีอาการ อาการน้อย จนถึงอาการมากลงปอด พบได้ทุกอายุ แต่พบได้มากในเด็ก

รัฐบาลเตือนระวัง 'เชื้อโนโรไวรัส' พบระบาดง่ายกลุ่มเด็กนักเรียน

นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลห่วงสุขภาพประชาชน เตือนช่วงหน้าหนาว เนื่องด้วยสภาพอากาศที่มีความชื้นและเย็น เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของโรคบางชนิด